ครม.สัญจรพะเยา เศรษฐา-ร.อ.ธรรมนัส ดันสนามบินแห่งใหม่

เศรษฐา-ธรรมนัส
เศรษฐา-ธรรมนัส

นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ดอกคำใต้ จ.พะเยา ยกระดับจากเมืองรองเป็นเมืองหลัก ดันสร้างสนามบินแห่งใหม่ 3 พันไร่ ชง ครม.สัญจรพะเยา อนุมัติ 100 ล้านศึกษา EIA เตรียมก่อสร้างเฟสแรกเปิดปี 2577 งบฯก่อสร้างรวมเวนคืนที่ดินกว่า 4 พันล้านบาท

วันที่ 19 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลงพื้นที่ตรวจราชการและประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่อย่างเป็นทางการ พื้นที่ภาคเหนือตอนบน 2 (จ.พะเยา น่าน แพร่ และเชียงราย) โดยวานนี้ (18 มี.ค. 2567) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้เดินทางไปประชุมหารือแผนพัฒนาพื้นที่เป็นสนามบินจังหวัดพะเยา ที่ตำบลดอนศรีชุม อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา

โดยมีร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากพรรคพลังประชารัฐ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายรัฐพล นราดิศร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ผู้บริหารส่วนราชการ ส่วนท้องถิ่น และประชาชนจังหวัดพะเยาให้การต้อนรับประมาณ 1,000 คน

นายกรัฐมนตรีกล่าวบนเวทีว่า ตั้งใจมาดูพื้นที่ มาศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างสนามบินจังหวัดพะเยา ซึ่งนโยบายของรัฐบาลในหลาย ๆ เรื่อง หนึ่งในเรื่องที่สำคัญที่สุดคือการยกระดับเมืองรองให้เป็นเมืองหลัก ปัจจัยสำคัญในการที่จะทำให้เมืองรองเป็นเมืองหลักได้คือเรื่องของการคมนาคม สนามบินถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด สำหรับการลงพื้นที่วันนี้ได้นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมศึกษาความเป็นไปได้

นายเศรษฐากล่าวว่า “ในวันนี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็มาอยู่ที่นี่ด้วย มาร่วมกันศึกษา ซึ่งจะต้องศึกษาพิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลผลประโยชน์ ความคุ้มค่าในการลงทุน รัฐบาลจะพยายามอย่างเต็มที่ โดยจะใช้หลักการ ใช้เหตุผล เพื่อศึกษาในความเป็นไปได้ในการสร้างสนามบิน ณ ที่แห่งนี้”

นายเศรษฐาปราศรัยบนเวทีว่า “จังหวัดพะเยามีขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมที่ดีงาม สิ่งแรกที่เห็นตอนเดินทางเข้ามาดอกคำใต้ คือดอกคำใต้ ซึ่งเป็นดอกไม้ที่มีความสวยงาม มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย และเชื่อว่าองค์ประกอบในการยกระดับเมืองรองให้เป็นเมืองหลักทุกอย่างมีความพร้อม ต่อจากนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดพะเยาให้มากขึ้น เพื่อที่จะรองรับความเป็นไปได้ในการที่จะสร้างสนามบิน ซึ่งสนามบินแห่งนี้ขอให้ชาวพะเยาอดใจรออีกนิดหนึ่ง รัฐบาลจะศึกษาอย่างรอบคอบ ใช้เงินภาษีที่พี่น้องประชาชนจ่ายมาให้เหมาะสมต่อไป”

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การจัดตั้งท่าอากาศยานพะเยาจะทำให้ผู้เดินทางมีความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี อันเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่สำคัญของประเทศ

โครงการการก่อสร้างท่าอากาศยานพะเยา มีพื้นที่โครงการขนาด 2,813 ไร่ ค่าชดเชยอสังหาริมทรัพย์ 1,700 ล้านบาท และประมาณการค่าก่อสร้างรวม 2,201.485 ล้านบาท มีแผนพัฒนาท่าอากาศยานในช่วง 10 ปี 20 ปี และ 30 ปีตามลำดับ โดยในระยะ 10 ปีแรกคาดว่าจะเปิดให้ใช้บริการในปี พ.ศ. 2577 ตามความต้องการใช้ท่าอากาศยานจำนวน 78,348 คนต่อปี และในปี พ.ศ. 2587 ความต้องการจะเพิ่มขึ้นเป็น 94,920 คนต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณความต้องการใช้เครื่องบินขนาด 180 ที่นั่ง เหมาะสมกับขนาดลานจอดเครื่องบินและรันเวย์ท่าอากาศยานพะเยา

พื้นที่พะเยาตั้งอยู่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย มีพื้นที่ประมาณ 3,900,412 ไร่ แบ่งการปกครองออกเป็น 9 อำเภอ โดยแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวขยายตัวเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี จากสถิติพบว่าในช่วงปี พ.ศ. 2552-2562 มีผู้มาเยี่ยมเยียนเฉลี่ยต่อปีจำนวน 486,679 คน และมีอัตราการเติบโต 11.15% ต่อปี ซึ่งการเดินทางมาจังหวัดพะเยายังต้องใช้ท่าอากาศยานใกล้เคียง ได้แก่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย มีระยะทางห่างจากจังหวัดพะเยาประมาณ 103 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที

ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคมกล่าวว่า โครงการนี้จำเป็นต้องศึกษารายละเอียด คาดว่าจะใช้งบประมาณปี 2567 และต้องดูโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจำนวนผู้โดยสารด้วย

ธรรมนัส ดันสนามบินพะเยาเต็มที่

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าบริเวณพื้นที่ตำบลดอนศรีชุม อำเภอดอกตำใต้ จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะสร้างสนามบินพะเยามีจำนวนเกือบ 3,000 ไร่ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาจะเสนอให้ ครม.พิจารณาขอใช้งบประมาณศึกษาและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการท่าอากาศยานพะเยา โดยใช้งบประมาณในการศึกษา 100 กว่าล้านบาท ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องหลังจากที่มีการศึกษาเบื้องต้นโครงการนี้แล้วตั้งแต่ปี 2564 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ จังหวัดพะเยาเป็นจังหวัดเดียวในภาคเหนือที่ยังไม่มีสนามบิน ได้หารือเรื่องนี้กับนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีจึงอยากลงมาดูพื้นที่ จะช่วยให้คนในจังหวัดพะเยาที่มี 5 แสนคน สามารถเดินทางสะดวกกว่าเดินทางไปสนามบินเชียงราย หรือสนามบินลำปาง สนามบินน่าน และสนามบินแพร่ และจะเชื่อมโยงการเดินทางกับประเทศเพื่อนบ้านลาวและเมียนมาได้ด้วย

เผยเจรจาแอร์เอเชีย-บางกอกแอร์เวย์สแล้ว

ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า ความเป็นไปได้ที่จะมีเครื่องบินมาลงหรือไม่ ได้คุยเบื้องต้นกับสายการบินไทยแอร์เอเชียและบางกอกแอร์เวย์สไว้แล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้มีปัญหาที่พยายามสร้างสนามบินคือพื้นที่ไม่มีความเหมาะสม เช่น พื้นที่หน้ามหาวิทยาลัยพะเยา ไม่มีความพร้อมในการจอดและการวิ่งของเครื่องบิน ซึ่งจากการศึกษาของกระทรวงคมนาคมมีความเห็นว่า ในพื้นที่ดอกคำใต้มีความเหมาะสมในการสร้างสนามบินมากสุด ถือเป็นความหวังของชาวพะเยาที่จะได้รับความเห็นชอบจาก ครม.

ททท.แนะเครื่องบินขนาดเล็กบินระหว่างจังหวัด

นางสาวสมฤดี จิตรจง รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวในประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนพะเยาได้ขอให้ ททท.สนับสนุนการสร้างสนามบินที่ จ.พะเยา เพื่อให้มีเที่ยวบินมาลงใน จ.พะเยา เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว ซึ่งตัวชี้วัดในเรื่องความสำเร็จของการมีสนามบินก็คือหลังจากมีสนามบินแล้วต้องให้สายการบินมาให้บริการที่สนามบินแห่งนี้ ซึ่งเที่ยวบินที่เหมาะสมที่จะมาลงทุนในจังหวัดพะเยาอาจไม่ใช่เครื่องบินขนาดใหญ่ แต่อาจเป็นเครื่องบินขนาดเล็ก

เหมือนกับที่มีบางสายการบินที่เปิดเส้นทางการบินใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อมการเดินทางกับสงขลา และปีนัง ซึ่งเป็นตัวอย่างของการทำเส้นทางการบินที่เหมาะสมกับพื้นที่ที่มีลักษณะพื้นที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งนอกจากการท่องเที่ยวในพื้นที่ และกลุ่มจังหวัด ยังส่งเสริมในเรื่องการเดินทางเพื่อมารักษาพยาบาล และรับบริการทางการแพทย์ได้ด้วย

สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวพะเยาเชียร์สนามบิน

นางพัฒน์ชญา จิตราพันธ์ทวี ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพะเยา กล่าวว่า ข้อเสนอที่ภาคเอกชน จ.พะเยา จะเสนอให้กับ กรอ.กลุ่มจังหวัดขอให้รัฐบาลช่วยผลักดันให้จังหวัดเป็นศูนย์กลางการแพทย์ของกลุ่มจังหวัดเนื่องจากที่ตั้งของ จ.พะเยา เป็นจังหวัดที่มีที่ตั้งอยู่ตรงกลางในกลุ่มจังหวัดสามารถเดินทางเชื่อมโยงไปยังจังหวัดอื่น ๆ ในกลุ่มจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียง เช่น จ.น่าน จ.เชียงราย และ จ.แพร่ ได้ในระยะทางอันสั้นและเดินทางได้ไม่ไกลนัก

นอกจากนั้น แพร่ยังมีพื้นที่ติดต่อกับชายแดน สปป.ลาว โดยมีด่านชายแดนบ้านฮวก-กิ่วหก ซึ่งตั้งอยู่ที่อ.ภูซาง จ.พะเยา มีอาณาเขตติดกับแขวงไชยะบุรี สปป.ลาว ซึ่งมีคนจาก สปป.ลาวเดินทางข้ามมายังพะเยา รวมทั้งมีชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น ที่สำคัญ จ.พะเยา มีมหาวิทยาลัยประจำจังหวัดที่มีคณะแพทยศาสตร์ และคณะพยาบาลศาสตร์ และมีโรงพยาบาลของจังหวัดที่มีขนาด 300 เตียง ที่พร้อมจะขยายให้เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ขึ้นได้ในอนาคต

“การสร้างสนามบินขึ้นในพื้นที่ อ.ดอกคำใต้ จะช่วยส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางการแพทย์ของ จ.พะเยา เพราะแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางสามารถเดินทางมารักษาคนไข้ได้ ซึ่งได้มีการศึกษาเบื้องต้นแล้ว ว่าจะสร้างบนพื้นที่ประมาณ 2 พันไร่ แต่ยังติดขัดเรื่องของงบประมาณ แต่โครงการนี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะ สส.ของ จ.พะเยา ก็ระบุว่าจะผลักดันโครงการนี้ในการประชุม ครม.สัญจรครั้งนี้อย่างเต็มที่” นางพัฒน์ชญา กล่าว