เกมชี้ชะตาแจกเงิน 10,000 บาท สัญญาณการเมือง 6 พรรคร่วมรัฐบาล

เศรษฐา ทวีสิน

นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท กลายเป็น “เดิมพัน” ครั้งสำคัญของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน

เมื่อรัฐบาลตัดสินใจออกกฎหมาย “กู้เงิน” 5 แสนล้าน เพื่อนำมาดำเนินการโครงการ

ขั้นตอนสำคัญอันดับแรก เมื่อการกู้เงินผ่านการออกกฎหมาย จะต้องผ่านการให้ความเห็นของ “คณะกรรมการกฤษฎีกา” ในฐานะที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล ก่อนจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่ออนุมัติให้ความเห็นชอบ แล้วจึงส่งไปสู่กระบวนการของสภาผู้แทนราษฎร

อาจกล่าวได้ว่า ขั้นตอนที่น่ากลัวที่สุดคือ “ด่าน” พิจารณากฎหมายในสภา แม้ว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะมี “เสียงข้างมาก” 314 เสียง ในสภาผู้แทนราษฎร แบ่งเป็น

กลุ่มพรรคใหญ่ พรรคหลัก ในรัฐบาล ประกอบด้วย

Advertisment

พรรคเพื่อไทย 141 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทย 71 ที่นั่ง พรรคพลังประชารัฐ 40 ที่นั่ง พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 ที่นั่ง พรรคชาติไทยพัฒนา 10 ที่นั่ง พรรคประชาชาติ 9 ที่นั่ง

พรรคอื่น ๆ อีก 5 พรรค ได้แก่ พรรคชาติพัฒนากล้า 2 ที่นั่ง พรรคเพื่อไทยรวมพลัง 2 ที่นั่ง​ พรรคเสรีรวมไทย 1 ที่นั่ง​ พรรคท้องที่ไทย 1 ที่นั่ง​ พรรคพลังสังคมใหม่ 1 ที่นั่ง รวม 314 เสียง (นับเฉพาะตอนจัดตั้งรัฐบาล โดยยังไม่นับพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะกลุ่มอำนาจใหม่ 16 เสียงที่เคยโหวตให้นายกฯ จากพรรคเพื่อไทย ที่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องจุดยืนเป็นฝ่ายค้าน-รัฐบาล เพราะยังไม่มีหัวหน้าพรรคคนใหม่)

แต่ทว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นพรรคที่มีเสียงข้างมากแบบเด็ดขาด เหมือนยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่พรรคเพื่อไทยได้เสียงข้างมากที่สุดในสภาแบบ “เกินครึ่ง” 256 เสียง แล้วมาประกอบกับพรรคร่วมรัฐบาล อีก 6 พรรค 44 เสียง รวมเป็น 300 เสียง

คือพรรคชาติไทยพัฒนา 19 เสียง พรรคชาติพัฒนา 7 เสียง พรรคพลังชล 7 เสียง พรรคมหาชน 1 เสียง และพรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 เสียง

Advertisment

กลับกัน ในปัจจุบันนี้ พรรคร่วมรัฐบาลมีกำลังเสียงรวมกันถึง 173 เสียง มากกว่าพรรคเพื่อไทย ที่มี 151 เสียง

ดังนั้น เกมในสภาที่จะไว้ตัดสินชะตากรรม “แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท” จึงสำคัญยิ่ง

ท่าทีล่าสุดของพรรคร่วมรัฐบาลต่อตรากฎหมายกู้เงิน 5 แสนล้านบาท ยังดูคลุมเครือ

“อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ไม่มีใครจะมัดมือชก หากเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ประชาชน เป็นไปตามนโยบายและ “ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ” พรรคร่วมมีหน้าที่สนับสนุน

“ตอนนี้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล จะคิดเป็นพรรคปัจเจกไม่ได้ ถือเป็นผลงานรัฐบาล เพราะต้องใช้เสียง 320 เสียง ถือเป็นผลงานทุกพรรคอยู่แล้ว”

“เราต้องดูว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะมีความเห็นอย่างไร ทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอน มั่นใจว่าต้องทำตามขั้นตอนที่ถูกต้อง ถ้าไม่ถูกต้องก็ต้องหาวิธี หาหนทางใหม่ที่จะทำ แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงจุดนั้น เราก็ยังไม่ต้องไปพูดถึง”

“หากผ่านไปถึงสภาได้แสดงว่า โดยพื้นฐานทุกอย่างต้องถูกต้องแล้ว เพราะต้องผ่านหน่วยราชการ ธนาคารแห่งประเทศไทย แม้แต่กระทรวงมหาดไทยก็มีความเห็น ก่อนนำเข้า ครม. และเป็น พ.ร.บ.การเงินด้วย”

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวสั้น ๆ ว่า “ยังไม่รู้เหมือนกัน แล้วแต่หัวหน้าพรรค”

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลต้องทำตามนโยบายรัฐบาล แต่ต้องดูแลไม่ให้เกิดปัญหา หรือผลกระทบที่สังคมเป็นห่วง ซึ่งเชื่อว่านายกฯ เองก็ดูเรื่องเหล่านี้อยู่

“จะถูกต้องหรือไม่ต้องดูกฎหมายอื่นเกี่ยวข้องด้วย เช่นเรื่องวินัยการเงินการคลังซึ่งมีเจ้าหน้าที่ดูอยู่ ซึ่งการจะออกกฎหมายอะไรคณะกรรมการกฤษฎีกาจะดูให้รอบคอบ”

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนากล่าวว่า ทราบมาจากหลายฝ่าย ว่าเป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการได้ นายกฯ ได้พูดถึงแนวทางในการดำเนินการ ซึ่งต้องขอความเห็นจากกฤษฎีกา รวมถึงกลไกของรัฐสภา

คิดว่าทางที่ดีที่สุดให้รอความเห็นจากกฤษฎีกาก่อน ซึ่งเป็นความเห็นจากฝ่ายกฎหมายโดยตรง ขอฟังความเห็นจากกฤษฎีกาก่อน หลังจากนั้นจะเป็นไปตามขั้นตอนของสภา ในการเปิดโอกาสให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ดำเนินการ แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอนที่รัฐบาลได้วางไว้

เท่าที่ฟังมาจากหลาย ๆ ฝ่าย มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ฝ่ายที่เห็นด้วยยังยืนยันว่าทำได้ ดำเนินการได้ตามแนวทางที่วางไว้ อย่างที่ทราบกันดีว่าการดำเนินการของโครงการนี้ต้องผ่านกฤษฎีกาเสียก่อน จึงคิดว่าให้เกียรติกฤษฎีกา รอฟังความเห็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย แล้วค่อยมาตีความแบบนี้จะเป็นประโยชน์

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และหัวหน้าพรรคประชาชาติกล่าวว่า โครงการดิจิทัล วอลเลตเป็นเรื่องของพรรคร่วมรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายไป

รัฐบาลแถลงนโยบายนี้ต่อรัฐสภาตามขั้นตอน ตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ จึงไม่ได้กังวลเรื่องผิดกฎหมาย เพียงแต่มีความกังวลเรื่องความรู้สึกของคน เพราะบางคนอาจมองแต่มิติเดียว แต่ไม่ได้มองถึงความสำคัญของประชาชนผู้มีรายได้น้อย ประชาชนทั้งประเทศ เพราะจริง ๆ เป็นภาษีของประชาชน ที่ผ่านมาสวัสดิการบางอย่างกระจุกอยู่แต่ในเมืองหลวง ไม่ไปถึงคนทั้งประเทศ

ท้ายที่สุด หากนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเลตถูกโต้แย้งทางการเมือง ทางกฎหมาย และทางมวลชน

เสียงของพรรคร่วมรัฐบาลจะมีอำนาจต่อรองสูง ชี้วัดว่าเงินดิจิทัลแท้ง-ไม่แท้ง