จรัญ : ตุลาการในงานพระราชา รับสนองพระปฐมบรมราชโองการ

หนึ่งในพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องหนึ่งคือด้านกฎหมาย

“จรัญ ภักดีธนากุล” ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ในฐานะที่ได้เคยเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งผู้พิพากษา ได้ถ่ายทอดถึงหัวใจของพระบรมราโชวาทของพระองค์ที่มีต่อข้าราชการตุลาการ รวมถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ช่วยคลี่คลายความเดือดร้อนของพสกนิกร และการแก้วิกฤตการเมืองที่ไม่มีใครเห็นทางออกนอกจากพระองค์

Q : หลักแห่งความยุติธรรมที่ในหลวงพระราชทานนำไปปรับใช้อย่างไร

ผมประทับใจในพระปฐมบรมราชโองการของรัชกาลที่ 9 ชัดเจนว่าพระองค์ท่านทรงปกครองแผ่นดินนี้โดยธรรม ไม่ได้ปกครองด้วยอำนาจหรืออาชญา ไม่ได้ปกครองตามอำเภอใจ ไม่ได้ทรงใช้แต่กฎหมายอย่างเดียว

ที่น่าภาคภูมิใจ เรามีพระประมุขที่มีหลักการปกครองที่เป็นอารยะมากที่สุด และเมื่อเราเข้ามาทำงานเป็นข้าราชการ ทำงานของพระราชา ก็จำเป็นต้องน้อมนำเอาพระปฐมบรมราชโองการของพระองค์ท่านมาประพฤติปฏิบัติให้เกิดผลให้ได้ ซึ่งยากมากที่จะใช้อำนาจหน้าที่ให้เป็นไปโดยธรรม ถูกต้อง เป็นธรรมอย่างแท้จริง

ส่วนที่สองของพระปฐมพระบรมราชโองการองค์นั้นคือ เป้าหมายของการปกครองของพระมหากษัตริย์ไทย มุ่งไปที่ประโยชน์และความสุขของมหาชนชาวสยาม หมายความว่าพระราชภารกิจต่าง ๆ ไม่ใช่เพื่อความสุขของพระองค์เอง ไม่ใช่เพื่อความยิ่งใหญ่ของพระองค์ แต่เพื่อให้บังเกิดผลเป็นความสุขความเจริญของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ พระราชปณิธานใหญ่ข้อนี้ต้องนำมาเป็นหลักชัยให้มั่นคงไว้ให้ได้

Advertisment

Q : กับการทำงานภายใต้พระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์

เป็นภาระที่หนักมาก เพราะการที่พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พวกเราผู้พิพากษา ตุลาการทั้งหลายทำหน้าที่ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่เป็นไปเพื่อทำให้เราลืมตัวว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในแผ่นดิน จะทำอะไรได้ตามใจชอบ หลักการข้อนี้มีขึ้นเพื่อให้เราตระหนักระลึกรู้อยู่เสมอว่า ภารกิจที่เรากำลังทำถือว่าเป็นภารกิจของพระราชา

Advertisment

เมื่อทรงไว้วางพระราชหฤทัยมอบหมายให้เรามาทำหน้าที่ในพระปรมาภิไธยของพระองค์ท่าน เราทำให้ผิดพลาดไม่ได้ ทำไปตามทิฐิมานะส่วนตัวเองไม่ได้

เพราะถ้าทำไม่ดีความเสื่อมเสียก็เกิดแก่องค์พระมหากษัตริย์ แต่ถ้าเราทำตามภารกิจหน้าที่ของเราได้มาตรฐาน ได้ถูกต้องเป็นธรรมมากเท่าใด ประโยชน์และความสุขก็จะเกิดแก่สังคมมากเท่านั้น และจะเป็นการเชิดชูพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ เป็นกุศโลบายที่สังคมมอบให้กับผู้พิพากษาของไทยทุกคน เพื่อจะได้ทำหน้าที่การงานให้เป็นไปตามพระปฐมบรมราชโองการให้ดีที่สุด

Q : พระบรมราโชวาทครั้งไหนที่ฟังแล้วรู้สึกประทับใจมากที่สุด

ทุกครั้งที่พระองค์ทรงมีกระแสรับสั่งให้พวกเราได้รับฟัง พระองค์ท่านไม่เคยพลาดเลยที่จะทรงเน้นย้ำว่า พวกเราทำงานโดยใช้กฎหมาย แต่กฎหมายไม่ใช่จุดหมายปลายทางแต่เพียงอย่างเดียว กฎหมายเป็นเครื่องมือ

สำหรับพวกเราใช้ประสิทธิ์ประสาทอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนและสังคมให้มากที่สุด สิ่งที่สังคมคาดหวังจากผู้พิพากษา ตุลาการคือความยุติธรรม เพราะถึงแม้เราจะทำหน้าที่ไปถูกต้องตามกฎหมาย แต่ถ้าสิ่งที่บังเกิดขึ้นแก่สังคมและประชาชนที่เกี่ยวข้องนั้นไม่ยุติธรรม ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นธรรม นั่นก็เป็นการใช้กฎหมายอย่างไม่ถูกวิธี ไม่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และตามแนวทางของพระราชาของพวกเรา

ดังนั้นสำนึกนี้สืบทอดต่อมาว่าเราจะทอดทิ้งความยุติธรรมไม่ได้ แม้มันจะยากแสนยากที่จะสแกนหาว่าความถูกต้องเป็นธรรมในแต่ละคดี แต่ละกรณีอยู่ตรงไหน ก็ต้องพยายามที่จะทำให้แม่นยำ เพื่อความเจริญของสังคม เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยามให้ได้มากที่สุด

Q : พระองค์ทรงเข้าใจหลักนิติศาสตร์อย่างถ่องแท้ 

ข้อนี้เป็นที่ยอมรับกันในบรรดานักกฎหมายไทย เรียกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ ตัวอย่างหนึ่งที่พวกเราประทับใจมากที่สุด เมื่อประเทศมีปัญหาประชาชนในต่างจังหวัดถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกป่าสงวนเป็นจำนวนนับหมื่นครอบครัว

ทั่วประเทศ พวกเรานักกฎหมายในระยะแรกไม่รู้จะหาทางช่วยเหลืออย่างไร เพราะตามกฎหมายบริเวณพื้นที่ที่เขาอยู่เป็นเขตป่าสงวนจริง กฎหมายก็บัญญัติชัดเจนว่าผิดกฎหมาย

แต่มีกระแสรับสั่งครั้งหนึ่งว่า ให้พิจารณาดูว่าคนไปบุกรุกป่า หรือ ป่าบุกรุกคน แนวความคิดคือ ถ้าเดิมเขตพื้นที่นั้นเป็นป่าสงวนเขตสมบัติของชาติอยู่ก่อนแล้ว คนที่เข้าไปบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า นั่นถือว่ามีความผิด การดำเนินคดีลงโทษก็เป็นไปตามกฎหมายถูกต้อง และเป็นธรรม แต่สำหรับคนที่อยู่ในพื้นที่นั้นมาตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ทวด มีหลักฐานชัดเจน มีวัดวาอารามก่อนที่จะประกาศให้พื้นที่นั้นเป็นบริเวณเขตป่าสงวน ก็มิใช่เรื่องประชาชนไปบุกรุกป่าเสียแล้ว แต่เป็นเรื่องป่าบุกรุกคน

นี่แหละเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เราเห็นเลยว่า พระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพทางด้านหลักกฎหมายและหลักความยุติธรรมอย่างลึกซึ้งมาก ทรงหาทางออกในเรื่องนี้ให้แก่ประเทศและประชาชนได้อย่างเป็นธรรมที่สุด แยกแยะระหว่างคนที่อยู่ในพื้นที่นั้นตั้งแต่ดั้งเดิมก่อนที่จะมีประกาศเป็นป่าสงวน คนพวกนี้ควรได้รับการดูแล จะเอากฎหมายไปดำเนินคดีนั้นไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม

Q : มีพระราชดำรัสครั้งไหนที่ทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนไปตลอดกาล

ผมประทับใจมากที่สุดอยู่เหตุการณ์หนึ่ง เมื่อครั้งที่นักข่าวต่างประเทศได้รับพระราชทานพระบรมราชวโรกาสเข้าสัมภาษณ์พระองค์ท่าน และคำถามหนึ่งนักข่าวถามถึงสถานการณ์ขณะนั้น

ที่ประเทศไทยและรัฐบาลไทยกำลังต่อสู้อยู่กับการแพร่ขยายตัวของลัทธิสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ นักข่าวทูลถามว่า พระองค์ท่านจะมั่นใจได้ไหม แค่ไหน ว่ารัฐบาลไทย ประเทศไทยจะชนะสงครามกับคอมมิวนิสต์ ในการต่อสู้เมื่อ พ.ศ. 2500-2518 คำถามนี้ พระองค์ทรงตอบอย่างชนิดที่เราฟังแล้วชื่นใจ ตื้นตันใจมาก พระองค์ทรงตอบว่า เราไม่เคยรบกับคอมมิวนิสต์ ไม่เคยทำสงครามกับประชาชน เราต่อสู้กับความยากจนของประชาชน แล้วเราจะต้องทำให้ชนะสงครามครั้งนี้ให้จงได้

เพราะการต่อสู้เอาชนะความยากจนของประชาชนนั้นคือทางหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์และความสุข รวมไปถึงประชาชนที่หลงผิดไปจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลอยู่ในขณะนั้นด้วย ดูสิ…ทำไมพระองค์ท่านถึงมีทั้งสติปัญญา มีทั้งไหวพริบปฏิภาณ และที่เหนือกว่านั้นคือหัวใจ หัวใจของพระองค์ท่าน ไม่เคยมีหลักคิดหรือคำตอบนี้จากที่ไหนเลย ไม่ใช่รบชนะคอมมิวนิสต์ แต่เอาชนะความยากจน นี่ไม่ใช่เป็นประโยชน์สำหรับประเทศไทยที่ทำให้รัฐบาลหลังจากนั้นได้คิด…ว่าเราไปรบกับคอมมิวนิสต์จะไปชนะได้อย่างไร แต่รบกับความยากจนถ้าชนะได้ มันปิดกั้นการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองไปสู่ระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ได้อย่างถาวร จึงนำมาสู่กระบวนการร่วมกันพัฒนาประเทศไทยใน พ.ศ. 2523 นโยบาย 66/2523 ต้องถือว่าเป็นผลผลิตมาจากพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเหตุการณ์ดังกล่าวแน่นอน (เน้นเสียง) แล้วไม่ใช่ให้กับคนไทยเท่านั้น นี่คือแนวทางการต่อสู้ของฝ่ายเสรีนิยมในสงครามเย็น กับสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ไม่ใช่เอากองกำลังทหารเข้าไปโค่นล้มเข่นฆ่ากัน

และความในตอนท้าย…ยิ่งประทับใจมากกว่านี้ เพราะพระองค์ทรงให้เหตุผลไว้ด้วยว่า เมื่อเราชนะความยากจนของประชาชน สันติสุขจะบังเกิดแก่ประชาชนทุกคนในแผ่นดินนี้ รวมทั้งประชาชนที่หลงผิดไปกับอุดมการณ์สังคมนิยมคอมมิวนิสต์เหล่านั้นด้วย ผมจำได้ว่าคำที่พระองค์ท่านตรัสคือ “แม้พวกเขาก็จะได้รับประโยชน์จากชัยชนะในสงครามครั้งนี้ด้วย ไม่ใช่ไปทำลายเขา” นี่เป็นการตอบคำถามสัมภาษณ์ที่ไม่มีการเตรียมมาก่อน ยิ่งใหญ่มาก

Q : มีหรือไม่ที่ฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมายบกพร่อง แต่พระองค์ท่านทรงเห็น 

เยอะแยะครับ มีอยู่หลายครั้ง แต่ไม่เคยเผยแพร่ให้ประชาชนรับรู้ เพราะถ้าทำอย่างนั้นก็จะไปลดทอนความน่าเชื่อถือ ความศรัทธาในสถาบันนิติบัญญัติ ตัวอย่างเท่าที่พอทราบคือ ร่างพระราชบัญญัติฉบับหนึ่ง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ตรวจพิสูจน์อักษรให้ดี มีข้อผิดพลาดหลายจุด ข้อความบางตอนขัดแย้งกันเอง เมื่อทรงพบเช่นนั้นก็ให้มีการรับคืนไปแก้ไขให้ถูกต้องเสียก่อน เราก็รู้เพียงแต่ว่ามีพระกระแสรับสั่งให้เอาไปแก้ให้ถูก ถึงต้องนำกลับมาปรับปรุงใหม่ในสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่ร่างนั้นได้ผ่านทั้งสภาผู้แทนราษฎร ผ่านทั้งวุฒิสภา ผ่านทั้งนายกรัฐมนตรี และนำขึ้นกราบบังคมทูลขึ้นไปแล้ว

ตัวอย่างที่สองที่ผมทราบ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาล สมัยหนึ่งมีการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา เรื่องความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ปฐมเหตุมาจากรัฐบาลไม่พอใจสื่อมวลชนมากที่ไม่รับผิดชอบโฆษณา เรื่องราวที่หมิ่นประมาทฝ่ายการเมือง แม้แต่ฝ่ายค้านก็ไม่ค่อยชอบ จะใช้อำนาจแบบสมัยเดิม ๆ ก็ไม่ได้แล้ว จึงมีผู้เสนอว่า เอาแบบอย่างในสิงคโปร์สิ เอากฎหมายหมิ่นประมาทนี่แหละเข้าไปสกัดกั้นพฤติกรรมนอกลู่นอกทางของสื่อมวลชนบางกลุ่ม บางคน จึงมีการเสนอแก้ไข ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 แต่เดิมมีโทษปรับไม่เกิน 6,000 บาท เขาไม่แก้โทษจำคุกแต่แก้โทษปรับให้ปรับอย่างต่ำ 4,000,000 บาท

ถ้าโฆษณาหมิ่นประมาท แล้วสื่อต้องเผยแพร่ทุกวัน ถ้าเจอเข้าไป 10 คดีเท่านั้น ก็แทบล้มละลาย ไม่สามารถทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้แก่ประชาชนได้ ร่างพระราชบัญญัติฉบับนั้นผ่านสภาผู้แทนราษฎร ผ่านวุฒิสภา ผ่านนายกรัฐมนตรี นำกราบบังคมทูลขึ้นไปแล้ว ไม่กลับคืนมาให้เราเห็นอีกเลย

เช่นเดียวกันเมื่อทรงตรวจสอบพบความผิดพลาดของทางฝ่ายตุลาการก็ทรงหาทางแก้ไขให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนของพระองค์ท่าน แต่ก็ไม่ประจานความผิดพลาดของคนทำงาน เพราะหลักข้อที่ 1 คือ คนทำงานผิดพลาดบ้างมีได้ 2 สถาบันตุลาการก็เหมือนกับสถาบันฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ จะมั่นคงได้ก็ต่อเมื่อประชาชนเคารพศรัทธาเชื่อถือ แต่ต้องแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด ผิดต้องแก้ แต่อย่าประจาน

ถ้าประชาชนเสื่อมศรัทธาในระบบงานยุติธรรม ในระบบการทำงานของรัฐบาลและรัฐสภา ประเทศนี้จะปกครองกันได้อย่างไร และประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยามจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ลึกซึ้งมาก

Q : พระบรมราโชวาทแก้ไขวิกฤตการเมืองในปี 2549 เป็นอีกตัวอย่างผู้ที่เกี่ยวข้องมองไม่เห็นทางแก้ไข แต่พระองค์ท่านทรงเห็นทางออก

แน่นอน พระองค์ท่านตรัสว่า ให้ท่าน (ผู้พิพากษา) ช่วยกันคิด ใช้สติปัญญา คิดพิจารณาหาทางแก้ไขวิกฤตที่ถึงที่สุดของชาติ หาทางออกให้ได้ เพราะพระองค์ท่านทรงเห็นทางออกนั้นอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่วิสัย ไม่ใช่โอกาส ไม่ใช่วาระอันควรที่จะดึงพระองค์ท่านลงมาอยู่ในท่ามกลางความขัดแย้งใหญ่ของสังคม

Q : เวลาเกิดวิกฤตการเมืองทุกครั้ง บางกลุ่มบางฝ่ายมักพูดถึงรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 ให้แก้ปัญหาตามประเพณีการปกครอง เช่น กรณีนายกฯ พระราชทาน

จะไปโทษคนเหล่านั้นไม่ได้ เพราะวิสัยของคนไทย เวลาเดือดเนื้อร้อนใจ หมดปัญญาเข้า ก็นึกถึงพระองค์ท่านก่อน

คล้าย ๆ ที่พึ่งสุดท้ายของพวกเรา เข้าใจว่าหมดหนทาง มืดบอดเข้าก็นึกถึงพระองค์ท่าน แต่ก็เป็นพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่าน ทรงวิเคราะห์ว่าการใดควร การใดไม่ควร แล้วเหตุผลที่พระองค์ท่านไม่ยอมลงมาในครั้งนั้น

เพราะเหตุผลง่าย ๆ พระองค์ตรัสว่าไม่เคยทำอะไรผิดกฎหมายหรือผิดรัฐธรรมนูญ ไม่เคยมีนายกฯ พระราชทานอย่างที่พวกเราเข้าใจกัน เพราะเมื่อครั้ง 14 ตุลาคม 2516 วันมหาวิปโยค มีรองประธานวุฒิสภาที่ทำหน้าที่ในฐานะประธานของฝ่ายนิติบัญญัติขณะนั้น เป็นผู้ทูลเกล้าฯ และลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่ไม่ใช่อยู่ดี ๆจะมาให้พระองค์ท่านพระราชทานนายกฯ ไม่มีช่องทางในรัฐธรรมนูญ

นี่ไง…ทำให้เราเห็นว่า บางทีเราก็เข้าใจคลาดเคลื่อนไปในการแก้ไขปัญหาของชาติ