การเมืองร้อนหลังสงกรานต์ ปรับ ครม.-เลือก สว.ชุดใหม่-ยุบก้าวไกล ?

politic

อุณหภูมิการเมืองหลังสงกรานต์ร้อนยิ่งกว่าร้อน เพราะถึงเวลาที่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จะต้องสับเปลี่ยนกำลังในฝ่ายบริหาร ขณะเดียวกัน ในฝ่ายนิติบัญญัติ สมาชิกวุฒิสภา 250 คนที่เป็น “มรดก” จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะหมดอำนาจลง ถือเป็นการ “ปิดฉาก” ระบอบ คสช.อย่างเป็นทางการ ทำให้หลายกลุ่มการเมืองเตรียมตัวเข้าชิงเก้าอี้ สว. 200 คน เพื่อใช้ช่องทางสภาสูงเปลี่ยนการเมือง รวมถึงการยุบพรรคก้าวไกลก็อาจเป็นจุดระเบิดการเมืองอีกครั้งก็เป็นได้

การปรับคณะรัฐมนตรี

แม้จะมีการปฏิเสธกระแสข่าวเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่หลังสงกรานต์เป็นต้นไป การเร่งเกมการปรับ ครม.จะทวีความรุนแรงขึ้นทันที แม้แต่ในพรรคเพื่อไทยก็มีคลื่นใต้น้ำคอยเขย่า เพราะเหตุผลเดียว “คน” อยากเป็นมีมากกว่าตำแหน่งใน ครม. จึงกลายเป็นสมบัติผลัดกันนั่ง

ในพรรคเพื่อไทย รัฐมนตรีที่อยู่ในข่าวจะถูกเปลี่ยนตัว มีทั้ง สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม

พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แม้จะเร่งทำผลงาน แต่เก้าอี้ก็ยังร้อน

เกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย แทบไม่มีบทบาทในกระทรวงมหาดไทย เพราะเป็นกระทรวงที่พรรคภูมิใจไทยดูแล และ “เกรียง” ก็กำกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่มีอธิบดี ซึ่งเป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ แคนดิเดตปลัดกระทรวงคุมกรมอยู่

ไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์ ปรากฏความขัดแย้งกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ ในช่วงฟอร์มรัฐบาลใหม่ ๆ ก็อยู่ในคิวถูกถอด ช่วงหลังมักเห็นการปรากฏกายข้าง “เศรษฐา” เวลาลงพื้นที่ และ “ทักษิณ” ที่ จ.เชียงใหม่

ส่วนแถวสองที่จะขึ้นมาแทน มีทั้ง เผ่าภูมิ โรจนสกุล อาจขยับจากเลขานุการ รมว.คลัง เข้ามานั่งเป็น รมช.คลัง ขณะที่ “ขุนคลัง” คนใหม่ “พิชัย ชุณหวชิร” ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีบทบาทอยู่เบื้องหลังในรัฐบาล เป็นตัวเต็ง

ขณะที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อาจมีชื่อของ “พิชิต ชื่นบาน” ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เข้ามานั่งเก้าอี้ หลังจากเคลียร์ปมคุณสมบัติเรียบร้อย

พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มีโควตา 4 เก้าอี้คือ 2 รัฐมนตรีว่าการ 2 ช่วยว่าการ ในรัฐบาลเศรษฐา ก็จะต้องถูกเขย่า ชื่อของเสี่ยแฮงค์-อนุชา นาคาศัย รมช.เกษตรฯ กับ เสี่ยเฮ้ง สุชาติ ชมกลิ่น อดีต รมว.แรงงาน แกนนำกลุ่มชลบุรี ที่ประกาศว่าตนเองถือ 11 เสียง สส.ในมือ อาจมีใครคนหนึ่งดีใจ แต่อีกคนต้องเสียใจเพราะหลุดเก้าอี้

พรรคพลังประชารัฐ ก็ร้อนไม่แพ้กัน เมื่อชื่อของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม น้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้มากบารมีแห่งบ้านป่ารอยต่อ ถูกชูขึ้นมาเขย่า อย่างไรก็ตาม ชื่อที่อาจเข้ามานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีในโผของพรรคพลังประชารัฐ เช่น ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์, อนันต์ ผลอำนวย มีสิทธิขยับเป็น รมช.เกษตรฯ

ลุ้น สว. 200 คน

อีกด้านหนึ่งเกมเลือก สว.ชุดใหม่ 200 คน อาจกลายเป็น “จุดเปลี่ยน” การเมืองสำคัญอีกบริบทหนึ่ง เพราะ สว.ใหม่มีอำนาจร่วมแก้ไข-อนุมัติ การมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่-ถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติสภาล่าง รวมถึงแต่งตั้งองค์กรอิสระหลายองค์กรที่ “กรรมการ” ต่างทยอยครบวาระ

เนื่องจากวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 สว. 250 คนที่มาจากการสรรหาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 จะถึงคราวหมดอำนาจ หลังอยู่ยาวมา 5 ปี จึงต้องเลือก สว.ใหม่ ตามบทหลักของรัฐธรรมนูญ ซึ่งครั้งนี้มีจำนวน 200 คน เป็นการคัดเลือกกันเองแบบเลือกไขว้ 20 กลุ่ม ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ

ตามไทม์ไลน์ของ กกต.ระบุว่า หลังจาก สว.ชุดเดิมหมดวาระ 1 วัน จากนั้น 12 พฤษภาคม 2567 ตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือก สว.ชุดใหม่, 17 พฤษภาคม 2567 กกต.ประกาศวันรับสมัครและวันเลือกในทุกระดับ

27 พฤษภาคม 2567 เปิดรับสมัครผู้มีความประสงค์จะเป็น สว.

27 พฤษภาคม-2 มิถุนายน 2567 ระยะเวลารับสมัคร

22 มิถุนายน 2567 วันเลือก สว.ลำดับอำเภอ

29 มิถุนายน วันเลือกระดับจังหวัด

9 กรกฎาคม วันเลือกระดับประเทศ

14 กรกฎาคม กกต.ประกาศผลในพระราชกิจจานุเบกษา

นอกจากพรรคการเมืองเบอร์ใหญ่ซุ่มเตรียมส่งตัวแทนลงชิงชัยเพื่อคุมเกมสภาสูง ปรากฏว่ายังมีนักวิชาการ กลุ่มการเมือง เปิดเกมรุกรณรงค์การเลือก สว. อย่างคณะก้าวหน้าปล่อยแคมเปญรณรงค์เลือก สว. 2567 “1 บ้าน 1 ผู้สมัคร” เดินสายรณรงค์ทางความคิด เรียกร้องจากประชาชนให้ลงสมัคร สว.โดยจ่ายเงินค่าสมัคร 2,500 บาท เพื่อบล็อกการเมืองบ้านใหญ่ หากเข้าไปเป็น สว.ก็จะเป็นจิ๊กซอว์ไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ

ลุ้นเคลียร์ทางประชามติ

ขณะที่เกมแก้รัฐธรรมนูญ เว้นหมวด 1 หมวด 2 ตามนโยบายการเมืองของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ยังต้องฝ่าอีกหลายด่าน โดยเฉพาะด่านทำประชามติ จะต้องทำกี่ครั้ง อยู่ระหว่างการพิจารณาตีความของศาลรัฐธรรมนูญ

ย้อนไปเมื่อ 29 มีนาคม 2567 ที่ประชุมรัฐสภามีมติ 233 ต่อ 103 ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ว่าต้องทำประชามติกี่ครั้ง เพราะติดล็อกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 ระบุตอนหนึ่งว่า “รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อน ว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่ กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง”

นำมาสู่ปัญหาที่ว่า จะต้องทำประชามติกี่ครั้ง ก่อนหน้านี้แหล่งข่าวจากทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทยมองว่า ถ้าตีความคำวินิจฉัยของศาลที่ 4/2564 ในขณะนี้ มองได้ว่าจะต้องทำประชามติ 3 ครั้ง

ครั้งแรก ถามประชาชนว่าเห็นชอบกับการมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ครั้งที่สอง ทำประชามติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (8) ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะต้องทำประชามติ

ครั้งที่สาม ทำภายหลังที่สภาร่างรัฐธรรมนูญยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วเพื่อไปขอความเห็นจากประชาชน

อย่างไรก็ตาม การทำประชามติจาก 3 ครั้ง อาจลดลงเหลือ 2 ครั้งได้ จึงต้องส่งให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คนเป็นผู้ชี้ขาด ว่าการถามประชาชนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จะทำพร้อมกับการทำประชามติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (8) ได้หรือไม่ เพราะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 15 เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อลดการทำประชามติเหลือ 2 ครั้ง

ก้าวไกลระทึกยุบพรรค

นาทีนี้ คนการเมืองแทบทุกรายฟันธงไว้ว่า พรรคก้าวไกลจะถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ยื่นยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากมีหลักฐานอันควรเชื่อว่าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้อง) มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรค ผู้ถูกร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567

เพราะก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยพฤติกรรมพรรคก้าวไกล ว่าการที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคในขณะนั้น และพรรคก้าวไกล เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมถึงใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49

หลังสงกรานต์ 17 เมษายนจนถึงต้นเดือนพฤษภาคมจะยังไม่มีการพิจารณายุบพรรคก้าวไกล เพราะศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณาคดียุบพรรคก้าวไกล แต่พรรคก้าวไกลได้ยื่นขอขยายเวลาชี้แจงไปอีก 15 วัน และสามารถขอขยายเวลาได้อีก

เป็นไปตามความเห็นยืนยันของนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่าคงไม่เป็นปัญหาอะไร ก็ให้ชี้แจงและยื่นพยานหลักฐานมาให้ที่ประชุมได้พิจารณา

ส่วนที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) จะขอให้เปิดการไต่สวน ยังไม่สามารถตอบได้ ขึ้นอยู่กับที่ประชุมตุลาการจะพิจารณาดูความพอเหมาะพอควร เพราะการไต่สวนจะต้องดูพยาน หลักฐาน บุคคลต่าง ๆ ซึ่งท่านผู้รู้ทั้งหลายรายก็อยากฟัง เราอาจให้ผู้รู้ทั้งหลายที่เขาอ้างเป็นพยานเข้ามาให้การเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมาศาล

ผลจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ สร้างพรรคก้าวไกลให้ชนะเลือกตั้ง พลิกเกมจัดตั้งรัฐบาลแบบข้ามขั้ว เปิดดีลพิศดารต ส่ง “ทักษิณ” กลับบ้าน ต้องจับตาผลกระเพื่อทมทางการเมือง หากมีการรยุบพรรคก้าวไกลอีกครั้ง