‘บิ๊กตู่’ ถมเงินท่วมหมู่บ้าน กองทุน-เงินกู้…ปักหมุดกระตุ้นเศรษฐกิจ

เงินกู้ 4 แสนล้านบาท ตามเป้าหมายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่แบ่งจาก พ.ร.ก.เงินกู้ก้อนใหญ่ 1 ล้านล้าน นำมากระตุ้นเศรษฐกิจ-ถอนพิษโควิด-19

“พล.อ.ประยุทธ์” นายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการประเทศ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะทรุดหนัก และยาว 6-9 เดือน

“สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ จะได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างเต็มที่ กระทบต่อการลงทุน การส่งออกและการท่องเที่ยวภายในประเทศ

3 โครงการฟื้นชีพเศรษฐกิจ

จึงปักหมุดใช้เงินกู้ 400,000 ล้านบาท3 ข้อ 1.การสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เข้มแข็ง เชื่อมโยงกับการตลาดและการท่องเที่ยว 2.การนำระบบดิจิทัลมาช่วยสร้างฐานข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย และ 3.การทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นไปเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค (regional hub)

“โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน 400,000 ล้านบาท ดังกล่าวจะต้องมีแผนที่ปฏิบัติได้ และมีขั้นตอน โดยจะเริ่มจากการนำคนมาฝึกอบรม ซึ่งส่วนนี้รัฐบาลจะให้เงินเป็นค่าจ้างให้คนมาอบรมด้วย เพื่อให้คนเหล่านั้นมีรายได้ และหลังจากอบรมการประกอบอาชีพแล้วจะสนับสนุนสินเชื่อโดยให้ดอกเบี้ยต่ำและหาตลาดให้ โดยอยากให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีปั๊มน้ำมันอยู่ทั่วประเทศมาช่วยขายสินค้าการเกษตร เช่น แทนที่จะเติมน้ำมันแล้วแถมน้ำดื่ม อาจเป็นการให้ผลไม้แทนรวมทั้งการดึงเกษตรกรอัจฉริยะ หรือสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เข้ามาช่วยเป็นแกนนำ”

ตั้งกรอบ 4 ข้ออนุมัติโครงการ

ด้านสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่มี “ทศพร ศิริสัมพันธ์” นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ตามมาตรา 7 ของ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านตั้งกรอบการอนุมัติโครงการ 4 ข้อ ได้แก่

1.โครงการที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์

2.โครงการพัฒนาและเพิ่มแหล่งน้ำในชนบท ซึ่งเมื่อมีแหล่งน้ำ ชลประทานที่ดีขึ้นก็จะทำให้สามารถเพิ่มการเพาะปลูกได้

3.การฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน และพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งในช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะซ่อมแซม ทะนุบำรุงแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ให้มีความพร้อมรองรับแหล่งท่องเที่ยวเมื่อโควิด-19 คลี่คลายแล้ว

4.โครงการเกี่ยวกับการฝึกและพัฒนาอาชีพให้กับคนในท้องถิ่น

ห่วงตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

อย่างไรก็ตาม การใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาท กำลังกลายเป็นตำบลกระสุนตก เมื่อ “คนการเมือง” ไม่ว่าฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน ต่างตั้งคำถามว่า 4 แสนล้านจะกลายเป็นตำน้ำพริกละลายแม่น้ำหรือไม่

“กนก วงษ์ตระหง่าน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงมาตรการการใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลออกเป็นพระราชกำหนด ในส่วนของการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท ใช้จ่ายไปยังภาคการเกษตรเพื่อรองรับเกษตรกรชนบท และแรงงานคืนถิ่น ว่าความล้มเหลวของหลายโครงการจากรัฐบาลที่ผ่าน ๆ มานั้น คือการไม่เปลี่ยนความคิดและการกระทำของประชาชน มอบแต่เงินลงไปกับแรงของข้าราชการ ดังนั้นเมื่อเงินหมด โครงการหยุด ข้าราชการกลับ ชาวบ้านก็กลับไปยากจนเหมือนเดิม

“วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” โฆษกพรรคก้าวไกล มองว่า 4 แสนล้าน เหมือนตีเช็คเปล่า ไม่มีกรอบการใช้จ่ายใด ๆ ที่ชัดเจน ก้าวไกลตั้งกรอบสั้น ๆ ว่า อย่าให้เหมือนโครงการไทยนิยม ยั่งยืน เรากลัวว่าจะเป็นโครงการขุดลอกคูคลองสู้ภัยโควิด ชุมชนเข้มแข็งสู้ภัยโควิด ผักสวนครัวรั้วกินได้สู้ภัยโควิด รถดับเพลิงสู้ภัยโควิด ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งกรอบที่ตั้งไว้ตรวจสอบ คือ เราสามารถพยุงการจ้างงานได้หรือไม่พยุงกำลังซื้อในประเทศได้หรือไม่ และพยุง SMEs ได้หรือไม่ ทำให้เกิดการว่าจ้างงานกันต่อได้หรือไม่

“สุทิน คลังแสง” ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยใช้เงิน 4 แสนล้านบาท รัฐบาลคิดแบบเดิมขุดลอก ถนนหนทาง บ่อน้ำ เหมือง ฝาย เหมือนเดิม เราดูความคิดคร่าว ๆ ฝ่ายค้านเป็นห่วง เหมือนเอาเงินมาทิ้งเปล่า ๆ เงินก้อนนี้ผ่านไปปุ๊บ หมดแม็ก 1.9 ล้านล้าน ถ้าจีดีพีไม่กระดิกแล้วจะหาเงินมาจากที่ไหน จะหามาจากไหนอีก อย่างนี้ต้องรอบคอบ ฟังกันมาก ๆ แต่รัฐบาลจะฟังเสียงท้วงติงได้ ต้องประชุมสภาให้ได้เสียก่อน

5 ปีเทงบฯท้องถิ่น 3.6 แสนล้าน

ย้อนไปดูโครงการที่รัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินลง “ท้องถิ่น” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ตั้งแต่ “พล.อ.ประยุทธ์” เปิดท่อกระตุ้นเศรษฐกิจแบบบิ๊กลอต

1 ก.ย. 2558 ครม.มีมติ อนุมัติโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ตำบลละ 5 ล้านบาท จำนวน 7,255 ตำบล วงเงินรวม 36,275 ล้านบาทและ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2558 อนุมัติวงเงินเพิ่มเติมอีก 1,830 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานราก เกิดการจ้างงานในพื้นที่ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน

13 ก.ย. 2559 ครม.เห็นชอบ “มาตรการสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจและสังคมภายในท้องถิ่น” เพื่อปลดล็อกและจูงใจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศนำเงินสะสมมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ เพื่อจูงใจให้ อปท.พัฒนาและแก้ไขปัญหาในท้องถิ่นร่วมกับภาครัฐ รวมถึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศระหว่างปลายปี 2559 ถึงกลางปี 2560 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว วงเงิน 19,795 ล้านบาท

โดยใช้งบประมาณของรัฐบาลในลักษณะเงินอุดหนุนเฉพาะกิจและเงินสะสมของ อปท.อย่างละครึ่ง หรือฝ่ายละ 9.8 พันล้านบาท โดย อปท. 7,851 แห่งทั่วประเทศต้องเสนอโครงการและได้รับความเห็นชอบภายในไตรมาสที่ 1ของปีงบประมาณ 2560 จากนั้นต้องเบิกจ่ายภายในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีงบประมาณ

27 มี.ค. 2561 ครม.เห็นชอบโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ ตาม “โครงการไทยนิยม ยั่งยืน” หมู่บ้าน/ชุมชนละ 2 แสนบาท มีเป้าหมาย 82,371 หมู่บ้าน ชุมชน สนับสนุนงบฯหมู่บ้าน ชุมชนละไม่เกิน 200,000 บาท เป็นเงิน 16,474.20 ล้านบาท

โดยเป็นโครงการ หรือกิจกรรมที่คณะกรรมการหมู่บ้าน ชุมชน ได้รับข้อมูลปัญหาความต้องการจากเวทีประชาคมไทยนิยม ยั่งยืน หรือจากแผนพัฒนาหมู่บ้าน หรือชุมชน ที่สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิต

29 ส.ค. 2562 กระทรวงมหาดไทยทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ยกเว้นการใช้จ่ายเงินสะสมของ อปท. ตามนโยบายรัฐบาลที่กระตุ้นเศรษฐกิจ 5 ด้าน 1.ด้านโครงสร้างพื้นฐาน 2.ด้านการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน 3.ด้านเศรษฐกิจและสังคม 4.ด้านส่งเสริมการท่องเที่ยว และ 5.ด้านการศึกษา ซึ่งรัฐบาลตรวจสอบในเวลานั้นว่า เงินในลิ้นชักงบฯท้องถิ่นตอนต้นปี 2562 มีเงินอยู่กว่า 293,360 ล้านบาท

กดเครื่องคิดเลข-คิดเป็นตัวเลข ที่รัฐบาล “กดปุ่มจ่ายเงินพิเศษ” ผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นไปแล้วกว่า 367,734 ล้านบาท

ทุ่มกองทุนหมู่บ้าน 8.4 หมื่นล้าน

ขณะเดียวกันในปี 2559-2562 ยังมีโครงการที่รัฐบาลส่งเงินตรงถึงชุมชน ด้วยการ “เติมเงิน” ลงไปในกองทุนหมู่บ้านเพิ่มจากเงินก้นถุง 1 ล้าน ที่มีอยู่เดิม ภายใต้โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ ทั้งนี้ ในปี 2559 เติมเงินลงไปในกองทุนหมู่บ้านวงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท กองทุนละไม่เกิน 5 แสน

ปี 2560 โครงการเพิ่มศักยภาพหมู่บ้านและชุมชนเพื่อความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท กองทุนละไม่เกิน 2 แสนบาท

ปี 2561 โครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืนโดยศาสตร์พระราชาตามแนวทางประชารัฐ วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท กองทุนละไม่เกิน 3 แสนบาท

ปี 2562 โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน วงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท กองทุนละไม่เกิน 2 แสนบาท สามารถนำเงินไปสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพในด้านการประกอบอาชีพ ด้านการผลิต การแปรรูป การบริการของประชาชน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การจ้างแรงงาน การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ทั้งนี้ รวม 4 ปี มีเม็ดเงินผ่านกองทุนหมู่บ้าน 84,000 ล้านบาท เมื่อนำมาบวกกับเงินผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น ผ่านโครงการต่าง ๆ อีก 367,734 ล้านบาทเม็ดเงินที่ลงไปท้องถิ่น รวมทั้งหมด 451,734 ล้านบาท

ทำให้ในขณะนี้หมู่บ้านที่ได้รับการจัดสรรเงินจากกองทุนจะได้รับเงินหมู่บ้านละ 1.2 ล้านบาท

ท้องถิ่นแจกเงิน 3 พัน

และเมื่อโควิด-19 ระบาด 9 เม.ย. 2563 มหาดไทยทำหนังสือถึงผู้ว่าฯทั่วประเทศ ปลดล็อกให้ท้องถิ่นสามารถใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบฯกลาง ประเภทเงินสำรองจ่าย และหมวดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือเงินสะสม ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติให้ยกเว้นการใช้จ่ายเงิน ช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์โควิด-19 ได้ อาทิ เพื่อเกิดการจ้างงาน ในโครงการจ้างเหมาบุคคลทำความสะอาดสถานที่สาธารณะ จ้างเหมารักษาความปลอดภัยสถานที่ราชการ

อีกทั้งยังมีโครงการหนุนท้องถิ่น จ้างงาน-ส่งเสริมอาชีพพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันโควิด-19 ใช้ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอํานาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2560 ข้อ 16 (2) ประกอบกับระเบียบกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการว่าด้วยการสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่งพ.ศ. 2552 ข้อ 8

ให้ “ท้องถิ่น” สามารถช่วยเหลือด้าน “การเงิน” หรือ “สิ่งของ” ไม่เกินครั้งละ 3,000 บาท/ครอบครัว และให้ความช่วยเหลือติดต่อกันได้ไม่เกิน 3 ครั้ง/ต่อปีงบประมาณ

5 ปีเศษ “พล.อ.ประยุทธ์” ในเก้าอี้นายกฯ อนุมัติโครงการ/เงิน กับการกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้ว 4 แสนกว่าล้านแต่ดูเหมือนยังไม่ออกดอกออกผล

และถ้าเงินกู้ 4 แสนล้านบาท ที่ส่วนหนึ่งจะลงไปสู่ท้องถิ่น ไม่ถูกบริหารจัดการให้ดี อาจกลายเป็น “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” ครั้งใหม่