ฐิตินันท์ : กับดักการค้ายุคไบเดน ไทยต้องเดินหลายหน้า เพิ่มดีกรีประชาธิปไตย

สัมภาษณ์พิเศษ
ปิยะ สารสุวรรณ

เศรษฐกิจ-การเมืองโลกประเทศมหาอำนาจเดินมาถึงจุด “หักเห” ครั้งสำคัญ เมื่อ “โจ ไบเดน” ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ คนที่ 46 “พลิก” กลับมาชนะ “โดนัลด์ ทรัมป์”

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์” นักวิชาการรัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“รศ.ดร.ฐิตินันท์” เปิดประเด็นความเหมือน-ความต่างมิติการเมือง-เศรษฐกิจ-ความมั่นคง ระหว่างประธานาธิบดี 3 ยุค 
ยุคบารัค โอบามา-ยุคทรัมป์ และยุคไบเดน

ก่อนที่ “ไบเดน” รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ 20 มกราคม 2564

เทียบนโยบาย โอบามา – ไบเดน

“รศ.ดร.ฐิตินันท์” วิเคราะห์ว่า ทรัมป์ดำเนินนโยบายแหวกแนว ทรัมป์ไม่เอาระบบพหุภาคีนิยม และถอนตัวจากข้อตกลงระหว่างประเทศ หลายเรื่อง เช่น CPTPP Climate Change Agreement และข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน

ดำเนินนโยบายแข็งกร้าวต่อจีน ทำสงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี ขัดแย้ง ตึงเครียดขึ้นเรื่อย ๆ

เป็นยุคของการทำอะไรตามอำเภอใจ มาคนเดียว ต้องการพึ่งตัวเองเป็นหลัก ปฏิเสธกระแสโลกาภิวัตน์ ไม่มีศรัทธา ทำลายกฎกติกาที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ก่อร่างสร้างขึ้นตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

ทรัมป์ปฏิเสธการร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น NATO WTO สถาบันทางการค้า การลงทุน การเงิน เพราะถึงเวลาที่อเมริกาจะดูแลตัวเอง พึ่งตัวเองมากขึ้น ไม่ยืมจมูกคนอื่นหายใจ เพราะโลกภายนอกเอาแน่เอานอนไม่ได้

“เพราะอเมริกาบอบช้ำมาเยอะ เสียดุลการค้าระหว่างประเทศกับประเทศโลกที่ 3 ไทยเป็นเจ้าหนี้อเมริกา จีนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด”

ปรากฏการณ์นี้มีแววมาตั้งแต่ 30-40 ปีที่แล้ว ทรัมป์ขึ้นมาในช่วงที่กระแสตกผลึกภายหลังวิกฤตการเงินโลกช่วงปี 2551-2552 คนอเมริกันเดือดร้อน ชาวไร่ ชาวนาตกรถไฟโลกาภิวัตน์

การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทำให้การเคลื่อนย้ายทุน เคลื่อนย้ายบริษัทไปข้างนอก คนที่เคยทำโรงงานในรัฐสำคัญ ๆ ซึ่งเป็นฐานเสียงของทรัมป์ โดยเฉพาะในชนบท ประสบความยากลำบาก ไม่พอใจ ต่อต้านกระแสเสรีนิยม มีส่วนสำคัญทำให้ทรัมป์ชนะเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

“การเลือกตั้งเมื่อพฤศจิกายน 2563 ถ้าทรัมป์ไม่พลาดเรื่องโควิด แค่ยอมรับว่าโควิดเป็นปัญหาจริง ต้องใส่หน้ากาก ต้องเว้นระยะห่าง ทรัมป์มีสิทธิชนะสูง และถึงแม้ว่าทรัมป์จะแพ้ แต่ได้คะแนนดิบท่วมท้นมากเป็นประวัติการณ์”

ส่วนชัยชนะของ “ไบเดน” ได้อานิสงส์มาจากโควิด เมื่อทรัมป์ปฏิเสธและเสียคะแนน ไบเดนอ้าแขนรับ จึงได้คะแนนตรงนี้

ไบเดน คือ โอบามา 2.0

แนวนโยบายของไบเดนแตกต่างจากทรัมป์มากหรือน้อย มี template มีสูตร มีแม่พิมพ์อยู่ ถ้าไบเดนออกมาในลักษณะของโอบามา เรียกว่า ยุคโอบามา2020 หรือโอบามา 2.0

ประเด็นแรก สังเกตคนรอบตัวไบเดน เช่น ว่าที่รัฐมนตรีต่างประเทศ รัฐมนตรีกลาโหม รัฐมนตรีความมั่นคง รัฐมนตรีคลัง ล้วนมาจากสมัยโอบามาทั้งนั้น ซึ่งตอนนั้นไบเดนก็เป็นรองประธานาธิบดี

ประเด็นที่สอง สภาพแวดล้อมเปลี่ยน กระแสเปลี่ยน กระแสที่อเมริกาไม่เอาจีน ต่อต้านจีน ความสัมพันธ์กับจีนยังคงตึงเครียด อาจจะไม่อื้อฉาว ฉูดฉาด อย่างทรัมป์ที่ใช้วาจาบีบให้รุนแรง

ประเด็นที่สาม เศรษฐกิจอเมริกาซบเซา ขาดดุลการค้ากับต่างประเทศ หนี้สาธารณะท่วมหัว การขับเคลื่อน การขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่เฟื่อง ในขณะที่นับวันสังคมยิ่งแตกแยก

“เราจะเห็นการกลับเข้าสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ให้ความสำคัญกับระบบพหุภาคีนิยมมากขึ้น การเน้นค่านิยมเสรีนิยมและเสถียรภาพระหว่างประเทศ ส่วนการหาทางกลับเข้าสู่ข้อตกลง CPTPP คิดว่ายาก เพราะประเทศสมาชิกเดินหน้าไปแล้ว ถ้าสหรัฐจะกลับลำอีก ต้องปรับข้อตกลงเป็นการใหญ่ สมาชิกอื่นไม่น่ายอม”

สงครามการค้าลดโทน

“รศ.ดร.ฐิตินันท์” เปิดประเด็นว่า ไบเดนจึงมีอะไรที่คล้ายคลึงกับสมัยโอบามาไม่มากก็น้อย และมีข้อแตกต่างไปจากทรัมป์แน่นอน เรื่องจีนตกผลึก ทั้งเดโมแครตและรีพับลิกันเห็นพ้องต้องกันว่า จีนมาท้าทาย ช่วงชิงความยิ่งใหญ่ ความได้เปรียบของสหรัฐในระบบเศรษฐกิจและการเมืองโลก เอารัดเอาเปรียบการค้า การลงทุนและเทคโนโลยี ทำให้สหรัฐเสียดุลการค้ากับจีน

“สหรัฐจะเดินหน้าใช้ไม้แข็งกับจีนอย่างต่อเนื่อง แต่โทนหรือท่าทีอาจจะไม่แข็งกร้าว ไม่กร่าง ไม่ก้าวร้าว ไม่เผชิญหน้าเหมือนกับสมัยทรัมป์ ทรัมป์เข้มมาก ไบเดนลดลง แต่ไม่ถึงกับเปิดอก หรือสวมกอดในระบบการค้าโลก”

อย่างไรก็ตาม สมัยไบเดน เสรีนิยมแบบโอบามาไม่มีแล้ว ระบบพหุภาคีนิยม WTO หมดเวลา ใช้ไม่ได้แล้ว เพราะความไม่ลงตัว ความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐ-จีน แม้กระทั่งอินเดียยังไม่เอาด้วยกับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เลย

“สงครามการค้าสมัยทรัมป์มีได้ มีเสีย ผลกระทบทางตรงเศรษฐกิจอาเซียนได้อานิสงส์ เพราะบริษัทของอเมริกันต้องถอนทุนออกมาจากจีน หลายบริษัทมาลงทุนในอาเซียน โดยเฉพาะในเวียดนาม”

“ขณะเดียวกัน บริษัทจีนต้องถอยออกมาจากสหรัฐเหมือนกัน เพราะบริษัทจีนค่าแรงเพิ่มขึ้น โดนกดดันให้หาฐานการผลิตใหม่ ที่น่าสนใจคือ บริษัทอเมริกามาลงทุนในเวียดนามเยอะกว่าไทย แต่บริษัทจีนมาลงทุนในไทยมากกว่าเวียดนาม เพราะความสัมพันธ์จีน-เวียดนามมีปัญหา มีข้อพิพาทหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องทะเลจีนใต้”

ในทางอ้อม มีผลเสีย ระบบการค้าโลกสั่นคลอน บรรยากาศการค้าโลกตึงเครียด การค้าระหว่างประเทศฝืดขึ้น มีการกีดกันทางการค้า การตั้งกำแพงภาษี เศรษฐกิจโลกหดตัว

สมัยก่อนหน้าทรัมป์ แนวโน้มจีนกับสหรัฐสวมกอดกันมากที่สุด แต่เป็นการสวมกอดที่สหรัฐคิดว่าไม่ยุติธรรม ไม่แฟร์ เพราะเสียดุลการค้ามากมาย จีนเป็นเจ้าหนี้ จีนยิ่งผงาดขึ้นในระบบโลก

ดังนั้น สงครามการค้าในช่วงทรัมป์ จึงแฝงไปด้วย tech war บานปลายลงไปถึงวัฒนธรรม ลุยอย่างเดียว ไม่มี give and take และจีนโต้กลับ ถึงเป็นสงครามที่ไม่ใช้อาวุธโดยตรง

“รศ.ดร.ฐิตินันท์” มองว่า สงครามการค้าในยุคไบเดนอาจจะมีการเรียกร้อง มี give and take บ้าง มีประนีประนอมบ้าง จีนอาจจะให้บ้าง ไบเดนอาจจะยอมบ้าง

จีน-สหรัฐ แยกกันไม่ขาด

วัตถุประสงค์การทำสงครามการค้าของทรัมป์ คือ การ de-coupling การแยกการสวมกอดระหว่างจีนกับสหรัฐ ทรัมป์ต้องการแยกออกจากกัน แต่จีนเรียก ว่า de-Americanization คือ การลดการพึ่งพาอเมริกา

เรื่องซัพพลายเชนของอุตสาหกรรม บางส่วนเปลี่ยนถาวร บางส่วนกลับมาได้ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว ส่วนใหญ่จะกลับมายาก ซึ่งกระทบกับไทยกับอาเซียนโดยตรง เป็นข้อท้าทาย

“เรื่องหัวเว่ย tech เป็นเรื่องที่ล่อแหลมและกระแสสังคมในอเมริกาตกผลึก เพราะคิดว่าจีนชิงความเป็นผู้นำ และต้องการต่อต้าน แต่ถ้าเป็นโรงงานทำสิ่งของ เครื่องใช้ไฟฟ้า ความประนีประนอมของไบเดนอาจจะรื้อฟื้นได้บ้าง”

“ดีที่สุดไทยต้องเดินได้หลายสาย เมื่อซัพพลายเชนถูกหั่น ต้องหาทางเชื่อมอื่นทั้งสองข้าง เพราะจีนกับสหรัฐสวมกอดกันน้อยลง ยากที่จะกลับมาเหมือนเดิม”

แล้วทำอย่างไรไทย ถึงจะต่อสายได้ทั้งสองข้างทั้ง จีน และ สหรัฐ “รศ.ดร.ฐิตินันท์” วิเคราะห์ว่า ภูมิศาสตร์มีส่วนสำคัญโดยเฉพาะประเทศ CLMV-T ได้เปรียบ เพราะอยู่ใกล้จีน การเชื่อมต่อกับจีนไม่ยากแต่การเชื่อมต่อกับอเมริกา การรักษาซัพพลายเชนเอาไว้เป็นข้อท้าทาย ต้องมีนโยบายกำกับ มียุทธศาสตร์ในภาพรวม

การลงทุนของสหรัฐในภูมิภาคเรายังมีอีกเยอะ ถ้านับ stock สูสีกับจีน ประมาณ 17 เปอร์เซ็นต์ ถ้านับเทรนด์ หรือ flow ของจีนจะมากขึ้น

“เรื่องใหญ่สำหรับสหรัฐ คือ จีนเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือ ยุโรป อียู รัสเซีย เกาหลีเหนือ ซึ่งจะท้าทายไบเดนทันที ช่วงนี้จะฟาดหัวฟาดหาง เบ่งกล้าม ลองเชิงไบเดนว่ามีกึ๋นหรือเปล่า”

นโยบายของไบเดนในยุคโควิดยังเป็นเรื่องท้าทายในอีก 2-3 ปีข้างหน้า แม้จะมีวัคซีนเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ แต่พอเข้าปีหน้ากว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นต้องมีมาตรการเยียวยา กว่าจะกลับมาคึกคัก กระปรี้กระเปร่าคงอีก 2-3 ปี

ไบเดนคงทำนโยบายต่อเนื่องจากทรัมป์ อัดฉีดเศรษฐกิจ เยียวยาประชาชน อุดหนุนบริษัทที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง กีดกันทางการค้าลดลง แต่ไม่ใช่เปิดเสรี

การเมืองไทย-สหรัฐ ขลุกขลัก

“รศ.ดร.ฐิตินันท์” มองว่า ในสายตาสหรัฐ ไทยเป็นเพียงตัวประกอบเล็ก ๆ ท่ามกลางบริบทโลกมหาอำนาจแม้จะคิดว่าสหรัฐเป็นเรื่องใหญ่สำหรับไทยก็ตาม

ไทยโชคดีมีความสัมพันธ์กับจีน ใกล้ชิดแน่นแฟ้นขึ้นด้วยซ้ำ หลังรัฐประหารปี’57 แต่กับสหรัฐมีความห่างเหินสมัยโอบามา เพราะรัฐประหาร เรียกว่าถึงจุดต่ำสุด เมื่อมีการคว่ำบาตรทางการเมือง

“สมัยไบเดนจะขลุกขลักมากขึ้น เพราะไบเดนให้ความสำคัญ เรื่องสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย การเลือกตั้ง อาจจะไม่เข้มเหมือนสมัยโอบามา แต่ไม่ละเลย”

สมัยทรัมป์ละเลย มองข้ามไปได้เลย ในเชิงความสัมพันธ์ทางการทหาร กองทัพเป็นสมอหลัก เป็นพื้นฐานหลักของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ

ไทยกลับไปซื้อเฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอว์ก 4 ลำ คอบร้าโกลด์ซ้อมเต็มที่ การเยือนของเจ้าหน้าที่อาวุโสของกลาโหมเป็นประจำ ทำวิสัยทัศน์ร่วมกัน

“ฉะนั้น หากจะเดินสายสัมพันธ์กับไบเดนต้องผสมผสานและต้องทำให้การเมืองของไทยคล้องจองกับความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น”

ถ้าการเมืองภายในของไทยเหินห่างกับความเป็นประชาธิปไตย ไปคล้องจองกับความเป็นเผด็จการมากขึ้น หรือทหารนิยมมากขึ้น ความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐจะมากกว่าขลุกขลัก คือ ตึงเครียดได้

ขีดเส้นมาตรา 112

ปัญหาของไทยตอนนี้ คือ ทิศทางของประเทศ ภาวะผู้นำของไทย ไม่ว่าจะเป็น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีต่างประเทศ เมื่อการเมืองไทยยังลุ่ม ๆ ดอน ๆ อยู่ ใช้มาตรา 112 มีการคุกคามกลุ่มที่มีความคิดเห็นต่าง เป็นโครงสร้างภายในที่กระทบโดยตรงต่อการทูต กรอบการต่างประเทศไทยถูกจำกัดด้วยการเมืองภายใน เป็นเรื่องน่าเศร้า ไม่เดินหน้า จมปลักอยู่กับที่ ทำให้ทักษะทางการทูตที่มีมากมายถูกจำกัดอยู่ในกรอบนี้ ไม่ใช่ไม่มีความสามารถ

ส่วนการถูกตัดสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) มาตรฐานการบิน (FAA) จะมีในยุคไบเดนหรือไม่ “รศ.ดร.ฐิตินันท์” มองว่า เรื่องจีเอสพีเป็นไปตามครรลองของมันอยู่แล้ว ในทางเทคนิคไทยไม่น่าเหลือสิทธิจีเอสพีอยู่แล้ว เพราะไทยเป็นประเทศรายได้กลางระดับบนแล้ว

ดังนั้น มาตรการอื่น ๆ ในความเข้มของเขาจะงัดออกมากดดันไทยหรือไม่ โจทย์นี้ขึ้นอยู่กับเรามากกว่าเขา

ข้อแรก ถ้าการเมืองภายในยังพอไปได้ ลุ่ม ๆ ดอน ๆ แต่ว่าไม่ได้เกิดการใช้ความรุนแรง หรือใช้มาตรการทางกฎหมายที่ประชาคมโลกรับไม่ได้ อาจจะไม่เห็นมาตรการกดดันโดยตรง

แต่ถ้าข้างในประเทศไทยเกิดการละเมิดแบบชัดเจน ในหมู่ประชาคมโลกเขาก็ต้องคิด ต้องเป็นห่วง และอาจจะมีความกดดันตามมา

ข้อสอง เขามีใจให้เราอยู่แล้ว ขออย่าทำอะไรเกินเหตุ สุดโต่ง อย่าทำอะไรถึงขั้นรับไม่ได้ เขาก็ยินดีอะลุ้มอล่วย การใช้มาตรา 112 อาจเป็นตัวอย่างของการขีดเส้นจากโลกข้างนอก

เพราะประชาคมโลกเห็นว่าเป็นกฎหมายที่เกินเหตุ ไร้ความยุติธรรม