จุดตาย 2 กม.ลูกหน้าบัลลังก์ศาล เปลี่ยนเกมเลือกตั้ง…อีกครั้ง ?

แม้ว่านักเลือกตั้งจะคึกคัก ได้ขยับแข้งขา หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คลายกฎให้พรรคการเมืองเก่า-ใหม่ ทำกิจกรรมทาง “ธุรการ” ทั้งยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคและจองชื่อพรรค

แต่ใช่ว่าการเลือกตั้งจะอุบัติขึ้นตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ประกาศไว้ว่าภายในเดือน ก.พ. 2562

ตราบใดที่พรรคทหาร ที่ซุ่มตั้งกันในทำเนียบรัฐบาลยังไม่มีความพร้อมที่จะลงสู่สมรภูมิรบ

อีกทั้ง ชะตาการเลือกตั้ง ณ ตอนนี้ ผูกติดอยู่กับดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. … กับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. …

ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชงให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560

Advertisment

ว่ากันถึงร่าง พ.ร.ป.ส.ว.นั้น สนช.ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในท่อน “บทเฉพาะกาล” ที่กำหนดให้ในวาระ 5 ปีแรกของ ส.ว.ให้มีการสรรหา ส.ว.จาก 10 กลุ่ม แบ่งประเภท ส.ว.ที่มาจากสมัครโดยตรง และเสนอโดยนิติบุคคล ซึ่งขัดแย้งกับบททั่วไปรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่

ส่วนร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. โดยฝ่ายคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานตั้งประเด็นว่าเนื้อหาของกฎหมายลูกฉบับนี้ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2 ข้อ 1.ตัดสิทธิคนไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งห้ามไปดำรงตำแหน่งทางการเมือง กระทบต่อสิทธิเสรีภาพหรือไม่ 2.ให้มีผู้ช่วยกาบัตรสำหรับผู้พิการ ซึ่งอาจทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นความลับ

โดย สนช.-กรธ. ได้ส่งความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อใช้ประกอบการวินิจฉัยไปเมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา ทำให้การเลือกตั้งยังเริ่มต้นนับ 1 ไม่ได้ และยังไม่แน่ชัดว่าจะนับ 1 ได้เมื่อใด

“อุดม รัฐอมฤต” โฆษก กรธ. คาดการณ์ถึงผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า ในส่วนของ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. เห็นว่าถ้อยคำขัดสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญชัดเจน เป็นการเขียนกฎหมายลูกในลักษณะแก้ไขกฎหมายแม่ กล่าวคือ ในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายแม่ระบุว่า การเลือกตั้งจะต้องเป็นความลับ แต่ในกฎหมายลูกที่ให้มีผู้ช่วยกาบัตรสำหรับผู้พิการนั้น ระบุคำว่า “ให้ถือว่า” การช่วยกาบัตรแทนผู้พิการนั้นเป็นความลับ

Advertisment

“โดยลักษณะของตัวกฎหมายก็เขียนอยู่แล้วว่าการกาบัตรแทนไม่เป็นความลับ แต่ ‘ให้ถือว่า’ เป็นความลับ เป็นการเขียนกฎหมายลูกที่ไปแก้ไขกฎหมายหลัก จึงเชื่อว่าขัดรัฐธรรมนูญ”

อย่างไรก็ตาม “อุดม” ไม่กังวลว่า ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.จะทำให้โรดแมปเลือกตั้งสะดุด เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเห็นว่าข้อความหรือมาตราต้องตัดถ้อยคำหรือตัดทั้งมาตราออก แต่จะไม่กระทบต่อกระบวนการจัดการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ

ต่างจากร่าง พ.ร.ป.ส.ว.อาจจะมีผลกระทบต่อกระบวนการสรรหา ส.ว. หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ข้อความ หรือ กฎหมายทั้งมาตราขัดรัฐธรรมนูญ

“อุดม” กล่าวว่า “บทเฉพาะกาล” ของร่าง พ.ร.ป.ส.ว. เขียนรองรับวิธีการสรรหา ส.ว. 250 คน ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้ คสช.เลือก 200 คน (บวก 50 คนมาตามวิธีสรรหาแบบเลือกไขว้ของ กรธ.) ซึ่งในร่างกฎหมาย พ.ร.ป.ส.ว. กำหนดวิธีการเลือก ส.ว. 200 คน มาจากการเลือกกันเองในกลุ่ม โดยแบ่ง 10 กลุ่มวิชาชีพ และแบ่งวิธีการสมัครเป็น 2 ประเภท

ที่ กรธ.มองว่าขัดรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะในบททั่วไปกำหนดวิธีการเลือก ไขว้ระหว่างกลุ่ม ตั้งแต่ระดับอําเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ

“ดังนั้น หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ข้อความหรือมาตราในบทเฉพาะกาลของร่าง พ.ร.ป.ส.ว.ตกไป ก็จะไม่มีกระบวนการสรรหา ส.ว. 250 คน ใน 5 ปีแรกตามที่ คสช.ต้องการ อาจจะต้องเขียนบทเฉพาะกาลกันใหม่” อุดมกล่าว

อย่างไรก็ตาม “อุดม” เชื่อว่า “แม้ร่าง พ.ร.ป.ส.ว.ถูกตีตก ก็คงไม่กระทบโรดแมป หากจะร่างกันใหม่ก็เขียนใหม่แค่บทเฉพาะกาล จึงใช้เวลาไม่นาน อีกทั้ง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ขยายเวลาการบังคับใช้เผื่อไว้ 90 วัน หากทำได้ทันใน 90 วัน ก็อาจจะไม่กระทบโรดแมป”

ขณะที่ “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธาน สนช.ค่อนข้างมั่นใจว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นบวกมากกว่าลบ และจะมีคำตัดสินออกมาในเดือนพฤษภาคม

จุดเปลี่ยนการเลือกตั้ง อาจจะยังอยู่ในมือของศาลรัฐธรรมนูญ