สุรชาติ อ่านการเมืองโลก สงครามยืดเยื้อ วิกฤตค่าครองชีพพุ่ง

ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ปี 2024 การเมืองโลกยังคงตึงเครียด การแข่งขันมหาอำนาจระหว่างโลกตะวันออกกับโลกตะวันตกยังคงเขม็งเกลียว

สงครามหลายพื้นที่ยังยืดเยื้อ ลากยาว ทั้งรัสเซีย-ยูเครน, อิสราเอล-ฮามาส ส่อแววขยายวง

ขณะเดียวกัน ในปี 2024 ประเทศมหาอำนาจโลกหลายประเทศจะมีการเลือกตั้ง “ผู้นำ” คนใหม่ ล้วนเป็นปัจจัยสะเทือนถึงไทย

ส่วนไทยเป็นแค่เพียง “หมาก” บนกระดาน ไม่ใช่ผู้เล่น การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์จะสะเทือนไทย-คนไทยอย่างไร ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง จะฉายภาพฉากสำคัญบนหมากการเมืองเลือกตั้ง 2024

ไทยเป็นแค่เบี้ยในเกมใหญ่

ศ.ดร.สุรชาติเกริ่นนำว่า การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ เราจะเห็นการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ ปลายทางคือผู้ชนะจะกำหนดระเบียบระหว่างประเทศ เพราะในสภาวะที่โลกมีวิกฤตถาวร รัฐเล็กเป็นเบี้ยบนกระดาน แต่ไม่ใช่ผู้เล่น “ไทย” ไม่มีสิทธิเล่น เพราะมันเป็นเกมใหญ่

สิ่งเหล่านี้เป็นผลจากการ Disruption จากภัยสงคราม รวมถึงโรคระบาดที่ส่งผลโดยตรงต่อโลก เพราะเป็นผลของการจัดโครงสร้างความสัมพันธ์ของรัฐมหาอำนาจใหญ่

เพราะการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัฐมหาอำนาจใหญ่ ไม่ได้มีมติเดียว แต่มี 8 มิติ ทั้ง การเมือง การทูต การทหาร เศรษฐกิจ/การค้า การเงิน เทคโนโลยี สังคม คือการแข่งว่าสังคมไหนที่สร้างชีวิตที่ดีกว่า ข่าวสาร ภาพยนตร์ ซึ่งเป็นโฆษณาชวนเชื่ออย่างหนึ่ง

ขณะเดียวกัน มีการกำเนิดของ “สงครามเย็นใหม่” และการแบ่งโลกเป็น 2 ขั้วในศตวรรษที่ 21 มีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ในปี 2022 ต่อมากลางปี 2022 เกิดวิกฤตการณ์ช่องแคบไต้หวัน

จากนั้นเกิดสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ หลังเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2023 ขยับเป็นสงครามในทะเลแดง เริ่มรบเข้าไปในเลบานอน มีการใช้อาวุธยิงเข้าไปในอิรักและซีเรีย คำถามคือสงครามอะไรในปี 2024 โลกมีวิกฤตถาวรจริง ๆ แล้ว และเป็นผลมาจากสงคราม

สงครามยืดเยื้อ ค่าครองชีพพุ่ง

ศ.ดร.สุรชาติกล่าวว่า ผลจากสงครามทำให้วันนี้เราอยู่ในวิกฤต 9 ชุด 1.สงครามใหญ่ คือ วิกฤตจากสงครามยูเครน-สงครามกาซา ทะเลแดง ถ้าเป็นอย่างนี้ค่าครองชีพจะสูงขึ้นแน่ ๆ เพราะราคาสินค้าขึ้นจากปัญหาเส้นทางเดินเรือในทะเลแดงที่ต้องอ้อมแหลมกู๊ดโฮป เมื่อระยะเวลาเดินเรือมากขึ้น ค่าระวางเรือมากขึ้น ค่าใช้จ่ายมากขึ้น ถ้าเป็นอย่างนี้ปัญหาค่าครองชีพเป็นเรื่องใหญ่

2.วิกฤตนิวเคลียร์ในยูเครน วันนี้สงครามเฉี่ยวไปเฉี่ยวมา เพราะวันนี้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหญ่ที่สุดคือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริเซีย เป็นโรงไฟฟ้าใหญ่ที่สุดชุดหนึ่งในยุโรปปัจจุบัน ถ้าวันหนึ่งแจ็กพอตระเบิดลงล่ะ…จุดนี้ล่อแหลมมาก กลับกันนับตั้งแต่เกิดสงครามประธานาธิบดีรัสเซียพูดไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง ว่าจะใช้นิวเคลียร์ นาโตพูดชัดว่าไม่ยอม

3.วิกฤตเศรษฐกิจ 3 ชุดพร้อมกัน ถ้าอยู่ต่างจังหวัด เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นจากโควิด-19 แต่อยู่ได้ด้วยเงินราชการ เศรษฐกิจในท้องถิ่นบางส่วน รวมถึงวิกฤตจากสงคราม เจอ 3 ชุดพร้อมกัน วันนี้ใครเป็นรัฐบาลถือว่าทุกขลาภในการบริหารเศรษฐกิจมหภาค 4.วิกฤตค่าครองชีพ แปลว่าเงินเฟ้อ ตัวเลขเงินเฟ้ออาจดูดีในบ้านเรา แต่ต้องไม่ละเลยตัวเลขเงินเฟ้อในเวทีโลก

5.วิกฤตพลังงาน ข้อดีมีอย่างเดียว ขออย่าพ้น 80 เหรียญต่อบาร์เรล ปริ่ม ๆ นิดหน่อยได้ แต่ถ้าขยับ 90 เหรียญ แตะ 100 เหรียญเมื่อไหร่ มีปัญหา

6.วิกฤตอาหารคือวิกฤตใหญ่ที่สุด คือจุดของความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สุด ข้าวคือจุดชี้ขาดของสังคม

7.วิกฤตปุ๋ย ซึ่งรัสเซียเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยรายใหญ่ของโลก เรื่องใหญ่สำหรับชาวนา เกษตรกร 8.วิกฤตผู้อพยพ มีเห็นทั้งในยูเครน ชนวนกาซา รวมถึงแนวชายแดนจากแม่สอด ยันแม่ฮ่องสอน 9.วิกฤตมนุษยธรรม ซึ่งผูกโยงกับวิกฤตผู้อพยพ

แนวโน้มสงคราม

ศ.ดร.สุรชาติวิเคราะห์แนวโน้มสงครามที่เกิดขึ้นในโลกว่า สงครามมีลักษณะของการรบติดพันและต่อเนื่อง ทั้งในยูเครนและกาซา โจทย์พวกนี้จะกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ยังไม่เห็นสันติภาพที่ปลายอุโมงค์ (อย่างน้อยต้องเริ่มด้วยข้อตกลงในการหยุดยิง) อีกทั้งการกำหนดอนาคตของพื้นที่ความขัดแย้งยังไม่มีความชัดเจน (ทั้งในยูเครนและกาซา)

ที่ต้องกังวลคือ การยกระดับสงคราม (Escalation of War) รวมถึงบทบาทของรัฐมหาอำนาจเป็นปัจจัยสำคัญในความขัดแย้ง การโจมตีของรัสเซียทำให้เห็นการหวนคืนของสงครามระหว่างรัฐ (Interstate Warfare) ในศตวรรษที่ 21

บทบาทของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (Non-State Actor) ในกาซาทำให้เห็นถึงสงครามอสมมาตร (Asymmetric Warfare)

ในยุคปัจจุบันการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมเป็นเรื่องสำคัญ เพราะพลเรือนคือเป้าหมายการโจมตี และเป็นผู้สูญเสียหลัก ขณะที่สหประชาชาติยังไม่สามารถผลักดันให้เกิดสันติภาพได้จริง การฟื้นฟูพื้นที่สงครามจะเป็นปัญหาสำคัญของการเมืองโลกในอนาคต ในแง่ของงบประมาณจะมาจากไหน

การเดินหมากของมหาอำนาจ

ศ.ดร.สุรชาติมองว่า ยุทธศาสตร์ของรัฐมหาอำนาจ แข่งกับการสร้างระบบพันธมิตรทางการเมืองและความมั่นคง การขยายอิทธิพลทางทหาร และการเชื่อมต่อด้านความมั่นคง การขยายอำนาจผ่านการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ

การใช้โครงสร้างพื้นฐาน (เช่น BRI) ของจีน เป็นเครื่องมือขยายอิทธิพล เป็นยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ไม่ใช่การทำถนน การทำรถไฟ ต้องคิดมิติด้านความมั่นคง การใช้เศรษฐกิจเป็นวิธีของการครอบครองดินแดนผ่าน “กับดักหนี้” (Debt Trap) ประเทศไหนที่กู้เงินจีนก็ต้องส่งดอกเบี้ยให้จีน ซึ่งเป็นการเคลื่อนหมากบนเวทีโลก

การสร้างอิทธิพลทางสังคมเหนือรัฐเป้าหมายผ่าน Social Media การสร้างการเชื่อมต่อทางสังคมด้วย Public Diplomacy การสร้างอำนาจและอิทธิพลในมิติ Soft Power การโฆษณาทางการเมือง และการสร้างข่าวปลอม

สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือภูมิภาคอาเซียนเกินการแบ่งค่าย เป็นสนามแข่งขันทางการเมืองของรัฐมหาอำนาจใหญ่ ทุกเรื่องในภูมิภาคโยงเข้ากับการเมืองโลก ทรรศนะของผู้คนในภูมิภาคและในแต่ละประเทศจะเกิดการแบ่งฝ่าย

รัฐบาลจะเผชิญกับภาวะที่เป็น Dilemma ในการจัดความสัมพันธ์กับรัฐมหาอำนาจอย่างไร เอกภาพของรัฐในภูมิภาค องค์กรในภูมิภาคจะลดน้อยลง เป็นช่องทางของการขยายอำนาจทางทหารของรัฐในภูมิภาค ดังนั้น สถานการณ์ในภูมิภาคมีความเปราะบาง และอาจเป็นช่องทางของการแทรกแซงจากภายนอก

โลกสะวิงฝ่ายขวา-ชาตินิยม

ศ.ดร.สุรชาติกล่าวว่า ปี 2024 เป็นปีที่น่าตื่นเต้น จะมีการเลือกตั้งใหญ่ ๆ หลายแห่ง เดือนมกราคมเลือกตั้งไต้หวัน เดือนมีนาคมเลือกตั้งในรัสเซียและยูเครน เดือนเมษายนเลือกตั้งในอินเดีย

ซึ่งทั้งรัสเซีย อินเดีย และยูเครน ไม่ต้องคิด วลาดิมีร์ ปูติน ได้รับการเลือกตั้งกลับมา โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ก็จะชนะการเลือกตั้ง ส่วนอินเดียไม่มีใครแข่งกับนเรนทรา โมดี ได้ เพราะพาอินเดียไปดวงจันทร์ และปีนี้สร้างสิ่งที่ใหญ่ที่สุดคือ บูรณะและสร้างวิหารพราหมณ์ แปลว่าวันนี้เป็นกระแสชาตินิยมอีกแบบหนึ่ง

เดือนมิถุนายนมีเลือกตั้งในสหภาพยุโรป เดือนกันยายนเลือกตั้งในออสเตรีย เดือนพฤศจิกายนเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกา เดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคมเลือกตั้งในอังกฤษ

เราจะเห็นการยกระดับของสงคราม รวมถึงปัญหาสงครามในรัฐชายขอบ ทั้งสงครามเมียนมา ซูดาน ซูดานใต้ มาลี ปัญหาความรุนแรงของ 6 วิกฤตคือ วิกฤตสภาพอากาศ วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตพลังงาน วิกฤตอาหาร วิกฤตสุขภาพ ไม่ได้จบไปกับโควิด-19 เรายังเผชิญฝุ่น PM 2.5 วิกฤตผู้อพยพ

คนชั้นกลางก็เริ่มจนลง หลังการระบาดของโควิด-19 ขณะเดียวกัน การขยายขีดความสามารถของ AI หรือในอีกมุมหนึ่งคือหุ่นยนต์ โจทย์พวกนี้จะนำไปสู่ช่วงเวลาแห่งความปั่นป่วน (Turbulent Times) ของชีวิตทางสังคม ลดงบฯบริการภาครัฐ ลดคนงาน ลดมาตรฐานการครองชีพ ลดสวัสดิการ และเพิ่มตัวเดียวคือการประท้วงทางสังคมเพิ่มขึ้น

การขยายตัวของประชานิยมฝ่ายขวา (Rightwing Populism) อาจต้องเตรียมตัวเพื่อรองรับทรัมป์ที่จะกลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ แต่นอกจากทรัมป์ ยังมีปีกขวาในยุโรป ทั้งในฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย เยอรมนี อาจจะไม่ชนะทั้งหมด แต่จะแบ่งสัดส่วนในสภามากขึ้น

โจทย์ใหญ่รัฐบาลไทย

วกกลับมาที่ประเทศไทย “ศ.ดร.สุรชาติ” ฉายภาพปัญหามหภาคของรัฐไทย ว่าสงครามเย็นในศตวรรษที่ 21 จะมีผลกระทบต่อความมั่นคงไทยแน่นอน ไทยยังมีปัญหากำหนดบทบาทและสร้างสถานะของรัฐไทยในเวทีสากล วิกฤตเศรษฐกิจโลกและผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยยังมีความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาสถานะของกองทัพในสังคมไทย

ปัญหาความแตกแยกและความเห็นต่างทางการเมืองในสังคม ทั้งสงครามความคิด สงครามความเชื่อ สงครามความศรัทธา สงครามระหว่างวัย ยังรวมถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ ปัญหาความมั่นคงของมนุษย์ และการฟื้นฟูสังคมไทยท่ามกลางวิกฤตโลกของยุคหลังโควิด-19 ปัญหาความเปราะบางของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของไทย ซึ่งการเมืองไทยไม่เคยถกกันเรื่องการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยของไทยเลย และการสร้างขีดความสามารถของรัฐและสังคมในการรับมือกับ Global Disruption ในอนาคต

คำถามคือปี 2024 โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลไทยคือ รัฐบาลไทยจะจัดวางประเทศไทยไว้ตรงไหนบนแผนที่ทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลก ในทางการเมือง เราจะฟื้นตัวเราได้ไหม รัฐบาลจะพลิกฟื้นสถานะทางการเมืองของไทยในเวทีระหว่างประเทศอย่างไร รัฐบาลจะสร้างความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจในเวทีโลกอย่างไร

รัฐบาลจะสร้างเสถียรภาพการเมืองภายใน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในประชาคมสากลอย่างไร เมื่อเสถียรภาพทางการเมืองคือซอฟต์พาวเวอร์ที่ใหญ่ที่สุด และรัฐบาลจะเดินบนกระดานหมากรุกภูมิรัฐศาสตร์โลกอย่างไร เราบอกว่าเราจะเป็นสนลู่ลม แต่ต้นสนเราหักไปตั้งแต่ลุงเผาต้นสนไปแล้ว เพราะรัฐประหาร 2557 เราย้ายข้างจนดุลของประเทศไทยเสีย ในเวทีโลกเขามองว่าเราเลือกข้าง เพียงแต่เขายังไม่โหดกับเรา

“ปีนี้ คสช.ครบ 10 ปี เราไม่มีบทบาทในเวทีโลก สำหรับผมไทยเป็นมนุษย์ล่องหน แต่สำนวนไทยบนเวทีโลกคือ ประเทศไทยไม่อยู่บนจอเรดาร์ของเวทีโลก ผมเชื่อว่า Geopolitics คิดว่าประเทศไทยต้องตั้งหลัก ถ้าไม่ตั้งหลักพอเราไม่ตั้งหลักก็จมหายไปกับ 9 ปีของรัฐบาลลุงตู่ ช่วงของ คสช.ซึ่งรัฐไทยไม่มีศักดิ์ศรีบนเวทีโลก

เพราะการรัฐประหาร พอรัฐบาลเลือกตั้งกลับมา คิดว่ารัฐบาลต้องฟื้นประเทศไทยผ่านนโยบายต่างประเทศ เพราะจะเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุด การสร้างศักดิ์ศรีของนโยบายต่างประเทศจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ดีที่สุด เพราะหัวใจของซอฟต์พาวเวอร์คือการเมืองระหว่างประเทศ” ศ.ดร.สุรชาติกล่าว