ภูมิธรรม คาดใช้งบฯหย่อนประชามติบัตร 5-8 พันล้าน มีรัฐธรรมนูญใน 4 ปี

ภูมิธรรม เวชยชัย

ภูมิธรรม ตั้งบอร์ด ศึกษาประชามติก่อนแก้รัฐธรรมนูญ 35 คน คิกออฟนัดแรก 10 ตุลาคม หวังทำประชามติแค่ 2 ครั้ง ใช้งบฯ 5-8 พันล้านบาท

วันที่ 3 ตุลาคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า หลังจากนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ตนสรรหาบุคคลร่วมเป็นกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น

ตนใช้เวลา 2 สัปดาห์ในการเชิญบุคคลเข้าร่วมคณะกรรมการดังกล่าว ซึ่งได้จำนวน 35 คน และในวันที่ 3 ตุลาคม นำเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาและได้ลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 256/2566 แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

สำหรับการประชุมนัดแรกของคณะกรรมการชุดนี้จะมีขึ้นในวันที่ 10 ตุลาคมนี้ เวลา 15.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อวางกรอบทำงาน และพบปะพูดคุยกับทุกภาคส่วน โดยภายใน 3-4 เดือน น่าจะได้ข้อสรุปกระบวนการทำงาน ทั้งวิธีการ และแนวทางในการทำประชามติต่อไป ทั้งนี้คาดว่า จะเริ่มทำประชามติได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2567

นายภูมิธรรมกล่าวอีกว่า ส่วนการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังยึดหลักการว่าต้องไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 รวมถึงต้องทำให้รัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และจะดำเนินการให้เสร็จภายในเวลา 3-4 ปี ที่เป็นรัฐบาล รวมทั้งทำกฎหมายลูกให้เสร็จพร้อมกัน แม้รายชื่อกรรมการดังกล่าวทั้ง 35 คนนี้ ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด

แต่หลังจากนี้จะมอบคณะกรรมการแต่ละคน ไปประชุมร่วมกับตัวแทนกลุ่มวิชาชีพ เพื่อให้เกิดความครอบคลุมมากที่สุด โดยจะเชิญตัวแทนองค์การมหาวิทยาลัยต่าง ๆ กลุ่มเกษตรกร สมาคมวิชาชีพสื่อและจะเชิญตัวแทนพรรคขนาดเล็ก มาพูดคุยภายหลัง

“ยืนยันเราเปิดรับฟังทุกอย่าง ยกเว้นแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 และอยากให้แต่ละฝ่ายเสนอความเห็นมากที่สุด และจะต้องทำให้เสร็จ ภายในเวลา 3-4 ปี และพยายามทำให้เสร็จเร็วที่สุด โดยการทำประชามติจะยึดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญต้องผ่านความเห็นชอบด้วย” นายภูมิธรรมกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีตัวแทนพรรคก้าวไกล (ก.ก.) มาร่วมหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ได้เชิญแล้ว และจะมีเวทีไปรับฟังความเห็น ใน 3 ประเด็นคำถาม คือ

1.กระบวนการแก้ไขและจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรทำแบบใด เช่น ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือไม่

2.หากมีกระบวนการจัดทำประชามติ เพื่อจัดทำธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องทำประชามติกี่ครั้ง เพื่อลดงบประมาณในการดำเนินการ ยกตัวอย่าง ถ้าดูเร็ว ๆ อาจทำ 4-5 ครั้ง แต่หากปรับให้เหลือทำ 2 ครั้ง จะใช้งบฯ 5,000-8,000 ล้านบาท ซึ่งลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ

3.คำถามในการทำประชามติครั้งแรก ควรจะเป็นอย่างไร จะให้ครอบคลุมแค่ไหน

เมื่อถามว่าการทำประชามติครั้งแรก จะได้ข้อสรุปเมื่อใด นายภูมิธรรมกล่าวว่า ต้องดูที่สถานการณ์ เพราะสถานการณ์เปลี่ยน ในขณะที่เราพยายามสลายความขัดแย้ง ให้สังคมยอมรับไม่เกิดความขัดแย้งใหม่

ผู้สื่อข่าวถามว่า การศึกษาของไอลอว์ ที่เคยยื่นกับพรรคเพื่อไทย จะนำมาปรับใช้ด้วยหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ตั้งใจเชิญไอลอว์เข้าร่วม แต่เมื่อเขาไม่อยากมาเป็นตัวแทนแสตมป์รับรองให้ โดยจะขอดูอยู่ภายนอกเราก็ยอมรับ และไม่ขัดข้อง ส่วนเอกสารที่ยื่นมานั้นจะนำไปพิจารณาต่อไป

เมื่อถามว่า จะเขียนป้องกันไม่ให้รัฐธรรมนูญฉบับที่จะแก้ไขถูกฉีกได้อย่างไร นายภูมิธรรมกล่าวว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญทุกฉบับพยายามป้องกันไม่ให้ถูกฉีก แต่การถูกฉีดหรือไม่นั้น เป็นวัฒนธรรมการเมืองที่ให้ประชาชนตื่นตัวรับรู้ เพราะการเกิดรัฐประหาร คนส่วนใหญ่ไม่ต้องการเห็น

เมื่อรัฐประหาร จะทำให้กลไกอำนาจต่าง ๆ ไปรวมศูนย์ และไม่สร้างประโยชน์เท่าที่ควร โดยการรัฐประหารครั้งล่าสุดนำประเทศไปสู่ความล้มเหลว จึงต้องสร้างระบอบประชาธิปไตย ให้ประชาชนมีส่วนร่วมและมีสำนึกมากขึ้น เพราะจะทำให้การรัฐประหารเกิดขึ้นได้ยาก

เปิดรายชื่อ 35 กรรมการศึกษาประชามติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อคณะกรรมการทั้ง 35 คน ประกอบด้วย

1.นายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธาน
2.นายชูศักดิ์ ศิรินิล จากพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นรองประธาน คนที่ 1
3.นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นรองประธาน คนที่ 2
4.นายนิกร จำนง จากพรรคชาติไทยพัฒนา และเป็นผู้ที่อยู่ในกระบวนการทำรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2540 เป็นกรรมการและโฆษกคณะกรรมการ
5.พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม

6.นายพิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี
7.พล.อ.ชัชวาลย์ ขำเกษม อดีตเจ้ากรมเสมียนตรา
8.นายยุทธพร อิสรชัย
9.นายไพบูลย์ นิติตะวัน จากพรรคพลังประชารัฐ
10.นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย

11.นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา
12.นายประวิช รัตนเพียร อดีต กกต.
13.นายนพดล ปัทมะ
14.พล.ต.อ.สุเทพ เดชรักษา อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
15.พล.ต.อ.วินัย ทองสอง อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตัวแทนจาก ก.ตร.

16.นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท
17.นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์
18.นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ
19.นายวิรัตน์ วรศสิริน จากพรรคเสรีรวมไทย
20.นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ จากพรรคไทยสร้างไทย

21.นายธนกร วังบุญคงชนะ จากพรรครวมไทยสร้างชาติ
22.นายเดชอิศม์ ขาวทอง จากพรรคประชาธิปัตย์
23.นายศุภชัย ใจสมุทร จากพรรคภูมิใจไทย
24.นายเทวัญ ลิปตพัลลภ จากพรรคชาติพัฒนากล้า
25.นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ

26.นายชาติพงษ์ จีระพันธุ์ อดีตรองอัยการสูงสุด
27.นายชนะโรจน์ เทียนธนะวัฒน์
28.นางสิริพรรณ นกสวน สวัสดี นักวิชาการรัฐศาสตร์
29.นายวัฒนา เตียงกูล
30.นายธงชัย ไวยบุญญา

31.น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ จากพรรคเพื่อไทย
32.ผู้แทนจากพรรคก้าวไกล
33.นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ
34.นายนภดล เภรีฤกษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
35.นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกฯ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ