27 วันของ “ปรีดี” ได้อะไร-เสียอะไร “ไพรินทร์” มีลุ้นใน “ประยุทธ์2/3”

การลาออกจาก “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง” ของ “ปรีดี ดาวฉาย” ภายหลังจากดำรงตำแหน่งได้เพียง 27 วัน “ได้ไม่คุ้มเสีย”

27 วันของนายปรีดี ได้อะไรบ้าง-เสียอะไรบ้าง 1.ได้ปลดล็อกผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) – คนตัวเล็กให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน และการปรับโครงสร้างหนี้ (ดีอาร์บิส) ให้กับภาคธุรกิจและประชาชนบางส่วน

2.ได้ออกมาตรการรัฐ-เอกชนร่วมจ่าย (Co-pay) ในการจ้างงาน 2.6 แสนตำแหน่งสำหรับ “นักศึกษาจบใหม่” และ 3.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ “คนละครึ่ง” แจกคนละ 3,000 บาท จำนวน 15 ล้านคน

ทว่า สิ่งที่นายปรีดี “ต้องเสียไป” คือ การกลับเข้าไปในทำงานในภาคเอกชนที่เคยดำรงตำแหน่งก่อนนี้ ทั้งในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทชื่อดังหลายแห่ง เช่น กรรมการบริษัทเงินทุน ภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน) กรรมการบริษัท เมืองไทย กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด กรรมการบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)

ทำให้หลังจากนี้นายปรีดีต้องอยู่ “นอกวงโคจร” ภาคเอกชน การเงิน-การธนาคารถึง 2 ปี

เนื่องจากตำแหน่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง” ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 หมายถึง “เจ้าพนักงานของรัฐ” หรือ “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง”

หมวด 6 การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม มาตรา 127 ห้ามมิให้กรรมการ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง และ “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ที่คณะกรรมการป.ป.ช.กำหนด ดำเนินการใดตามมาตรา 126 (4) ภายในสองปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง

มาตรา 126 (4) กำหนดว่า (ห้าม) เข้าไปมีส่วนได้เสียในฐานะเป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงาน หรือ ลูกจ้างในธุรกิจของเอกชนซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแล ควบคุม หรือ ตรวจสอบของหน่วยงานของรัฐที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นสังกัดอยู่ หรือ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ซึ่งโดยสภาพของผลประโยชน์ของธุรกิจของเอกชนนั้นอาจขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วนรวม หรือ ประโยชน์ทางราชการ หรือ กระทบต่อความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้น

หมวดบทลงโทษ มาตรา 170 เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 127 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

ทำให้นายปรีดี ไม่สามารถเข้าไปดำรงตำแหน่ง ประธาน-กรรมการ-ที่ปรึกษา แม้กระทั่งพนักงานในบริษัทเอกชนที่อยู่ภายใต้การกำกับ ดูแล ควบคุม หรือ ตรวจสอบของกระทรวงการคลัง ภายในระยะเวลา 2 ปี

ขณะที่ “ว่าที่ รัฐมนตรีคลัง” คนใหม่ ในยุค “ประยุทธ์2/3” มีชื่อ “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” 1 ในคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ในช่วงปลายยุคคสช. – ก็ติดบ่วงกฎหมาย ป.ป.ช.

เขาออกจากคณะผู้จัดทำแผนกู้วิกฤตการบินไทย และ ไม่ติดโผการปรับครม.ประยุทธ์ 2/2 ที่ผ่านมา ทว่านั่งอยู่ “เบื้องหลัง” การกุมบังเหียนเศรษฐกิจใน ครม.ประยุทธ์ 2/2 ในฐานะประธานขับเคลื่อนมาตรการเศรษฐกิจ ใน ศบศ.

นอกจากนี้นายไพรินทร์ยังมีคดีที่ค้างอยู่ใน ป.ป.ช. และในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซึ่งขณะนี้ถูก “จำหน่ายออกจากระบบชั่วคราว” เนื่องจากต้องรอคำตัดสินของ ป.ป.ช.ก่อน

คดีในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางอย่างน้อย 1 คดี คือ คดีหมายเลขดำที่ อท.337/2560 ฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สถานะคดีล่าสุด จำหน่ายคดีออกจากสารความชั่วคราว เพื่อรอผลการดำเนินการคณะกรรมการ ป.ป.ช.

สำหรับคดีคาใน ป.ป.ช. อาทิ 1.กรณีร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ กรณีบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ขาดทุน 5,235 ล้านบาท เมื่อปี 2557 แต่ยกหนี้ จำนวน 224 ล้านบาท ให้กระทรวงการคลัง ทำให้ ปตท. และ IRPC ได้รับความเสียหาย ขณะดำรงตำแหน่ง ซีอีโอ ปตท.และประธานบอร์ด IRPC

2.คดีทุจริตในโครงการจัดหาที่ดินเพื่อปลูกปาล์มและผลิตปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซีย สมัยนายไพรินทร์เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT)

อย่างไรก็ดี การที่นายไพรินทร์นั่งอยู่ข้างหลังทีมเศรษฐกิจประยุทธ์ 2/2 เป็นเงาของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอาจเป็นเรื่องดี เพราะหากต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีไปก็ต้อง “เว้นวรรคทางธุรกิจ” ระยะเวลา 2 ปี เช่นกัน

เช่นเดียวกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และก๊วนสี่กุมาร ที่ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีก่อนหน้าที่ ได้แก่ 1.นายอุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

2.นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 3.นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ 4.นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง (ข้าราชการการเมือง)

ที่เข้าข่ายมาตรา 127 ประกอบ 126 (4) ของ พ.ร.ป.ป.ป.ช. ห้ามเข้าไปมีตำแหน่งในภาคเอกชนที่ตัวเองเคยไปกำกับ-ออกนโยบายเศรษฐกิจเพื่อป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์

ต้องว่างงานตามกฎหมาย 2 ปี