สนามการเมืองใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในการเลือกตั้งปี 2562 กลับมาดุเดือดเข้มข้นเพราะเที่ยวนี้มีทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อไทย
รวมถึงกลุ่มวาดะห์ประกาศแยกตัวกับพรรคเพื่อไทย ประกาศตัวตั้ง “พรรคประชาชาติ”
แต่เป็น “แนวร่วม” พรรคเพื่อไทย เพื่อหาช่องทางกวาดคะแนน ส.ส.เขต+คะแนนบัญชีรายชื่อ เพื่อนำมารวมกับพรรคเพื่อไทยหลังเลือกตั้ง
ต่างหมายมั่นปั้นมือหวังได้คะแนนเสียงคน 3 จังหวัดชายแดนใต้มาให้ได้
ผิดจากอดีตนายทหาร-นักการเมือง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิที่ขอ “พักรบ” ชั่วคราวในสนามเลือกตั้ง 2562 ทั้งที่ “มาตุภูมิ” เปิดตัวอย่างครึกโครมเมื่อปี 2552 กระทั่งมี ส.ส.ในพื้นที่อยู่ 2 เก้าอี้ โดยมี “กลุ่มวาดะห์” เป็นองค์ประกอบหลัก
พล.อ.สนธิ บอกเหตุผลที่ยุติบทบาทชั่วคราวว่า “ในการมองภาพทางการเมืองอนาคตกับอดีต มาผูกกันแล้ว คิดว่าการเมืองบ้านเรายังคงไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก
ที่สำคัญการเลือกตั้งไม่หนีวิธีการเก่า ๆ พรรคไม่ได้มีผู้สนับสนุนพรรค การจะเดินไปข้างหน้าถ้าทำต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ในสภาวะที่รัฐธรรมนูญใหม่ กระบวนการเลือกตั้งแบบใหม่ การจะทำให้พรรคได้คะแนนเหมือนเก่าคงยากมากขึ้น และวิธีการก็ยากมากขึ้น”
“และไม่ได้อยากเป็นนักการเมือง มีเจตนาอยากจะแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มากกว่า และต้องการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คือไทยกับประเทศตะวันออกกลาง ที่คิดว่าพอจะมีความสัมพันธ์ที่เอื้อประโยชน์ต่อประเทศได้ แต่เมื่อเข้าไปแล้วคิดว่าการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ไม่ใช่เรื่องง่ายเกินความสามารถ จึงเป็นหนทางว่าการเมืองคงแก้ปัญหาไม่ได้ ไม่ถึงจุดหมายทางการเมือง ชะลอการทำงานของพรรคให้หยุดไปก่อนว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ดูเลือกตั้งครั้งนี้ การเมืองจะเป็นแบบไหนก็ต้องว่ากัน”
“แต่ผมไม่หมดหวังกับการเมือง พูดหมดหวังไม่ได้ เราดูแล้วว่าไม่สามารถไปทำงานในแนวทางที่ตั้งใจไว้ได้ เราเป็นประชาชนคงเป็นนักการเมืองตลอดไป หลายคนบอกว่าดีแล้วล่ะที่ชะลอการเล่นการเมืองเอาไว้ เพราะการเมืองยังไม่นิ่ง ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ยังไม่มีใครรู้”
เขาจึง “พักรบ” จากผู้เล่น กลายมาเป็นผู้ชมข้างสนามชั่วคราว มองการเมืองแบบตกผลึก
“ผมอยากดูว่าการเลือกตั้งคราวนี้บ่งชี้ประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน และการเลือกตั้งคราวนี้ทำให้ประชาชนมองการเมืองอย่างไร เพราะที่ผ่านมาประชาชนยังมองการเมืองแบบเดิม ๆ คือยังมองนักการเมืองที่จะต้องเป็นตัวแทนแบบที่ตัวเองคุ้นเคย ผูกพันใกล้ชิด ยังไม่นึกถึงคุณภาพของนักการเมืองที่จะต้องมีความรู้ มีอุดมการณ์ มีความกล้า ระบบอุปถัมภ์ของบ้านเราถึงแน่นถึงทุกวันนี้”