มติ ครม. : ครม.อุบลฯ อัด 1.3 แสนล้าน

อนุมัติทางหลวง 1.1 หมื่นล้าน

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) ครั้งที5/61กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และยโสธร เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 ว่า ครม.มีมติเห็นชอบโครงการที่การประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 เสนอ วงเงินรวมทั้งสิ้น 1.1 หมื่นล้านบาท ดังนี้ 1.การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ จำนวน 19 โครงการ แบ่งออกเป็นการขยายถนนเป็น 4 ช่องทาง 12 สาย ได้แก่

1.ทางหลวงหมายเลข 2169 ยโสธร-เลิงนกทา 2.ทางหลวงหมายเลข 2083 และ 2351 มหาชนะชัย-ค้อวัง-ยางชุมน้อย 3.ทางหลวงหมายเลข 202 ตอนสะพานคลองลำเซ-ปทุมราชวงศา 15 กม. และทางหลวงหมายเลข 202 ยโสธร-อำนาจเจริญ 31.925 กม. 4.ถนนวงแหวนรอบเมืองอุบลฯ ฝั่งตะวันออก ทางหลวงหมายเลข 231

5.ทางหลวงหมายเลข 2178 วารินชำราบ-กันทรลักษ์ 6.ทางหลวงหมายเลข 292 ทางเลี่ยงเมืองยโสธร 7.ขยายผิวจราจรสาย อจ.3022 แยก ทล.212 บ้านพุทธอุทยาน จ.อำนาจเจริญ 4.22 กม. 8.ศึกษาการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี 9.ศึกษาการก่อสร้างถนนเชื่อมสนามบินอุบลราชธานี ระยะทาง 2.518 กม. 10.ทางหลวงหมายเลข 220 ตอนวังหิน-ขุขันธ์ 11.ทำเกาะกลางทางหลวงหมายเลข 2050 อุบลฯ-ตระการพืชผล และ 12.เร่งรัดถนนวงแหวนด้านทิศเหนือ จ.ศรีสะเกษ 15 กม.

ขุดแหล่งน้ำ 40 โครงการ

2.โครงข่ายคมนาคมทางอากาศ ได้แก่ เร่งรัดขยายสนามบินนานาชาติอุบลราชธานีให้เร็วขึ้น จากเดิมกำหนดแล้วเสร็จในปี 2565 ประกอบด้วย 1.ลานจอดเครื่องบินเพื่อรองรับเที่ยวบินเพิ่มขึ้น อาทิ รองรับเครื่องโบอิ้ง 737 จาก 5 ลำ เป็น 10 ลำ 2.สะพานเทียบพร้อมส่วนต่อเติม 2 ตัว 3.อาคารจอดรถยนต์ 4 ชั้น 4.ปรับปรุงต่อเติมร้านค้า 5.ปรับปรุงต่อเติมอาคารที่พักผู้โดยสาร 6.จุดตรวจรถยนต์และบุคคล และเร่งรัดศึกษาสนามบินมุกดาหาร และสนามบินเลิงนกทา เพื่อลดความหนาแน่นของสนามบินอุบลราชธานี

3.โครงข่ายคมนาคมทางราง ได้แก่ 1.เร่งรัดศึกษาโครงการรถไฟทางคู่วารินชำราบ-ช่องเม็ก อุบลราชธานี 2.เร่งรัดศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการรถไฟจากสถานีวารินชำราบ-อำนาจเจริญ-เลิงนกทา เชื่อมโครงการรถไฟทางคู่บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม

4.การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร จำนวน 40 โครงการ และเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย จำนวน 5 โครงการ แบ่งออกเป็น แก้มลิง 20 โครงการ อาคารบังคับน้ำ 8 โครงการ ฝาย 3 โครงการ สูบน้ำด้วยโซลาร์เซลล์ 3 โครงการ ระบบส่งน้ำและกระจายน้ำ 2 โครงการ ประตูระบายน้ำ 4 โครงการ ระบบระบายน้ำและบริหารจัดการน้ำ 1 โครงการ

ขอให้ศึกษาความเหมาะสม 5 โครงการ ได้แก่ 1.ทางผันน้ำฝั่งขวาลำน้ำมูล จ.อุบลราชธานี 2.ลำน้ำยังและลำน้ำชีตอนล่าง (ร้อยเอ็ด-ยโสธร) 3.เพิ่มพื้นที่ชลประทานลำเซบาย 4.เพื่อพื้นที่ชลประทานลำเซบก และ 5.การก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมชุมชนยโสธร

5.การยกระดับการผลิต เช่นโครงการก่อสร้างโรงงานต้นแบบ ด้านอาหารเพื่อแปรรูปสินค้าเกษตร

หนุนรพ.สมเด็จพระยุพราช

6.ด้านคุณภาพชีวิต 4 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการเพิ่มศักยภาพให้บริการของโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ 2.ขอรับการสนับสนุนและยกระดับศูนย์การแพทย์แผนไทย-พนา เป็นศูนย์การแพทย์ครบวงจร บริการคลินิกแพทย์แผนไทย 3.ขอรับการสนับสนุนครุภัณฑ์ในการพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเดชอุดม และที่ดินของมณฑลทหารบก จำนวน 200 ไร่

7.ด้านการท่องเที่ยว สนับสนุนโครงข่ายคมนาคมทางถนนรองรับการท่องเที่ยว ได้แก่ทางหลวง วารินชำราบ-ช่องเม็ก ทำเป็นเกาะกลางถนนตลอดสาย ,ทางหลวงหมายเลข 221 ตอนศรีสะเกษ-ภูเงิน-กันทรลักษ์-เขาพระวิหาร 50 กม. ขยายเป็น 4 ช่องจราจร

อุ้มชาวนาชะลอนาปี 9 ล้านตัน

นอกจากนี้ ครม.มติเห็นชอบมาตรการชะลอขายข้าวเปลือกนาปี 2561/2562 วงเงิน 97,950 ล้านบาท เป้าหมายชะลอข้าว 9 ล้านตัน จำนวน 2 โครงการ 1.โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โดยจ่ายขาด 1,500 บาท วงเงิน 22,506 ล้านบาท คิดเป็นเงินจ่ายขาด 4,088 ล้านบาท โดยจ่ายเงินช่วยเหลือรายละ 1,500 บาท ไม่เกิน 12 ไร่ หรือครัวเรือนไม่เกิน 18,000 บาท เวลาดำเนินการ 1 ก.ย. 61-30 ก.ย. 62 วงเงินจ่ายขาด 57,722 ล้านบาท

2.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มสถาบันเกษตรกร วงเงินสินเชื่อ 12,500 ล้านบาท และเงินจ่ายขาด 507 ล้านบาท เป้าหมาย 2 ล้านตัน โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวร้อยละ 3 เก็บสต๊อก 60-180 วัน เป้าหมาย 5 ล้านตัน วงเงินจ่ายขาด 572 ล้านบาท

ช่วย SMEs 16,500 ล้าน

มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ประกอบการ SMEs ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม วงเงินรวม 16,500 ล้านบาท แบ่งออกเป็น โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 3 วงเงิน 15,000 ล้านบาท วงเงินค้ำประกันต่อราย 10,000-200,000 บาท อายุการค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี ค่าธรรรมเนียมค้ำประกันร้อยละ 1-2 ต่อปี บสย.และรัฐบาลชดเชยค่าประกันร้อยละ 18 คิดเป็น 3,000 ล้านบาท และโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme (PGS) ระยะที่ 7 วงเงิน 150,000 ล้านบาท วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาท ระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี ค่าธรรมเนียมไม่เกินร้อยละ 1.75 ต่อปี บสย.จ่ายค่าประกันชดเชยร้อยละ 24.25 รัฐบาลชดเชยไม่เกิน 13,500 ล้านบาท