แกะรอย 6 เดือนย้อนหลัง ใครตกเป็นเป้าของนักร้อง ศรีสุวรรณ จรรยา

ศรีสุวรรณ

จากนักร้อง กลายเป็น “ผู้ต้องหา” อาจปิดฉากชายที่ชื่อ “ศรีสุวรรณ จรรยา” ผู้นำองค์กรรักชาติรักแผ่นดิน

ที่ถูกจับกุมในคดีหลังข่มขู่เรียกเงิน 3 ล้านบาท จากอธิบดีกรมการข้าว โดยผู้ต้องหาในคดียังรวมถึง “เจ๋ง ดอกจิก” ประธานกลุ่มรวมใจรักชาติ คณะทำงานเขตราชการที่ 11 และ “พิมณัฏฐา จิระพุทธิภาคย์” อดีตผู้สมัคร สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ

“ศรีสุรรณ” ถูกแจ้งข้อหา สนับสนุนเจ้าพนักงานของรัฐเรียกรับทรัพย์หรือประโยชน์อื่นใด โดยมิชอบ, ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน, ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใด ตามหมายจับ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง

เขาถูกสอบเครียดกว่า 9 ชั่วโมง ก่อนจะได้รับการประกันตัว โดยใช้หลักประกันเป็นเงินจำนวน 4 แสนบาท

ชื่อของ “ศรีสุวรรณ” ในฐานะนายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และนายกสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เริ่มมีบทบาทมากขึ้น ในฐานะ ในช่วงหลังการรัฐประหาร 2557 ที่ “ศรีสุวรรณ” มักหยิบประเด็นทางการเมืองไปร้องเรียนต่อองค์กรอิสระ

ก่อน “ศรีสุวรรณ” กลายเป็นผู้ต้องหา “ประชาชาติธุรกิจ” พาไปย้อนดูคดีสำคัญ ๆ ที่เขาสวมบทนักร้อง (เรียน) การเมือง ใครตกเป็นเป้าของการถูกร้องบ้างในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา

ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-มกราคม ก่อนการถูกจับกุม นับแต่เปลี่ยนรัฐบาล จากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน

ร้อง เศรษฐา-เพื่อไทย

13 กันยายน 2566 ยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ไต่สวนและวินิจฉัยเอาผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กรณีควักเงินซื้อหวยชุดงวดที่ผ่านมาตกใบละ 120 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เกินไปกว่าที่สำนักงานสลากฯกำหนด อันถือเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้แม่ค้าขายหวยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มีโทษทั้งอาญาและจริยธรรม

18 กันยายน 2566 คำร้องสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อขอให้สอบการจ้างเหมาเครื่องบินการบินไทย 30 ล้านบาท เพื่อนำนายกรัฐมนตรีและคณะไปเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 (UNGA78) ขัดหรือแย้งต่อ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 ประกอบ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ 2542 หรือไม่อย่างไร

27 กันยายน ร้องต่อ ป.ป.ช.เพื่อขอให้ไต่สวนและวินิจฉัย นายเศรษฐา เช่าเหมาลำของสายการบินไทย TG 8832 โดยใช้งบประมาณจากภาษีของประชาชนกว่า 30 ล้านบาท โดยพาลูกสาวและคนนอกที่ไม่ใช่ข้าราชการขึ้นเครื่องไปด้วยนั้น เป็นการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่และถือเป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่

13 พฤศจิกายน 2566 ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้พิจารณาเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การที่รัฐบาลตรา พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 140 ประกอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2560 มาตรา 53 หรือไม่

15 พฤศจิกายน 2566 ยื่นคำร้องต่อ กกต. ขอให้ตรวจสอบโครงการเงินดิจิทัลวอลเลต ว่าเข้าข่ายหลอกลวงหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ตามมาตรา 73 (5) (1) ประกอบมาตรา 159 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. 2561 เนื่องจากพรรคเพื่อไทยหาเสียงโครงการดิจิทัลวอลเลต ไม่ต้องกู้มาแจก แต่สุดท้ายมีการแถลงว่าจะต้องกู้ 5 แสนล้านบาท ซึ่งไม่ตรงกับที่หาเสียงไว้

20 พฤศจิกายน 2566 ร้องผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อขอให้ตรวจสอบการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐและอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างร้ายแรง กรณีที่รัฐบาลจะออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท มาดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเลต

24 พฤศจิกายน 2566 ร้อง ป.ป.ช. ตรวจสอบนายเศรษฐา กรณีพูดต่อหน้าที่ประชุม สส.เพื่อไทยในทำนองว่า “สส.เพื่อไทยขอตำแหน่งผู้กำกับใหม่” อันถือเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่

6 ธันวาคม 2566 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ไต่สวนและมีความเห็นกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ซื้อผ้ามัดหมี่จำนวน 6,000 บาท ไปมอบให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เป็นการฝ่าฝืน ม.128 แห่ง พ.ร.ป.ป.ป.ช. 2561 และฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่

ตรวจสอบทักษิณ

24 สิงหาคม 2566 ยื่นหนังสือเรียกร้องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบการทำหน้าที่ของผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ว่า เป็นการช่วยเหลือนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นกรณีพิเศษหรือไม่ หลังส่งตัวนายทักษิณที่มีอาการป่วยกำเริบจากเรือนจำกลางพิเศษ กรุงเทพมหานคร ไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ

30 สิงหาคม 2566 ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้แสวงหาข้อเท็จจริงอันเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนือจากหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ 3 หน่วยงาน คือ ตำรวจ ราชทัณฑ์ และโรงพยาบาล กรณีมีการปฏิบัติต่อนักโทษเด็ดขาดชายที่ชื่อนายทักษิณ ชินวัตร อันมีลักษณะของการเอื้อประโยชน์และหรือเลือกปฏิบัติ อันขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการไม่เป็นธรรมต่อประชาชนและหรือผู้ต้องโทษรายอื่น ๆ

19 ธันวาคม 2566 ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อฟ้องอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผบช.เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ผอ.รพ.ราชทัณฑ์ และนายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ ฐานใช้อำนาจโดยมิชอบ และละเลยต่อหน้าที่ กรณีร่วมกันเอื้อประโยชน์ให้ นช.ทักษิณ ได้สิทธิพิเศษไปนอนในห้องหรู รพ.ตำรวจ

24 ตุลาคม 2566 ยื่นคำร้องสำนักงานเลขาธิการแพทยสภา เพื่อกล่าวโทษแพทย์ผู้วินิจฉัยและรักษา นช.ทักษิณ จาก รพ.ราชทัณฑ์ และ รพ.ตำรวจ กรณีทำความเห็นทางการแพทย์เอื้อประโยชน์ให้นักโทษเด็ดขาดชายรายดังกล่าวไม่ต้องถูกขังคุก โดยใช้วิชาชีพเวชกรรมมาเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรม ทำให้กระบวนการยุติธรรมเสื่อมเสียอย่างรุนแรงหรือไม่

สอบก้าวไกล-ก้าวหน้า

21 สิงหาคม 2566 ยื่นคำร้องพร้อมเอกสารหลักฐานต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ไต่สวนและวินิจฉัยว่า การที่นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 นำเงินค่ารับรองในตำแหน่ง ไปจัดเลี้ยงหมูกระทะให้แม่บ้านสภา 370 คน  

7 กรกฎาคม 2566 ยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 3 พรรคก้าวไกล ว่าได้กล่าวคำปฏิญาณตนครบในเนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดหรือไม่

2 ตุลาคม 2566  ยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.ขอให้ไต่สวนและมีความเห็นเอาผิดพรรคก้าวไกลและนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 กรณีที่ประชุมร่วมพรรคก้าวไกลใช้เล่ห์กลมีมติขับหมออ๋องออกจากสมาชิกภาพเพื่อให้สมประโยชน์ด้วยกันทั้งคู่ อันไม่เป็นไปตามนัยทางกฎหมายที่กำหนดไว้หรือไม่

6 ตุลาคม 2566 ยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ไต่สวนและวินิจฉัยลงโทษ 2 สส.ของพรรคก้าวไกล กรณีที่พรรคก้าวไกลได้ประชุม สส.ร่วมกับกรรมการบริหารพรรค ซึ่งได้มีมติลงโทษ สส.ของพรรคที่ถูกกล่าวหาว่าคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ 2 คน คือ สส.ปราจีนบุรี และ สส.กทม. ฝั่งธนบุรีนั้น เข้าข่ายฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่

11 ตุลาคม 2566 ยื่นคำร้องถึงนายทะเบียนพรรคการเมือง เพื่อขอให้ตรวจสอบเพื่อให้ กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากรณีที่พรรคก้าวไกลขับนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ออกจากสมาชิกโดยมิได้มีความผิด แต่เพื่อให้หัวหน้าพรรคก้าวไกลได้ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภา เป็นการหวังผลประโยชน์อื่นใดเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่

12 ตุลาคม 2566 ยื่นคำร้องพร้อมเอกสารพยานหลักฐานให้ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนและมีความเห็นกรณีมี สส.จังหวัดปราจีนบุรี พรรคก้าวไกล มีพฤติการณ์แชตไลน์กับหญิงสาวซึ่งเป็นอาสาสมัครพรรคก้าวไกลในลักษณะลามกอนาจาร และอาจมีการข่มขู่คุกคามด้วยนั้น เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่

3 พฤศจิกายน 2566 ยื่นหนังสือถึง กกต. และนายทะเบียนพรรคการเมือง เพื่อขอให้ตรวจสอบ เอาผิดต่อพรรคการเมือง และนักการเมืองที่มีแนวคิดในการออกกฎหมายยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) (พรรคก้าวไกล)

9 พฤศจิกายน 2566 คำร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ไต่สวนและวินิจฉัย กรณี สส.ปราจีนบุรีออกมาแฉว่ามี ผช.สส.กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล เข้าไปมีเอี่ยวเรียกรับผลประโยชน์เกี่ยวกับที่ดินจากบริษัทบ่อขยะและอาจมีการเลี่ยงภาษี อันมีผลต่อการกล่าวหามาถึงตนเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ แต่พรรคก้าวไกลกลับสอบสวนอย่างล่าช้า และปกปิดความจริงที่ควรกระทำอันอาจขัดต่อจริยธรรมหรือไม่

สอบพรรคการเมืองอื่น ๆ

16 มิถุนายน 2566 ร้อง กกต.ให้เอาผิดกับพรรคการเมือง 3 พรรค (พรรคก้าวไกล, พรรคประชาชาติ, พรรคเป็นธรรม) สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 ได้มีการจัดกิจกรรมเปิดตัวขบวนนักศึกษาแห่งชาติ ที่คณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ซึ่งภายในงานปรากฏว่า มีกิจกรรมรณรงค์และทำประชามติจำลองเกี่ยวกับการแบ่งแยกรัฐปัตตานี ให้เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมาย

@ ยื่นฟันศักดิ์สยาม

19 มกราคม 2567 ยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายในการไต่สวนและมีความเห็น เพื่อนำไปสู่การลงโทษนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมว่าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง อันเนื่องมาจากเป็นเจ้าของที่แท้จริงของห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น

24 มกราคม 2567 ยื่นคำร้องต่อ กกต.และนายทะเบียนพรรคการเมือง เพื่อให้เร่งตรวจสอบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 67 มาไต่สวนว่าการรับเงินบริจาคจากบริษัทที่เป็นนอมินีของนายศักดิ์สยามเลขาธิการพรรค โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเข้าข่ายฝ่าฝืน ม.72 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมืองหรือไม่

ตรวจสอบกรมฝนหลวง  

นอกจากนี้ “ศรีสุวรรณ” ยังร้องหน่วยงานราชการให้ดำเนินการเอาผิดในเรื่องต่าง ๆ ที่ตกเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้คือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น  

8 ธันวาคม 2566 ยื่นคำร้องถึง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอให้ตั้งกรรมการสอบผู้บริหารกระทรวงที่อาจเอื้อประโยชน์ให้กับตัวแทนนายหน้าบริษัทที่เสนอขายเครื่องบินทำฝนหลวง เดินทางไปดูงานที่สาธารณรัฐเช็ก  

20 ธันวาคม 2566 “ศรีสุสรรณ” และ “ยศวริศ ชูกล่อม” หรือเจ๋ง ดอกจิก ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง โครงการประกวดราคาซื้อเครื่องบินขนาดกลางของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร

17 มกราคม 2567 ยื่นคำร้องถึง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรณีผู้บริหารกรมฝนหลวงฯที่อาจเอื้อประโยชน์ให้กับตัวแทนนายหน้าบริษัทที่เสนอขายเครื่องบินทำฝนหลวง 2 ลำ มูลค่า 1,188 ล้าน หลังจากพบพิรุธว่าก่อนเขียนทีโออาร์ยกโขยงกันเดินทางไปดูงานบริษัทผลิตเครื่องบินที่สาธารณรัฐเช็ก พอกลับมาก็ร่างทีโออาร์ล็อกสเป็กให้ตัวแทนบริษัทดังกล่าว