ศิริกัญญา อภิปรายงบประมาณ 2567 เงินปริศนา เพื่อไทยโกงสูตร GDP

ศิริกัญญา ตันสกุล
ศิริกัญญา ตันสกุล

ศิริกัญญา ตันสกุล ก้าวไกล อภิปรายงบประมาณ 2567 เย้ยเพื่อไทยโกงสูตรคิด GDP ฝากชีวิตไว้ที่ พ.ร.บ.กู้เงิน ถ้าไม่ผ่านจะเป็นกระตุ้นเศรษฐกิจทิพย์ เย้ยขึ้นชื่อเรื่องหาเงินได้ ใช้เงินเป็น แต่กลับผิดพลาดในการบริหารงบประมาณ

วันที่ 3 มกราคม 2567 ที่รัฐสภา ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า หากเราอยู่ในภาวะวิกฤตจริง ๆ งบประมาณนี้จะเป็นตัวบอกว่าตอนนี้เราอยู่ในภาวะแบบใด และจะจัดสรรงบประมาณแบบใดเพื่อแก้วิกฤต รวมถึงต้องดูประมาณการว่าใช่วิกฤตหรือไม่

หากดูจากรายงานภาวะเศรษฐกิจและการคลัง จะพบว่าเศรษฐกิจในปี 2566 จะโต 2.5% และปี 2567 จะโต 3.2% เงินเฟ้อปี 2566 อยู่ที่ +1.4% ปี 2567 อยู่ที่ +2.2% ดุลบัญชีเดินสะพัดปี 2566 อยู่ที่ +1.4% และปี 2567 อยู่ที่ +1.5% ดูอย่างไรก็ยังไม่วิกฤต

เศรษฐกิจจะวิกฤตถึงปี 70?

แต่กลับไปเจอในเล่มงบประมาณสำหรับประชาชนที่จัดทำโดยสำนักงบประมาณที่มีตัวเลข GDP ที่โต 5.4% นี่เป็นผลการเติบโตของ GDP ที่ไม่รวมผลของเงินเฟ้อ แต่รัฐบาลกลับพยายามโชว์ตัวเลขที่รวมผลของเงินเฟ้อ เท่ากับรัฐบาลกำลังจะบรรลุเป้าหมาย GDP โต 5% ในปีแรกที่เข้ามาบริหารประเทศ โดยการโกงสูตรปรับ GDP เช่นนั้นหรือ ไม่เคยมีประเทศไหนในโลกทำมาก่อน ขอร้องว่าอย่าโกงสูตรเพื่อให้ GDP โต

ปกติในปีที่เกิดวิกฤต เราจะทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้นเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ เพราะต้องมีการกู้เพิ่ม เนื่องจากต้องไปชดเชยรายได้ที่หายไป และใช้เม็ดเงินอีกส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เมื่อดูงบฯขาดดุลปี 2567 ต้องมีการกู้เพื่อชดเชยขาดดุล 3.6% ของ GDP ในขณะที่ GDP บอกจะโต 3.5% แต่เมื่อดูปีถัดไปจะพบว่าขาดดุลเท่ากันทุกปี จนดูไม่ออกว่าปีไหนวิกฤตกันแน่ และเราจะเกิดวิกฤตต่อไปเรื่อย ๆ

จนถึงปี 2570 เลยหรือไม่ ทำไมรัฐบาลจึงประมาณการว่าเราจะขาดดุลสูงถึง 3.4% ไปเรื่อย ๆ ทั้งที่พรรคเพื่อไทย (พท.) เคยประกาศไว้ว่าจะทำงบประมาณให้สมดุลภายใน 7 ปี คือจะไม่กู้เลยสักปี แต่กลับทำงบฯขาดดุลไว้ คือ จะกู้ทุกปี ปีละ 3.4%

ปริศนางบฯดิจิทัลวอลเลต

เมื่อมีวิกฤตก็ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ สิ่งที่เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเรือธงของรัฐบาล คือ ดิจิทัลวอลเลต ทั้งที่เพิ่งประกาศไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ว่ามีแพ็กเกจใหญ่ 6 แสนล้านบาทที่จะทำดิจิทัลวอลเลต โดย 5 แสนล้านบาทให้ 50 ล้านคน และเติมให้กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอีก 1 แสนล้านบาท โดยเอาเงินมาจาก 2 แหล่ง คือ พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท และงบประมาณรายจ่ายอีก 1 แสนล้านบาท

แต่งบฯดิจิทัลวอลเลตกลับไม่ปรากฏเลยสักบาท ส่วนกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ กลับลดกระหน่ำซัมเมอร์เซล จากที่โฆษณาไว้ว่า 1 แสนล้าน กลับลดเหลือเพียง 15,000 ล้านบาทเท่านั้น และเพิ่งเพิ่มมาเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2566 หลังจากปรับปรุงงบฯครั้งที่ 1 แต่ชัดเจนว่ายังคงไม่สามารถหาเงินมาใส่ให้เต็ม 1 แสนล้านบาทได้ ทั้งที่ไปตัดงบประมาณที่ต้องใช้คืนหนี้ ธอส.แล้ว

ตกลงเราจะยังสามารถเชื่ออะไรจากคำพูดของนายกรัฐมนตรีได้อีก สรุปเราจะยังต้องลุ้นว่า พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท จะสามารถออกได้หรือไม่ และเรายังต้องลุ้นพึ่ง พ.ร.บ.เงินกู้อย่างเดียวแล้วใช่หรือไม่ สรุปยอดกู้ตอนนี้ต้องเพิ่มเป็น 585,000 ล้านบาทแล้วหรือไม่ เพื่อทำทั้งดิจิทัลวอลเลต และกองทุนเพิ่มขีดความสามารถตามที่สัญญาเอาไว้ วันนี้เราจะได้ยินจากรัฐบาลและกฤษฎีกาหรือไม่ว่า รัฐบาลจะออก พ.ร.บ.เงินกู้ได้หรือไม่

งบฯกระตุ้นเศรษฐกิจทิพย์

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ตนคิดว่าตอนนี้รัฐบาลกำลังฝากความหวังทั้งหมดไว้ที่ พ.ร.บ.เงินกู้ฉบับนี้ เหมือนกับเอาไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว ดังนั้น มีความเสี่ยงสูงมากหากไม่สามารถออก พ.ร.บ.เงินกู้ฉบับนี้ได้ เท่ากับงบฯกระตุ้นเศรษฐกิจของเรากลายเป็นงบฯกระตุ้นเศรษฐกิจทิพย์

นอกจากนี้ ยังมีงบฯกระตุ้นเศรษฐกิจอีก คือ งบฯกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแก้ไขปัญหาหนี้สิน แบ่งเป็น 3 ด้าน คือ การพักหนี้เกษตรกร สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับ SMEs และมหกรรมแก้หนี้ แต่เมื่อดูเรื่องการพักหนี้เกษตรกรพบว่า ใช้เงินไปแล้ว 11,000 ล้านบาท และไม่ได้ใช้งบฯปี 2567 แต่กลับไปใช้เงินจาก ธ.ก.ส.

ส่วนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับ SMEs เป็นงบฯที่ตั้งไว้ใช้สำหรับใช้หนี้ออมสิน และเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้สินในยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ เราจะเอามาเคลมด้วยใช่หรือไม่ ขณะที่การลดรายจ่ายด้านพลังงาน ที่ผ่านมาลดค่าไฟฟ้าไปยังไม่ได้ควักกระเป๋าจากงบประมาณสักเท่าไหร่ เพิ่งมีใช้งบฯกลางไปประมาณ 1,950 ล้านบาทเท่านั้น

ส่วนราคาน้ำมันไปลดกองทุนน้ำมันฯและภาษีสรรพสามิต แต่รัฐบาลเคลมโครงการลดค่าไฟบัตรคนจนหรือบัตรประชารัฐ ซึ่งโครงการนี้ทำมาตั้งแต่ปี 2565 แล้วจะมากระตุ้นอะไรกันตอนนี้ และยังมีการใส่โครงการติดโซลาร์เซลล์ให้ที่ว่าการอำเภอ บอกจะลดค่าภาระค่าใช้จ่ายได้ แต่นั่นกลับเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายให้รัฐบาลไม่ใช่ประชาชน

นอกจากนี้ ยังมีโครงการตัดถนนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอีก 7,700 ล้านบาท สรุปแล้ววิกฤตเช่นไร เราจึงกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ กระทรวงกลาโหมจะตัดลดงบฯของตนเองลง เพื่อนำไปพยุงเศรษฐกิจของประเทศ แต่วิกฤตของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ครั้งนี้ งบประมาณของกระทรวงกลาโหมกลับเพิ่มขึ้น 2% แม้รัฐบาลปัจจุบันมีเวลารื้องบฯปี 2567 ถึง 2 รอบ

น.ส.ศิริกัญญากล่าวต่อว่า แต่คงต้องเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ง่ายเพราะมีแผนซ้อนแผน ทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ทำให้รัฐบาลไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายของตนเองได้ง่าย และยังมีมรดกของรัฐบาลชุดที่ผ่านมาที่ไม่ยอมปฏิรูปงบประมาณ ทำให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณของตนได้ไม่ถึง 1 ใน 4 เพราะติดประเด็นรายจ่ายบุคลากร, ชำระหนี้ 4 หมื่นล้านบาท, เงินชดใช้เงินคงคลัง 1.1 แสนล้านบาท, งบฯผูกพัน 3.6 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลก่อนหน้าเป็นผู้ดาวน์ และรัฐบาลของนายเศรษฐาต้องผ่อนต่อ” น.ส.ศิริกัญญากล่าว

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า การจัดสรรงบประมาณมีข้อผิดพลาด คือ เพื่อเงินชดใช้เงินคงคลัง 1.2 แสนล้านบาท เพราะ 2 ปีที่ผ่านมาถูกนำมาใช้เพื่อจ่ายในส่วนของรายจ่ายบุคลากร เช่น เงินเดือนบุคลากร บำเหน็จ บำนาญ ค่ารักษาพยาบาล

บริหารงบฯพลาด

ทั้งนี้ ในปี 2567 พบว่ารัฐบาลปัจจุบันกำลังจะทำผิดพลาดซ้ำรอย เช่น เงินบุคลากร ที่ควรตั้งไว้ 3.6 แสนล้านบาท กลับตั้งไว้ 3.3 แสนล้านบาท เงินบำนาญ 6,000 ล้านบาทที่ไม่ตั้งไว้ ซึ่งตนสงสัยในความผิดพลาดดังกล่าวเป็นเพราะความตั้งใจหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ตนเคยถามกรมบัญชีกลางขอไปเพียงพอจะจ่าย แต่การจัดสรรไม่เพียงพอ ถือเป็นความตั้งใจที่ตั้งขาดเพื่อหาเงินชดเชยภายหลัง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ซ้ำ ๆ โดยไม่ตั้งงบประมาณที่เพียงพอ ซอฟต์พาวเวอร์ 5,000 ล้านบาท ไม่พบการตั้งไว้ คงต้องควักจากงบฯกลาง รวมถึงค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายที่ไม่ตั้งชดเชยไว้ สงสัยต้องดึงจากงบฯกลาง ทั้งนี้ งบฯกลางตั้งไว้ 9.8 หมื่นล้านบาท หากพิจารณาแล้วเชื่อว่าจะไม่เพียงพอ ซึ่งการตั้งงบฯขาดดุล ไม่มั่นใจว่าเป็นการสมรู้ร่วมคิดหรือไม่

สำหรับการประมาณการรายได้เชื่อว่าจะคาดการณ์ผิดพลาด และจัดเก็บไม่ตรงตามเป้าหมาย เพราะนายเศรษฐา เคยระบุว่าจะไม่เก็บภาษีขายหุ้น ดังนั้น คำถามคือรายได้จากส่วนดังกล่าวที่กำหนดไว้ 1.4 หมื่นล้านบาทจะหาจากที่ไหน ตนไม่มีปัญหากับสิ่งที่รัฐบาลทำ แต่เชื่อว่าจะกระทบต่อรายได้รัฐ ที่อาจจะหายไป 1 แสนล้านบาท หากรัฐบาลฝากความหวังไว้ที่โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเลต ถือว่าเป็นความผิดพลาดที่ไม่ควรผิดพลาด ดังนั้น ตนขอให้พูดความจริงกับสภา และประชาชน

ทั้งนี้ สำหรับหนี้สาธารณะมีประเด็นที่ต้องกังวล คือ ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่อปี เพราะเป็นช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นที่มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าประมาณการจากกรอบการคลัง ซึ่งภาระดอกเบี้ยต้องเบียดบังงบประมาณแต่ละปี และหนี้ที่จะเกิดขึ้นไม่รวมกับหนี้ดิจิทัลวอลเลต และหนี้ที่ยืมจากรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานรัฐ 1 ล้านล้านบาท โดยเวลาที่รัฐบาลบริหารงานมา 3 เดือนใช้เต็มเพดานแล้ว

“สรุปแล้วร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ดิฉันไม่เห็นอะไรนอกจากเป็นบทพิสูจน์ว่า รัฐบาลนี้ไม่สามารถทำงานได้อย่างเป็นมืออาชีพ นี่หรือคือรัฐบาลที่สืบทอดชื่อเสียงกันมาว่าเก่งด้านเศรษฐกิจ ขึ้นชื่อเรื่องหาเงินได้ ใช้เงินเป็น แต่กลับผิดพลาดในการบริหารงบประมาณมากขนาดนี้ ทั้งตั้งงบฯไว้ไม่เพียงพอ ทั้งจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ประมาณการรายได้ก็ผิดพลาดแบบไม่น่าให้อภัยและไม่คิดที่จะแก้ มุ่งแต่จะใช้กลไกนอกงบประมาณในการบริหารประเทศ ไม่สนใจภาระทางการคลัง ถึงเวลาที่ประชาชนคงต้องคิดใหม่กับฝีมือการบริหารราชการของพรรคเพื่อไทย” น.ส.ศิริกัญญากล่าว