ครม.อนุมัติ 2,000 ล้าน ปล่อยสินเชื่อ ดึงแรงงานไทยในอิสราเอลคืนถิ่น 

ชัย วัชรงค์

ที่ประชุม ครม.เห็นชอบโครงการสินเชื่อคืนถิ่นแรงงานไทย ปล่อยสินเชื่อรายละ 1.5 แสน ดอกเบี้ยร้อยละ 1 ผ่อนสูงสุด 20 ปี 

วันที่ 31 ตุลาคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุม มีมติเห็นชอบโครงการสินเชื่อคืนถิ่นแรงงานไทยในอิสราเอล และอนุมัติวงเงินงบฯ วงเงินรวม 1,200 ล้านบาท จากงบฯ รายจ่ายประจำปี เพื่อดำเนินโครงการ พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามที่กระทรวงการคลังเสนอเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้แรงงานไทยที่เดินทางกลับไทย มีสภาพคล่องที่เพียงพอในการเริ่มต้นประกอบอาชีพ หรือแบ่งเบาภาระหนี้สิน

ทั้งนี้ โครงการสินเชื่อคืนถิ่นแรงงานไทย (อิสราเอล) มีวัตถุประสงค์เพื่อชำระหนี้กู้ยืมสำหรับการไปทำงานที่อิสราเอลและ/หรือเพื่อลงทุนประกอบอาชีพ โดยข้อมูลจาก กรมการจัดหางาน ณ เดือนกันยายน 2566 มีแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในอิสราเอล 25,887 คน 

โดยเกณฑ์สำหรับการกู้ยืม เป็นผู้ที่ไปทำงานที่อิสราเอล อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ และเมื่อรวมอายุผู้กู้กับระยะเวลาที่ชำระเงินกู้แล้วต้องไม่เกิน 60 ปี (ประมาณ 12,000 ราย) ทั้งนี้ ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (...) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 2,000 ล้านบาท โดยแบ่งกันแห่งละ 1,000 ล้านบาท

โดยปล่อยสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 150,000 บาท ลูกค้ารับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี/ระยะเวลาชำระเงินคืนงวดสูงสุดไม่เกิน 20 ปี ปลอดชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 12 งวดแรก ระยะเวลาการยื่นขอสินเชื่อ ตั้งแต่วันที่ ครม.มีมติ คือ 31 ตุลาคม 2566-30 มิถุนายน 2567 หรือจนกว่าจะครบวงเงินโครงการ

โดยงบประมาณรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1,200 ล้านบาท ซึ่งมาจาก ชดเชยดอกเบี้ย 2% ของยอดเงิน 2,000 ล้าน เป็นเวลา 20 ปี ปีละ 40 ล้าน รวม 20 ปี เป็นเงิน 800 ล้าน ส่วนอีก 400 ล้านเป็นการตั้งเผื่อ NPL 20% ของยอดเงินกู้ 2,000 ล้าน เท่ากับ 400 ล้านบาท

นายชัยกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เสนอที่ประชุม ครม.เป็นกรณีพิเศษ เงินเยียวยาให้กับคนที่เดินทางกลับมา 15,000 บาทนั้นไม่เพียงพอ จึงเสนอในที่ประชุมขออนุมัติงบฯกลางเพิ่มให้อีกคนละ 50,000 บาท นายกรัฐมนตรีรับปากและจะให้กับแรงงานมีผลย้อนหลังให้กับทุกคน

ซึ่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้บอกว่า เพื่อให้เกิดความถูกต้อง ให้กระทรวงแรงงานเสนอเข้ามาเพื่ออนุมัติ นอกจากนี้รัฐมนตรีแรงงาน จะขอให้พักชำระหนี้ทั้งต้นและดอกเบี้ย แรงงานไทยที่เป็นหนี้ กับสถาบันการเงิน ในวงเงิน 150,000 บาท ซึ่งจะเข้าสู่คณะรัฐมนตรีในรอบหน้า ทั้งการขอเงินเพิ่ม 50,000 บาทและพักชำระหนี้ 150,000 บาท