ปิดฉากภารกิจ 250 สว. โหวตตั้ง 25 องค์กรอิสระ 2 นายกรัฐมนตรี

ภารกิจ สว. 250 คน 2567

ภารกิจของวุฒิสภา 250 คน ถือว่าจบอย่างไม่เป็นทางการ เพราะช่วงเวลาที่เหลือจนถึงวันหมดวาระ 11 พฤษภาคม 2567 จะไม่มีการประชุม สว.ชุดที่มาจากมรดกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อีกแล้ว เนื่องจากปิดสมัยการประชุม

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก สว.ได้สรุปผลงาน 5 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2562 – 2567 สรุปได้ว่า มีการประชุมวุฒิสภาทั้งสิ้น จำนวน 258 ครั้ง ใช้เวลาในการประชุมทั้งสิ้น จำนวน 1,579 ชั่วโมง 55 นาทีโดยประมาณ

มีการปรึกษาหารือก่อนเข้าสู่ ระเบียบวาระการประชุม ตามข้อบังคับข้อ 18 จำนวน 102 ครั้ง มีสมาชิกขอปรึกษาหารือ จำนวน 1,315 เรื่อง ใช้เวลาในการปรึกษาหารือทั้งสิ้น จำนวน 77 ชั่วโมง 5 นาทีผลการดำเนินงานด้านกฎหมาย

ผลการดำเนินงานด้านกฎหมาย

  1. ร่างพระราชบัญญัติ จำนวน 54 ฉบับ แบ่งเป็น
    • วุฒิสภาเห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 77 ฉบับ
    • วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมและสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบด้วย กับการแก้ไขเพิ่มเติมของวุฒิสภา จำนวน 10 ฉบับ
    • วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบด้วย กับร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว จำนวน 4 ฉบับ
    • อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 2 ฉบับ
  2. ตกไป จำนวน 1 ฉบับ
  3. อนุมัติพระราชกำหนด จำนวน 14 ฉบับ
  4. พิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา จำนวน 4 ฉบับ
  5. พิจารณาร่างข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภา และกรรมาธิการ จำนวน 1 ฉบับ
  6. พิจารณารับทราบร่างพระราชกฤษฎีกา จำนวน 1 ฉบับ

ผลการดำเนินงานด้านกระทู้ถาม มีกระทู้ถามที่รับมาดำเนินการ จำนวน 488 กระทู้

  • กระทู้ถามด้วยวาจา จำนวน 167 กระทู้
    • ตอบแล้ว จำนวน 59 กระทู้
    • ตกไป จำนวน 108 กระทู้
  • กระทู้ถามเป็นหนังสือ จำนวน 321 กระทู้
  • กระทู้ถามที่ขอให้ตอบในที่ประชุม จำนวน 170 กระทู้
    • ตอบแล้ว จำนวน 115 กระทู้
    • ค้างตอบ จำนวน 6 กระทู้
    • ตกไป จำนวน 49 กระทู้
  • กระทู้ถามที่ขอให้ตอบในราชกิจจานุเบกษา จำนวน 151 กระทู้
    • ตอบแล้ว จำนวน 112 กระทู้
    • รอตอบ จำนวน 19 กระทู้
    • ตกไป จำนวน 20 กระทู้

ผลการดำเนินงานด้านอื่น ๆ

พิจารณาเลือกหรือให้ความเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งใด ๆ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอื่น จำนวน 58 ครั้ง

ทั้งนี้ เป็นการเห็นชอบต่าง ๆ ดังนี้

ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นชอบไปทั้งหมด 7 คน 1.อุดม สิทธิวิรัชธรรม 2.วิรุฬห์ เสียงเทียน 3.จิรนิติ หะวานนท์ 4.นภดล เทพพิทักษ์ ผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภา เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 และได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 1 เมษายน 2563

5.บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาเมื่อ 13 กรกฎาคม 2563 และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เมื่อ 20 สิงหาคม 2563 6.อุดม รัฐอมฤต ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาเมื่อ 26 ธันวาคม 2565 และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 28 มกราคม 2566 7.สุเมธ รอยกุลเจริญ ผ่านการเห็นชอบจากวุฒิสภา เมื่อ 12 ธันวาคม 2566 โดยได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อ 19 มีนาคม 2567

อนุมัติกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 6 คน 1.ณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา 2.สุชาติ ตระกูลเกษมสุข ผ่านการเห็นชอบของวุฒิสภา เมื่อ 26 พฤษภาคม 2563 ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 (แต่ปัจจุบัน ณัฐจักรพ้นตำแหน่งเพราะอายุครบ 70 ปี) 3.พศวัจณ์ กนกนาถ ผ่านการเห็นชอบเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566 แต่ยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ

4.เอกวิทย์ วัชชวัลคุ สว.เห็นชอบ เมื่อ 30 ตุลาคม 2566 ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2567 5.แมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาเมื่อ 19 ธันวาคม 2566 และได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง เมื่อ 19 มีนาคม 2567 6.ภัทรศักดิ์ วรรณแสง สว.เห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภาให้ดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 อยู่ระหว่างกระบวนการรอโปรดเกล้าฯ

ส่วนผู้ตรวจการแผ่นดิน เห็นชอบ 2 คน คือ รศ.อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ สว.มีมติเห็นชอบ เมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ได้รับการโปรดเกล้าฯ เมื่อ 25 พฤษภาคม 2564 ทรงศักดิ์ สายเชื้อ สว.เห็นชอบเมื่อ 13 กันยายน 2564 ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2564

ด้านคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผ่านการเห็นชอบโดย สว. 2 คน คือ ชาย นครชัย สว.มีมติเห็นชอบเมื่อ 7 สิงหาคม 2566 และได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566 อีกคนคือ สิทธิโชติ อินทรวิเศษ ได้รับความเห็นชอบจาก สว. เมื่อ 18 ธันวาคม 2566 และได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง กกต. เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567

สว.ยังเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระอื่น ๆ อีก ดังนี้ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 1 ราย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน 7 ราย

นอกจากนี้ ยังร่วมพิจารณาเลือกนายกรัฐมนตรีกับสภาผู้แทนราษฎร 2 คน คือ

1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐ โดยรัฐสภามีมติ เมื่อ 5 มิถุนายน 2562 ด้วยคะแนน 500 ต่อ 244 เสียง งดออกเสียง 3 ทั้งนี้ มีเสียง สว.ยกมือให้ถึง 249 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง คือ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สว. ทำหน้าที่เป็นรองประธานรัฐสภา

2.นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย โดยรัฐสภามีมติเมื่อ 22 สิงหาคม 2566 โดย ด้วยคะแนนเสียง 482 ต่อ 165 เสียง โดยมี สว.เห็นชอบ 152 เสียง ไม่เห็นชอบ 13 เสียง งดออกเสียง 68 เสียง

  • พิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการ จำนวน 363 เรื่อง
  • พิจารณารายงานประจำปีของหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ จำนวน 225 เรื่อง
  • พิจารณาญัตติ จำนวน 27 เรื่อง
  • พิจารณารายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผน การปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 270 รายงานสรุปผล การดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ และรายงาน สรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ จำนวน 24 เรื่อง
  • พิจารณารายงานผลการพิจารณาเรื่องร้องเรียนจริยธรรม สมาชิกวุฒิสภาของคณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา จำนวน 2 ครั้ง
  • ตั้งกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาและกรรมาธิการ วิสามัญแทนตำแหน่งที่ว่าง จำนวน 121 ครั้ง

ทั้งหมดคือผลงาน 5 ปี สว. 250 คน เตรียมปิดฉาก