สนช.ตั้งกมธ.วิสามัญ 38 คน ศึกษาร่างยุทธศาสตร์ชาติ “วิษณุ” ยันไม่ได้ผูกมัดรัฐบาลใหม่จนแก้ไขไม่ได้

แฟ้มภาพ

ที่รัฐสภา สภานิติบัญญัติแห่งขาติ (สนช.) ได้พิจารณาวาระให้ความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติ ที่คณะรัฐมนตรีเสนอ ตามพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำเสนอต่อที่ประชุม สนช. โดยกล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติจะบังคับใช้ประมาณ 20 ปี ตั้งแต่พ.ศ.2561-2580 ช่วงเวลา 20 ปี อาจจะยาวนานจนเกิดความวิตกว่าจะสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร ซึ่งประเด็นนี้กฎหมายได้กำหนดไว้แล้วว่า 1.ต้องมีการทบทวนยุทธศาสตร์ชาติทุก 5 ปี 2.ในระหว่าง 5 ปี ถ้ามีเหตุการณ์บ้านเมืองหรือสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไป คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติแต่ละด้าน สามารถจะยกขึ้นมาพิจารณาและแจ้งให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จากนั้นจะแจ้งมายังคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเพื่อขอดำเนินการแก้ไข จึงไม่เป็นเรื่องซับซ้อนและไม่ได้ผูกมัดรัฐบาลชุดใหม่ในอนาคตจนไม่สามารถทำอะไรได้แต่อย่างใด

นายวิษณุกล่าวว่า เมื่อยุทธศาสตร์ชาติยังบังคับใช้อยู่ ทุกคนทุกฝ่ายจะต้องปฏิบัติตาม แต่หากจะไม่ปฏิบัติตาม ก็ต้องแก้ไขหรือปรับปรุงยุทธศาสตร์ชาติก่อน โดยยุทธศาสตร์ชาติไม่มีรายละเอียดของโครงการ เราจะไม่พบว่ารถไฟความเร็วสูงยาวกี่กิโลเมตร สิ่งเหล่านี้ไม่ได้กำหนดไว้ในร่างยุทธศาสตร์ชาติ เพราะต้องไปทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการต่อไปกันอีกในอนาคต โดยแผนแม่บทจะต้องนำเสนอต่อสภาอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าคณะจัดทำยุทธศาสตร์ชาติจะยกร่างแผนแม่บทให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน

ขณะที่นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้ประเทศไทยได้มีความพร้อมสอดรับกับการแข่งขันกับประเทศต่างๆ และเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในอีก 20 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ สนช.ได้อภิปรายร่างยุทธศาสตร์ชาติอย่างกว้างขวางนานกว่า 4 ชั่วโมง โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยที่ไทยจะมียุทธศาสตร์ชาติ ต่อมา นายกอบศักดิ์กล่าวขอขอบคุณว่า ยุทธศาสตร์จะเป็นหางเสือคัดรัฐนาวาเปลี่ยนแปลงประเทศไทยมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืนเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ในอนาคต นอกจากนี้ มั่นใจว่าใน 6 เดือนข้างหน้าจะมีเครื่องมือที่ขับเคลื่อนประเทศครบทุกด้าน ทั้งแผนยุทธศาสตร์ แผนแม่บทยุทธศาสตร์ ไปจนถึงแผนยุทธศาสตร์กระทรวง จะมีทิศทางเดินข้างหน้าจะเป็นแผนพัฒนาประเทศต่อไป

จากนั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาร่างยุทธศาสตร์ชาติ 38 คน โดยใช้เวลา 22 วัน ก่อนส่งกลับมาให้ที่ประชุม สนช.เห็นชอบประมาณวันที่ 7 ก.ค.