เศรษฐา ตอบ ไม่รู้ หลังกฤษฎีกาทวง หนังสือตีความกู้เงิน 5 แสนล้าน จากคลัง 

นายเศรษฐา ทวีสิน
ภาพจาก THAIGOV

เศรษฐา ยังไม่รู้ ปม เลขาฯ กฤษฎีกา ทวงหนังสือขอความเห็นเงินกู้ 5 แสนล้าน จาก รมว.คลัง

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์กรณีนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่ายังไม่ได้รับหนังสือสอบถามความเห็นเรื่องการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทจากรัฐบาล ว่า ยังไม่ทราบ ยังไม่คุยเรื่องนี้ ตนปล่อยให้เขาทำงานกันไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯ จะต้องไปจี้ และไปติดตามหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนก็จี้ติดตามทุกเรื่อง

เมื่อถามว่า นายปกรณ์ ระบุว่าขณะนี้เหมือนถูกด่าฟรี นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ผมไม่เห็นใครมีใครไปโทษ จะใช้คำว่าด่าได้อย่างไร เลขากฤษฎีกาและทุกคนก็ทำงานกัน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์ว่า ได้สอบถามนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการิจิทัลวอลเล็ต ว่าขณะนี้ดำเนินการไปถึงไหนแล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทางกระทรวงการคลังระบุว่า ส่งเรื่องดังกล่าวถึงสำนักงานคระกรรมการกฤษฎีกา เพื่อสอบถามว่าสามารถดำเนินการกู้เงินได้หรือไม่ ซึ่งได้รับคำตอบจากทางนายจุลพันธ์ว่า กำลังดูอยู่

นายปกรณ์ กล่าวว่า ขออธิบายขั้นตอนเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันว่า เมื่อคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ มีมติให้กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการ ถามมาที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หากพบเงื่อนไขจะสามารถกู้ได้หรือไม่เท่านั้น โดยมติมีเพียงแค่นั้น ยังไม่ได้ไปถึงขั้นตอนการยกร่างกฎหมาย

ขอย้ำว่าเป็นการให้ถามคำถามเท่านั้น เมื่อส่งคำถามมาแล้วจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามปกติโดยไม่มีการตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษแต่อย่างใด ทุกอย่างเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา ถ้าเข้าเงื่อนไขก็สามารถทำได้ ถ้าไม่เข้าเงื่อนไขก็ทำไม่ได้ คำตอบมีเพียงเท่านั้น หากสามารถทำได้ก็จะเป็นการยกร่างกฎหมายอีกขั้นตอนหนึ่ง

“เมื่อเช้าผมทวงถามจากรัฐมนตรีเรื่องนี้ เพราะผมถูกด่าว่าทำงานช้า ทั้งที่เรื่องยังไม่ส่งมาถึงผม ทางสภาพัฒน์ก็รอ เพราะนึกว่าเรื่องได้ส่งมาที่ผมแล้ว ทุกคนคิดแบบนี้ แต่ปรากฏว่านักข่าวรู้มากกว่าผมอีก” นายปกรณ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า สภาพัฒน์ฯบอกว่าถ้าคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ความเห็นมาว่า ถ้าครม.ไปต่อทางนี้ไม่ได้อาจมีทางอื่นหรือไม่ นายปกรณ์กล่าวว่า ไม่รู้ เป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องคิด ไม่ใช่เรื่องของตน และคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้คำแนะนำไม่ได้เพราะไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นนักกฎหมาย

โดยกฎหมายที่จะนำมาพิจารณาประกอบพิจารณามีทั้งรัฐธรรมนูญ เรื่องการจ่ายเงินแผ่นดิน และยังมีกฎหมายหลายฉบับประกอบ เช่น กฎหมายงบประมาณ กฎหมายการเงินการคลัง กฎหมายหนี้สาธารณะ พ.ร.บ.เงินตรา จึงไม่สามารถตอบแทนได้ว่าวิกฤตหรือไม่วิกฤต

เมื่อถามว่ารัฐบาลฝากความหวังไว้ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ถ้าวิธีออกพ.ร.บ.กู้เงิน ไม่ได้ จะใช้ช่องทางใดได้บ้าง นายปกรณ์ กล่าวว่า การจะเข้าเงื่อนไขหรือไม่ต้องดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งตนไม่รู้ไม่สามารถตอบแทนได้

เมื่อถามย้ำว่าเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อยากจะขอคำแนะนำจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าจะทำอย่างไรถึงจะเดินหน้าโครงการได้ นายปกรณ์ กล่าวว่า คำถามที่ว่าทำอย่างไรให้ทำได้ ไม่ควรมาถามเพราะไม่ใช่คนกำหนดนโยบาย ก็ไม่ใช่หน้าที่ ย้ำว่าเรื่องวิกฤตหรือไม่วิกฤตไม่ใช่หน้าที่ของกฤษฎีกา แต่เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่จะหาข้อมูลมาสนับสนุน ที่โต้เถียงกันก็ไม่รู้

เมื่อถามกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติรักแผ่นดิน ร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่ารัฐบาลกระทำการขัดรัฐธรรมนูญ นายปกรณ์ กล่าวว่า เรื่องยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น เป็นการไปร้องล่วงหน้าก่อนหรือไม่ก็ไม่ทราบ เพราะคณะกรรมการยังไม่มีมติ