ครม.สัญจรพะเยา อนุมัติ 13 โครงการ 300 ล้าน สั่งศึกษาสร้างสนามบิน

เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ สรุปมติ ครม.สัญจรพะเยา เห็นชอบโครงการกลุ่มจังหวัด 9 โครงการ-ภาคเอกชน 4 โครงการ รวม 300 ล้าน สั่งคมนาคมศึกษาสร้างสนามบิน-จัดตั้งสำนักงานท่องเที่ยวจังหวัด

วันที่ 19 มีนาคม 2567 ที่ จ.พะเยา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร จ.พะเยา ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบการปฏิบัติราชการของ ครม.ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ โดยเห็นชอบในหลักการโครงการของกลุ่มจังหวัด และจังหวัด จำนวน 9 โครงการ กรอบวงเงิน 155 ล้านบาท และเห็นชอบโครงการที่เสนอจากภาคเอกชนจำนวน 4 โครงการ กรอบวงเงิน 145 ล้านบาท

โดยได้มีข้อหารือในกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เร่งให้จัดตั้งสำนักงานท่องเที่ยวประจำจังหวัดให้ได้ภายในไตรมาส 4 นี้ และศึกษาถึงการประกาศให้จังหวัดพะเยาเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตลอดจนให้กระทรวงคมนาคมศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างสนามบินพะเยาตามที่มีการลงพื้นที่

อีกทั้งยังสั่งการให้กรมทางหลวงเร่งประสานกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทำเรื่องขอผ่อนผันมติ ครม.ที่เกี่ยวข้องกับการขยายเส้นทางจราจร บริเวณจุดผ่านแดนถาวรบ้านฮวก จ.พะเยา และการใช้ประโยชน์ในพื้นที่คุมคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 เอ เพื่อเป็นการส่งเสริมการค้าชายแดนระหว่างประเทศ ไทย-ลาว ซึ่งปัจจุบันมีการสั่งซื้อวัวเป็นแสน ๆ ตัว เป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับเศรษฐกิจภาคเหนือ

นอกจากนี้ จากการที่ไปตรวจเยี่ยมอุทยานการเรียนรู้พะเยา (TK Park) จ.พะเยา ที่สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างอาชีพให้เยาวชนได้ มีการนำองค์ความรู้มาบ่มเพาะกัน ขอสั่งการให้สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์กรความรู้ ของกระทรวงมหาดไทย เร่งแก้กฎเพื่อให้เหมาะสมกับภารกิจและส่งเสริมศักยภาพของเยาวชนต่อไป

นายเศรษฐากล่าวว่า เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกลำไย ซึ่งถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจ ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมต่าง ๆ บูรณาการผลิตลำไยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเพื่อให้ปริมาณการผลิตสมดุลกับความต้องการของตลาด และมีการส่งเสริมผลิตภัณฑ์แปรรูปหลากหลาย ทำให้ราคาลำไยมีเสถียรภาพและไม่ทำให้เกิดภาวะล้นตลาด

พร้อมสั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน และการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศไทยและกลุ่มประเทศแอฟริกา ซึ่งมีการเติบโตของประชากรสูง เช่น ไนจีเรีย ซิมบัฟเว เนื่องจากมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง มีแหล่งทรัพยากรมาก รวมถึงเป็นแหล่งพลังงานด้วย