ครม.สัญจร เศรษฐานำทีมรัฐมนตรี ดูพื้นที่สร้างสนามบินพะเยา

Settha

ครม.สัญจร พะเยา 18-19 มี.ค. 2567 เศรษฐานำทีม รมว.คมนาคม และ ร.อ.ธรรมมนัส รมว.เกษตรฯ เจ้าของพื้นที่ทางการเมืองลงพื้นที่สร้างสนามบินพะเยา ใช้งบฯ ก่อสร้างเฟดแรก 2,201 ล้านบาท

วันที่ 18 มีนาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปราศรัยบนเวที ในพื้นที่เตรียมสร้างสนามบินพะเยา ในอำเภอดอกคำใต้ ซึ่งมีประชาชน ข้าราชการหลายกระทรวง มารอรับประมาณ 1,000 กว่าคน ว่าวันนี้มาดูสถานที่ที่จะสร้างสนามบินที่จังหวัดพะเยา เพื่อยกระดับเมืองรองให้เป็นเมืองหลัก ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เป็นเมืองหลักได้ คือเรื่องการพัฒนาสนามบิน เป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดองค์ประกอบหนึ่ง

นายเศรษฐากล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ก็มาด้วย จะพยายามเต็มที่ในการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างสนามบินที่นี่ ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ทราบมาว่าจังหวัดนี้มีประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงาม มีอาหารการกินที่ดีมีสถานท่องเที่ยวที่มากมาย

“ผมเชื่อว่าองค์ประกอบการยกระดับเมืองรองให้เป็นเมืองหลักดีอยู่แล้ว เป็นหน้าที่รัฐบาลที่จะสนับสนุนให้พี่น้องประชาชนคนไทยให้มาเที่ยวที่นี่เยอะขึ้น ให้มีความต้องการในการที่จะเดินทางมาที่นี่มากขึ้น เพื่อที่จะรองรับความเป็นไปได้ที่จะสร้างสนามบินแห่งนี้ ขอให้ประขาชนอดใจรอหน่อย ขอให้อดทนนิดนึง เราจะได้มีการศึกษากันอย่างรอบคอบ ใช้เงินภาษีให้คุ้มค่า เชื่อว่าร้อยเอกธรรมนัสอยากให้สนามบินเกิดปีนี้ได้”

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคมกล่าวว่า โครงการนี้จำเป็นต้องศึกษารายละเอียด คาดว่าจะใช้งบประมาณปี 2567 และต้องดูโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจำนวนผู้โดยสารด้วย

ด้านร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร จังหวัดพระเยา วันพรุ่งนี้ (19 มีนาคม 2567) ผู้ว่าฯจังหวัดพระเยา จะเสนอการผลักดันการก่อสร้างสนามบินพะเยา มูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาท เข้าสู่ที่ประชุม ครม.สัญจร รับทราบ ซึ่งที่ผ่านมามีผลการศึกษาโครงการแล้ว หาก ครม.เห็นด้วยจะเสนอขอรับการจัดสรรวงเงินประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อศึกษารายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการต่อไป

ทั้งนี้ ในการผลักดันการพัฒนาสนามบินพะเยาให้สามารถรองรับการเดินทางของพื้นที่ภาคเหนือตอนบนนั้น ที่ผ่านมายังได้หารือกับทางสายการบิน เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดเที่ยวบินมายังสนามบินได้ทันที หลังจากสนามบินก่อสร้างแล้วเสร็จด้วย

สำหรับจังหวัดพะเยา ตั้งอยู่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยมีพื้นที่ประมาณ 3,900,412 ไร่ แบ่งการปกครองออกเป็น 9 อำเภอ โดยแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวขยายตัวเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี จากสถิติพบว่าในช่วงปี พ.ศ. 2552 – 2562 มีผู้มาเยี่ยมเยียนเฉลี่ยต่อปี จำนวน 486,679 คน และมีอัตราการเติบโตร้อยละ 11.15 ต่อปี

ซึ่งการเดินทางมาจังหวัดพะเยายังต้องใช้ท่าอากาศยานใกล้เคียง ได้แก่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย มีระยะทางห่างจากจังหวัดพะเยาประมาณ 103 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที ทั้งนี้ การจัดตั้งท่าอากาศยานพะเยาจะทำให้ผู้เดินทางมีความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี อันเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่สำคัญของประเทศ

ทั้งนี้ การก่อสร้างท่าอากาศยานพะเยา มีพื้นที่โครงการขนาด 2,813 ไร่ ค่าชดเชยอสังหาริมทรัพย์ 1,700 ล้านบาท และประมาณการค่าก่อสร้างรวม 2,201.485 ล้านบาท มีแผนพัฒนาท่าอากาศยานในช่วง 10 ปี 20 ปี และ 30 ปีตามลำดับ โดยในระยะ 10 ปีแรกคาดว่าจะเปิดให้ใช้บริการในปี พ.ศ. 2577 ตามความต้องการใช้ท่าอากาศยานจำนวน 78,348 คนต่อปี และในปี พ.ศ. 2587 ความต้องการจะเพิ่มขึ้นเป็น 94,920 คนต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณความต้องการใช้เครื่องบินขนาด 180 ที่นั่งเหมาะสมกับขนาดลานจอดเครื่องบินและรันเวย์ท่าอากาศยานพะเยา