อัยการเปิดขั้นตอนยึดอายัดทรัพย์ 13 พธม. 522 ล.”ปิดสนามบิน” ชี้บังคับคดี10ปี ซุกซ่อนขอศาลไต่สวนสืบทรัพย์ได้

เมื่อวันที่ 24กันยายน ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด และ อนุกรรมการพิจารณาแก้ไขกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ของวิธีพิจารณาความแพ่งสากล สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอธิบายขั้นตอนกฎหมายภายหลังศาลฎีกายกคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาในคดีปิดสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้พลตรีจำลอง ศรีเมือง กับพวก แกนนำพันธมิตร จำนวน 13 คน ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) จำนวน 522 ล้านบาทเศษ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น ว่าหลังจากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 272 และ 273 ศาลจะออกคำบังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาทั้ง 13 คน ปฏิบัติตามคำพิพากษาภายในระยะเวลาและตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด ซึ่งปกติศาลจะให้เวลาในการปฏิบัติตามคำบังคับ 30 วัน หลังจากที่ศาลออกคำบังคับแล้ว หากลูกหนี้ตามคำพิพากษาทั้ง 13 คน ไม่ปฏิบัติตามคำบังคับของศาล ทอท. ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็จะต้องร้องขอต่อศาลให้มีการบังคับคดีโดยวิธียึดทรัพย์สิน อายัดสิทธิเรียกร้องหรือบังคับคดีโดยวิธีอื่น ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 274 และถ้าศาลเห็นว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาทราบคำบังคับแล้วแต่ไม่ชำระหนี้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในคำบังคับ ศาลก็จะออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี และแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบเพื่อดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในหมายบังคับคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 276

มีข้อสังเกตที่สำคัญคือ ตามที่ ป.วิ.พ. มาตรา 274 กำหนดให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องร้องขอต่อศาลให้มีการบังคับคดีภายใน 10 ปี นั้น หมายถึงว่า เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนทั้ง 3 ขั้นตอนดังต่อไปนี้ให้ครบถ้วนภายใน 10 ปี คือ 1. ร้องขอต่อศาลให้ออกหมายบังคับคดี 2. แจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่ามีการออกหมายบังคับคดีแล้ว 3. แถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้น หากได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนทั้ง 3 นี้แล้ว หากมีทรัพย์สินรายการใดที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้แถลงขอยึดไว้ แต่ไม่ได้ทำการยึดทรัพย์สินรายการนั้นภายใน 10 ปี ก็ไม่ตัดสิทธิเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินนั้นต่อไปได้ เพราะถือว่าได้มีการร้องขอต่อศาลให้มีการบังคับคดีภายใน 10 ปี แล้ว และถือว่าเป็นเพียงขั้นตอนการดำเนินงานของเจ้าพนักงานบังคับคดีเท่านั้น ไม่ทำให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหมดสิทธิบังคับคดีแก่ทรัพย์สินรายการดังกล่าวแต่อย่างใด

แต่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะไปบังคับคดีเอาจากทรัพย์สินรายการอื่นเพิ่มเติมในภายหลัง ซึ่งไม่ได้เป็นทรัพย์สินรายการที่แถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ยึดไว้ภายในระยะเวลา10 ปี ไม่ได้ เพราะถือว่าไม่ได้เป็นทรัพย์สินที่มีการร้องขอให้บังคับคดีภายใน 10 ปี จึงเป็นเรื่องต้องห้ามตามกฎหมาย ซึ่งที่กล่าวมานี้ มีคำพิพากษาศาลฎีกาวางแนวทางการบังคับใช้กฎหมายไว้เป็นบรรทัดฐาน

และเมื่อมีการออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีจะมีอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 ในการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาทั้ง 13 คน ด้วย 4 วิธี ดังนี้ 1. ยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา 2. อายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่จะเรียกให้บุคคลภายนอกชำระเงินหรือส่งมอบหรือโอนทรัพย์สิน 3.อายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่จะเรียกให้บุคคลภายนอกชำระหนี้อย่างอื่นนอกจากที่กล่าวมาแล้ว 4.ขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินที่ได้มาจากการยึดหรือการอายัดหรือซึ่งสิทธิเรียกร้องที่ได้อายัดไว้

ในการสืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาทั้ง 13 คน นั้น หาก ทอท. เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีเหตุอันควรเชื่อว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษามีทรัพย์สินที่จะต้องถูกบังคับคดีมากกว่าที่ตนทราบ หรือมีทรัพย์สินที่จะต้องถูกบังคับคดี แต่ไม่ทราบว่าทรัพย์สินนั้นอยู่หรือเก็บไว้ที่ใด หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าทรัพย์สินใดเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ ทอท. มีสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 277 ที่จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้องเพื่อให้ศาลทำการไต่สวนได้ ซึ่งถ้าศาลเห็นสมควร ศาลมีอำนาจออกหมายเรียกลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่เชื่อว่าจะให้ถ้อยคำอันจะเป็นประโยชน์มาศาล เพื่อทำการไต่สวนในเรื่องทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้

และในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่า ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบัญชี เอกสาร จดหมาย หรือวัตถุอื่นใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของลูกหนี้ตามคำพิพากษาอยู่ในสถานที่ที่บุคคลอื่นครอบครองอยู่ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลออกหมายค้นสถานที่นั้นได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 283

นอกจากนี้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 282 ให้อำนาจเจ้าพนักงานบังคับคดีในการค้นสถานที่และตรวจสอบและยึดบัญชี เอกสาร จดหมาย หรือวัตถุอื่นใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของลูกหนี้ตามคำพิพากษามาเพื่อตรวจสอบ และมีอำนาจเปิดสถานที่รวมทั้งตู้นิรภัย ตู้ หรือที่เก็บของอื่น ๆ ได้ ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือมีบัญชี เอกสาร จดหมาย หรือวัตถุอื่นใดเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของลูกหนี้ตามคำพิพากษาอยู่ในสถานที่ที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาครอบครองหรือครอบครองร่วมกับผู้อื่นได้ด้วย

มีข้อควรพิจารณาว่า ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 301 และมาตรา 302 บัญญัติเรื่องทรัพย์สิน เงินและสิทธิเรียกร้องเป็นเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีไว้หลายประเภท เช่น เครื่องใช้สอยส่วนตัว ราคาไม่เกินสองหมื่นบาท สิ่งของ เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการประกอบอาชีพหรือประกอบวิชาชีพเท่าที่จำเป็นในการเลี้ยงชีพของลูกหนี้ตามคำพิพากษาราคารวมกันโดยประมาณไม่เกินหนึ่งแสนบาท ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่เป็นของส่วนตัวโดยแท้ และ เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ค่าชดใช้ เงินสงเคราะห์ หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของพนักงาน ลูกจ้าง หรือคนงาน ที่ไม่ได้เป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ หรือลูกจ้างในหน่วยราชการ เป็นจำนวนรวมกันไม่เกินเดือนละสองหมื่นบาทหรือตามจำนวนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร เป็นต้น ดังนั้น จึงมีทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหลายประเภทซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามกฎหมาย

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์