“บิ๊กตู่” ออกกฎแก้โกง “เจ็ดชั่วโคตร” ล้างบางใต้โต๊ะสัมปทาน-โครงการรัฐ

9 ปีเต็มกว่ากฎหมาย “เจ็ดชั่วโคตร” ที่ถูกดอง แล้วก็คลอดออกมาในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. โดยใช้เวลาถกเครียดกว่า 2 ชั่วโมง ในที่สุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนกัดฟันอนุมัติร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. … ออกมาให้ช่วงที่รัฐบาลทหาร-นักเลือกตั้งทุกยุค ถูกวิจารณ์ว่าใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ “ส่วนตัว-เครือญาติ”

มีหลักการเพื่อ “การบริหารงานของรัฐจะต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส เปิดเผยและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ต้องให้ประชาชนปราศจากความเคลือบแคลงสงสัยในความซื่อสัตย์สุจริตและความรับผิดชอบของผู้มีหน้าที่ในการบริหารงานของรัฐ”

ความรับผิดของ “เจ้าหน้าที่รัฐ” มีทั้งทางกว้าง-ทางลึก โดยใช้บังคับกับเจ้าหน้าที่ของรัฐใน “หน่วยงานของรัฐ”

ตั้งแต่ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หน่วยงานอื่นใดที่ดำเนินกิจการของรัฐตามกฎหมายและได้รับเงินอุดหนุนหรือเงินหรือทรัพย์สินลงทุนของรัฐ รวมถึง “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” อาทิ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมือง “คู่สมรส”-“ญาติ” ได้แก่ บุพการี ผู้สืบสันดาน คู่สมรสของบุตร พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน บุตรบุญธรรม ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเกี่ยวพันโดยทางนิตินัยหรือพฤตินัย

หัวใจของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวอยู่ที่มาตรา 5 ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือบุคคลอื่น ซึ่งเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม

ขณะที่วรรคสอง การกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ด้วย อาทิ การกำหนดนโยบายหรือการเสนอหรือให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายซึ่งเอื้อประโยชน์เป็นการเฉพาะต่อกิจการที่ตน คู่สมรส บุตร หรือบิดามารดา มีส่วนได้เสียเกินกว่าส่วนได้เสียตามปกติที่บุคคลทั่วไปมีอยู่ ในกรณีที่เป็นนิติบุคคลการเป็นหุ้นส่วนหรือถือหุ้นร้อยละห้า ถือว่าเป็นการมีส่วนได้เสียเกินกว่าส่วนได้เสียตามปกติ

Advertisment

การใช้ตำแหน่งหรืออำนาจหน้าที่ซึ่งตนมีอยู่โดยทุจริต ไปมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจโดยอิสระในการใช้อำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งดำรงตำแหน่งอื่นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ได้แก่ การอนุมัติ อนุญาต รับจดทะเบียน หรือออกคำสั่งทางปกครองอื่นที่ให้สิทธิประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นเงินได้ หมายถึง การปลดหนี้หรือการลดหนี้ให้เปล่า การให้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย การเข้าค้ำประกันโดยไม่คิดค่าธรรมเนียม การให้ค่านายหน้าหรือค่าธรรมเนียมการเป็นตัวแทน การขายหรือการให้เช่า การซื้อหรือการเช่าซื้อทรัพย์สินต่ำกว่าหรือสูงกว่ามูลค่าจริงตามท้องตลาด เป็นต้น

การให้สัมปทาน ทำสัญญา หรือทำนิติกรรม อันเป็นการให้ประโยชน์แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด การบรรจุ แต่งตั้ง เลื่อนเงินเดือน เลื่อนขั้นเงินเดือน โอน ย้าย ดำเนินการทางวินัย หรือให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งดำรงตำแหน่งอื่นดังกล่าว พ้นจากตำแหน่งหรือพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่

Advertisment

การไม่แจ้งความหรือไม่ร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีอาญา การไม่ฟ้องคดี ไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกา ไม่ดำเนินการอื่นใดเกี่ยวกับคดี หรือให้ถอนคำร้องทุกข์ ให้ถอนฟ้อง ให้ถอนอุทธรณ์ หรือให้ถอนฎีกา ไม่บังคับทางปกครอง ไม่บังคับคดี หรือไม่บังคับตามคำชี้ขาด ทั้งนี้โทษมาตรา 5 จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 7 ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรับของขวัญ ของที่ระลึก เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ วรรคสอง ระบุว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดตามวรรคหนึ่งที่ตนไม่มีสิทธิได้รับ ต้องรายงานและส่งมอบสิ่งนั้นให้หน่วยงานที่ตนสังกัดในโอกาสแรกที่กระทำได้แต่ไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับสิ่งนั้นไว้ และให้สิ่งนั้นตกเป็นของหน่วยงานของรัฐ

วรรคสาม ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่คู่สมรสและญาติของเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งได้รับของขวัญ ของที่ระลึก เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย โดยอนุโลมให้มีหน้าที่แจ้งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทราบในโอกาสแรกที่กระทำได้แต่ไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับสิ่งนั้นไว้ ทั้งนี้ โทษมาตรา 7 จำคุกไม่เกินสามปี ปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 9 ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ไม่ถึงสองปี เป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงาน ลูกจ้าง ผู้รับจ้าง หรือตำแหน่งอื่นในธุรกิจของเอกชน ซึ่งเคยอยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของตนในการกำกับ ดูแล ฝ่าฝืนมีโทษ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 10 ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งพ้นจากตำแหน่งหรือออกจากราชการหรือหน่วยงานของรัฐ กระทำการให้ผู้อื่นล่วงรู้ความลับของหน่วยงานราชการ มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะเดียวกันบุคคลใดรับประโยชน์จากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ คู่สมรส บุตร หรือ ครม. คณะกรรมการข้าราชการรัฐสภา คณะกรรมการการบริหารศาล องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญหรือหัวหน้าหน่วยงานอื่นของรัฐ “โดยรู้เห็นเป็นใจด้วย”

ต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนดไว้ หลังจากนี้สัมปทาน-โครงการของหน่วยงานรัฐ คงต้องสืบสาแหรกกันให้ดี