ม็อบ 28 กุมภา มีผู้ถูกจับ 23 ราย เป็นเยาวชน 4 ราย ศูนย์ทนายฯ เผย

ตำรวจจับเยาวชนร่วมชุมนุม 4 ราย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดตัวเลขผู้ถูกจับกุมกรณีม็อบ 28 ก.พ. มีทั้งหมด 23 ราย เป็นเยาวชน 4 ราย พร้อมระบุว่า การควบคุมตัวผู้ชุมนุมไปยัง บก.ตชด. ภาค 1 ถือเป็นการละเมิดสิทธิ

วันที่ 1 มีนาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี กลุ่ม REDEM นัดรวมพลที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก่อนจะมีการเดินขบวนไปบ้านพักหลวง ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ นอกจากนี้ ยังเกิดเหตุชุลมุนบริเวณใกล้กับกรมทหารราบที่ 1 มีการเผชิญหน้ากันระหว่างตำรวจกับผู้ชุมนุม โดยมีเสียงดังคล้ายปืนเป็นระยะ คาดว่าเจ้าหน้าที่ใช้กระสุนยางยิงเพื่อสลายการชุมนุม ทำให้ผู้ชุมนุมบางคนได้รับบาดเจ็บ ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงาน สรุปจำนวนผู้ถูกจับกุมจากม็อบ 28 กุมภา ระบุว่ามีทั้งหมด 23 ราย ในจำนวนนี้ เป็นเยาวชน 4 ราย ข้อความดังนี้…

1 มี.ค. 64 จากกรณีกลุ่ม “REDEM” ประกาศจัดการชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเดินขบวนไปยังบ้านพัก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หน้ากองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารมหาดเล็กฯ รักษาพระองค์ที่ 1 เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 64 หรือ #ม็อบ28กุมภา ก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าสลายการชุมนุม พร้อมกับมีการจับกุมผู้ร่วมชุมนุม

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่ามีผู้ถูกจับกุมจากบริเวณพื้นที่ชุมนุมจำนวน 22 ราย โดยแยกเป็นเยาวชนอายุระหว่าง 15-16 ปี จำนวน 4 ราย

ในส่วนของผู้ชุมนุมที่ไม่ใช่เยาวชนจำนวน 18 ราย ได้ถูกนำตัวขึ้นรถควบคุมผู้ต้องขัง 2 คัน ไปยังกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 (บก.ตชด. ภาค 1) จังหวัดปทุมธานี ในเวลาประมาณ 00.30 น. โดยมีทนายความเดินทางติดตามไป

ขณะที่เจ้าหน้าที่ได้แยกกลุ่มที่เป็นเยาวชน 4 ราย ขึ้นรถควบคุมผู้ต้องขังอีกคันหนึ่ง พาตัวไปยังสน.สุทธิสาร โดยมีทนายความเดินทางติดตามไป ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะนำตัวกลุ่มเยาวชนไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลตำรวจก่อน เนื่องจากทั้งสี่คนระบุว่าถูกตำรวจใช้ความรุนแรงในระหว่างการจับกุม และมี 1 ราย ยังมีอาการเจ็บหน้าอกรุนเเรง

จนเวลา 4.00 น. เยาวชนทั้งสี่ได้ถูกนำตัวกลับมาแจ้งข้อกล่าวหาทีสน.ดินแดง โดยถูกแจ้ง 6 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง, เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก, ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน และร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน เยาวชนทั้งสี่ไม่ลงชื่อในบันทึกจับกุม เนื่องจากเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมโดยมิชอบ และมีการทำร้ายร่างกายขณะจับกุม

ขณะเดียวกัน ในช่วงเวลาประมาณ 01.40 น. เจ้าหน้าที่ได้มีการจับกุมชายอีก 1 คน จากเหตุชุมนุมบริเวณสน.ดินแดง ก่อนพาตัวไปยัง บก.ตชด. ภาค 1 เช่นกัน ทำให้รวมแล้วมีผู้ถูกจับกุมทั้งหมด 23 ราย

ทั้งหมดได้ถูกตรวจร่างกายภายใน บก.ตชด.ภาค 1 โดยพบว่ามีผู้ชุมนุม 4 ราย ที่ได้รับบาดเจ็บมาก จึงถูกส่งตัวออกไปตรวจที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ก่อน

จนเวลา 6.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เริ่มทำบันทึกจับกุมผู้ต้องหาภายใน บก.ตชด.ภาค 1 โดยผู้ต้องหาไม่ยินยอมลงชื่อในบันทึก และได้ทำหนังสือคัดค้านการควบคุมตัวที่ บก.ตชด. เนื่องจากเป็นสถานที่ควบคุมตัวโดยมิชอบ ยื่นต่อพนักงานสอบสวนเอาไว้ด้วย

9.00 น. ยังอยู่ระหว่างกระบวนการสอบสวนผู้ต้องหา และรอกลุ่มผู้ถูกจับกุม 4 ราย ที่ถูกนำตัวไปตรวจที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เดินทางกลับมา

ในส่วนที่ สน.ดินแดง หลังจากการแจ้งข้อกล่าวหาเยาวชน 4 ราย พนักงานได้ให้ปล่อยตัวไป โดยนัดหมายไปที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางในวันนี้ เวลา 13.00 น. เพื่อให้ศาลตรวจสอบการจับกุมของตำรวจ

++ สรุปจำนวนผู้ถูกจับกุม #ม็อบ28กุมภา รวม 23 ราย เป็นเยาวชน 4 ราย ++
.
1 มี.ค. 64 จากกรณีกลุ่ม “REDEM”…

โพสต์โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อ วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2021

 

ต่อมา ทางศูนย์ทนายฯ ยังชี้ด้วยว่า การควบคุมตัวผู้ชุมนุมไปยัง บก.ตชด. ภาค 1 ถือเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ถูกจับกุมและผู้ต้องหาที่ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ข้อความดังนี้…

หลังจากการจับกุมผู้ร่วมชุมนุม #ม็อบ28กุมภา รวม 23 ราย โดยผู้จับกุมที่ไม่ใช่เยาวชนจำนวน 19 ราย ได้ถูกควบคุมตัวไปแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 (บก.ตชด. ภาค 1) จังหวัดปทุมธานี

ผู้ถูกควบคุมตัวยังได้ยื่นคัดค้านการควบคุมตัวและสอบสวนในสถานที่ดังกล่าว เนื่องจากเป็นสถานที่ควบคุมตัวมิชอบด้วยกฎหมาย แต่พนักงานสอบสวนยังคงยืนยันจะดำเนินกระบวนการใน บก.ตชด. ภาค 1 ต่อไป

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2563 จนถึงล่าสุดวันที่ 1 มีนาคม 2564 พบว่ามีผู้ถูกจับกุมอันเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง ถูกนำตัวไปควบคุมที่ บก.ตชด. ภาค 1 แล้วอย่างน้อย 130 ราย โดยเริ่มต้นจากกรณีการควบคุมตัวผู้ร่วมชุมนุม #คณะราษฎรอีสาน บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เรื่อยมา

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 83 และ 84 นั้น เมื่อเจ้าหน้าที่จับกุมบุคคลแล้ว จะต้องรีบนำตัวไปยังที่ทำการพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่ถูกจับทันที การนำตัวผู้ต้องหาไปควบคุมในที่อื่นที่ไม่ใช่สถานที่ทำการพนักงานสอบสวนในท้องที่นั้น นอกจากจะขัดต่อกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว ยังส่งผลให้ผู้ต้องหาขาดหลักประกันสิทธิ ประชาชนทั่วไปไม่สามารถตรวจสอบการควบคุมตัว หรือสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย ทำให้สุ่มเสี่ยงว่าจะเกิดการละเมิดในรูปแบบอื่นๆ อาทิเช่น การซ้อมทรมาน หรือการบังคับบุคคลสูญหายได้

นอกจากนี้การควบคุมตัวที่ บก.ตชด. ภาค 1 ยังห่างไกลพื้นที่กรุงเทพชั้นในกว่าห้าสิบกิโลเมตร ทำให้ทนายความและญาติผู้ต้องหาเดินทางไปถึงได้ล่าช้า เมื่อไปถึงต้องจอดรถไว้ด้านนอกและนั่งรถที่เจ้าหน้าที่จัดให้เข้าไปยังห้องควบคุมตัว ซึ่งลึกเข้าไปในค่ายกว่าหนึ่งกิโลเมตร

ทั้งการขออนุญาตเข้าไปภายใน บก.ตชด. ภาค 1 นั้น ในหลายคดีมีความล่าช้าอย่างยิ่ง โดยในบางกรณี ทนายความต้องใช้ระยะเวลารอคำสั่งอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่กว่า 5 ชั่วโมง ทั้งที่มาตรา 7/1 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้การรับรองสิทธิของ “ผู้ถูกจับ” ในการเข้าถึงทนายความนับตั้งแต่มีการจับกุม

สถานการณ์การควบคุมตัวผู้ชุมนุมไปยัง บก.ตชด. ภาค 1 จึงละเมิดสิทธิของผู้ถูกจับกุมและผู้ต้องหาที่ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

หลังจากการจับกุมผู้ร่วมชุมนุม #ม็อบ28กุมภา รวม 23 ราย โดยผู้จับกุมที่ไม่ใช่เยาวชนจำนวน 19 ราย…

โพสต์โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อ วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2021