10 ปีปฏิวัติ 49-ยุค คสช. เปลี่ยนสูตรเลือกตั้ง 3 หน

มติคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ออกไปประชุมนอกสถานที่ไกลถึง จ.ระยอง ไฮไลต์สำคัญที่นักเลือกตั้งจากทุกค่าย ทุกพรรคจับตา คือการคลอด “กติกา” ที่ใช้ในการเลือกตั้งวันข้างหน้าซึ่งบรรจุอยู่ในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

คือปรับเปลี่ยนเป็นให้ผู้สมัครแต่ละเขตจับสลากเบอร์ของตัวเองตามลำดับการสมัคร ไม่จำเป็นต้องมีเบอร์หมายเลขพรรคเหมือนกัน ซึ่งมิใช่ “เขตเดียวเบอร์เดียว” เหมือนการเลือกตั้งที่ผ่านมา!

ทว่าในรอบ 1 ทศวรรษ ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 บังเกิดรัฐธรรมนูญ 2550 จนถึงปัจจุบัน มีการปรับรูปแบบเลือกตั้ง 3 ครั้ง

ครั้งที่ 1 รัฐธรรมนูญ 50 ให้มีระบบ “พวงใหญ่เรียงเบอร์” มี ส.ส. ทั้งสิ้น 480 คน เขตละไม่เกิน 3 คน จำนวน 400 คน โดยผู้สมัคร ส.ส.เขตจะได้รับเบอร์เรียงต่อกันตามการสมัครของพรรคนั้น ๆ

ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 80 คน จาก 8 กลุ่มจังหวัด ซึ่งหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร 8 กลุ่มจังหวัดจะใช้เบอร์เดียวกัน

ทว่าการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 พรรคพลังประชาชนก็เอาชนะ “คู่แข่งขันทางการเมือง” อย่างพรรคประชาธิปัตย์ชนิดถล่มทลาย ด้วยจำนวน ส.ส. 233 ที่นั่ง ต่อ 164 ที่นั่ง

ครั้งที่ 2 ระหว่างทางในช่วงรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อพรรคชาติไทยพัฒนา-เพื่อแผ่นดิน-ภูมิใจไทย และกิจสังคม ล้วนต้องการตรงกัน ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 โดยเฉพาะระบบเลือกตั้งจาก พวงใหญ่เรียงเบอร์มาเป็น “เขตเดียวเบอร์เดียว” เพื่อรองรับการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554

ครั้งนั้นพรรคร่วมรัฐบาล ผลักดันให้ “บรรหาร ศิลปอาชา” ผู้มีบารมีในพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นตัวตั้ง-ตัวตีในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ งัดข้อกับพรรคประชาธิปัตย์ที่ยังต้องการระบบเขตใหญ่เรียงเบอร์

ทว่าในที่สุด เมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติ ด้วยคะแนน 347 ต่อ 37 งดออกเสียง 42 เห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เปลี่ยนระบบเขตใหญ่เรียงเบอร์มาเป็น “เขตเดียวเบอร์เดียว” อีกครั้ง พร้อมทั้งปรับจำนวน ส.ส.ในสภา จาก 480 คนมาเป็น 500 คน แยกเป็นแบบแบ่งเขต 375 คน และบัญชีรายชื่อ 125 คน เบอร์เดียวทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

และระบบนี้ใช้มาจนกระทั่งรัฐธรรมนูญ 2550 ถูกฉีกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 และปรับระบบสูตรเลือกตั้งใหม่อีกครั้งเป็นครั้งที่ 3