ป.ป.ช.ขีดเส้น ประยุทธ์-เศรษฐา ยื่นบัญชีทรัพย์สิน 4 พ.ย.66

ป.ป.ช.ขีดเส้น ประยุทธ์-เศรษฐา ยื่นบัญชีทรัพย์สิน 4 พ.ย.66

ป.ป.ช.เปิดไทม์ไลน์ ยื่นบัญชีทรัพย์สิน-หนี้สิน รัฐบาลช่วงเปลี่ยนผ่าน รัฐบาลประยุทธ์-รัฐบาลเศรษฐา ภายใน 60 วัน หรือ ไม่เกินวันที่ 4 พ.ย.66

วันที่ 15 กันยายน 2566 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 102 ได้กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าพนักงานของรัฐต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 กำหนดให้ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่ง ภายใน 60 วัน นับถัดจากวันเข้ารับตำแหน่งหรือวันพ้นจากตำแหน่ง โดยสำหรับนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี การยื่นบัญชีกรณีเข้ารับตำแหน่งให้ถือวันถวายสัตย์ปฏิญาณฯ เป็นวันเข้ารับตำแหน่ง และการยื่นบัญชีกรณีพ้นจากตำแหน่ง ให้ถือวันที่คณะรัฐมนตรีคณะใหม่ถวายสัตย์ฯ เป็นวันพ้นจากตำแหน่ง

นายนิวัติไชยกล่าวว่า กรณีการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกรณีเปลี่ยนผ่านรัฐบาลว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ในรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณฯ เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงส่งผลให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ สำนักงาน ป.ป.ช. จึงขอชี้แจงรายละเอียดการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินพร้อมเอกสารประกอบของคณะรัฐมนตรีทั้งสองคณะ ดังนี้

กรณีที่ 1 นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินพร้อมเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีพ้นจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 โดยมีระยะเวลาในการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินภายใน 60 วัน ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 ทั้งนี้ หากไม่สามารถยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินได้ทันภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว สามารถยื่นคำขอขยายระยะเวลาการยื่นบัญชีได้ไม่เกิน 30 วัน โดยต้องยื่นคำขอดังกล่าวภายในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2566

กรณีที่ 2 นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน

มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินพร้อมเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 โดยมีระยะเวลาในการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินภายใน 60 วัน ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 ทั้งนี้ หากไม่สามารถยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินได้ทันภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว สามารถยื่นคำขอขยายระยะเวลาการยื่นบัญชีได้ไม่เกิน 30 วัน โดยต้องยื่นคำขอดังกล่าวภายในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2566
นายนิวัติไชยกล่าวว่า

โดยหากมีรัฐมนตรีในรัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ภายใน 30 วันหลังพ้นจากตำแหน่ง ได้รับการยกเว้นไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินกรณีพ้นจากตำแหน่ง และกรณีเข้ารับตำแหน่งใหม่ แต่ไม่ต้องห้ามที่จะยื่นไว้เป็นหลักฐาน หรือกรณีดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่ง ได้รับการยกเว้นไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินกรณีเข้ารับตำแหน่งใหม่ แต่ไม่ต้องห้ามที่จะยื่นไว้เป็นหลักฐาน

นายนิวัติไชยกล่าวว่า กรณีพ้นจากตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีพ้นจากตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ตามมาตรา 102 (9) และต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินกรณี เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี ตามมาตรา 102 (1)

ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ขอเชิญชวนให้ผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ยื่นผ่านระบบออนไลน์ทางเว็บไซต์ https://asset.nacc.go.th./ods-app เนื่องจากสามารถจัดเก็บและบริหารข้อมูลส่วนบุคคลตลอดจนรายการทรัพย์สินได้ง่าย ข้อมูลไม่สูญหายและสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลในการยื่นบัญชีครั้งถัดไปได้ อีกทั้งยังช่วยประหยัดเวลา ลดภาระในการเดินทาง และสะดวกรวดเร็ว มีความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้งานเพราะมีขั้นตอนยืนยันตัวตนอีกด้วย