เปิดข้อต่อสู้คดีรัฐมนตรี กปปส. ย้อนแย้งคำพิพากษา “ตัดสิทธิการเมือง”

คำพิพากษาศาลอาญา 39 อดีตแกนนำ กปปส. ในคดีความผิดฐานกบฏก่อการร้าย ล้มล้างการปกครอง ขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลายเป็นการ “ประหารชีวิตทางการเมือง” ทั้งผู้ร่วมกระทำความผิด-ผู้สนับสนุน

โดยเฉพาะการจำคุก 2 คืน ของ 2 อดีตแกนนำ กปปส. “ถาวร เสนเนียม” ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และ “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ส่งผลถึง “สถานะความเป็น ส.ส.”

“พุทธิพงษ์” ต้องคำพิพากษาจำคุก 7 ปี และ “ถาวร” ต้องคำพิพากษาจำคุก 5 ปี ยังคงต้องเดินหน้า-ทวงคืนสถานะความเป็น ส.ส.กลับคืนมา

“ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ฝ่ายกฎหมาย และเป็น 1 ใน 39 อดีตแกนนำ กปปส. ที่เคราะห์ดี ศาล “ยกฟ้อง” งัดระเบียบ-คำสั่ง-คำวินิจฉัยเพื่อต่อสู้คดีให้ “พุทธิพงษ์” เพื่อน ส.ส.ร่วมพรรคพลังประชารัฐ

ทั้งคำสั่งศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ในระหว่างอุทธรณ์ ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 และระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการปล่อยชั่วคราว พ.ศ. 2548 ข้อที่ 5

รวมถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2562 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 วินิจฉัยสมาชิกภาพสภาผู้แทนราษฎร “หน้า 6” ของ “นวัธ เตาะเจริญสุข” อดีต ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย

ขณะที่ “ถาวร” จำเลยที่ 7 อาศัย “เวลาว่าง” หลังจาก “พ้นสถานะ” ความเป็นรัฐมนตรีช่วยคมนาคม ศึกษาข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมาย “หักล้าง” ต่อสู้คดี เรียกร้องความเป็นธรรมให้กลับคืนมา

“ข้อเท็จจริง” ในทางปฏิบัติ ส.ส. เมื่อมีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดวันเปิดสมัยประชุมทุกครั้ง ประธานสภาจะมีหนังสือถึงประธานศาลฎีกาทำหนังสือเวียนแจ้งสมัยประชุมถึงศาลทั่วประเทศให้ใช้ความระมัดระวังการใช้อำนาจทับซ้อนกับสิทธิของ ส.ส.ที่ได้รับการคุ้มกันตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 วรรคแรก

เมื่อมี พ.ร.ฎ.เปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ฉบับลงวันที่ 9 ตุลาคม 2563 ให้นัดประชุมสภาสมัยสามัญ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นไป และวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 มี พ.ร.ฎ.ปิดสมัยประชุมสมัยสามัญ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 การที่ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษา ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 จึงเป็นวันที่อยู่ระหว่างสมัยประชุม

“เมื่อศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษผู้ถูกร้อง มีหมายจำคุกในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 และหมายปล่อยผู้ถูกร้องในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 ทำให้ผู้ถูกร้องต้องถูกควบคุมตัว 2 วัน เป็นการไม่ชอบขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 วรรคแรก ห้ามคุมขัง (จำคุก) ส.ส.”

และเกิดข้อผิดพลาดไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของหนังสือแจ้งวันสมัยประชุมของสภาผู้แทนราษฎรให้ประธานศาลฎีกาทราบ เพื่อป้องกันการทับซ้อนการดำเนินคดีกับ ส.ส.ในระหว่างสมัยประชุม เช่นนี้ จึงไม่อาจถือได้ว่าผู้ถูกร้องต้องคำพิพากษาและถูกคุมขังอยู่ตามหมายของศาล อันจะทำให้สมาชิกสภาพของ ส.ส.ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบ มาตรา 98 (6)

“ข้อกฎหมาย” รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 125 วรรคแรก เป็นบทบัญญัติที่ให้การคุ้มกัน ส.ส. ใน “ระหว่างสมัยประชุม” เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ไม่ถูกกลั่นแกล้งจากฝ่ายใด

กล่าวคือ 1.ห้ามมิให้จับ 2.ห้ามคุมขัง 3.ห้ามหมายเรียกตัวไปทำการสอบสวนในฐานะที่สมาชิกผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก

“แต่ความหมายของคำว่า ‘คุมขัง’ ตามคำนิยามในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (12) หมายถึง คุมตัว ควบคุม ขัง กักขังหรือจำคุก ฉะนั้น เมื่อคำว่า ‘คุมขัง’ มีความหมายรวมถึง ‘จำคุก’ ด้วย”

ถ้าหากรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 วรรคแรกต้องการที่จะให้การคุ้มกัน ส.ส.เฉพาะชั้นสอบสวน หรือระหว่างการพิจารณาก่อนพิพากษา ก็ไม่มีเหตุผลใดที่รัฐธรรมนูญมาตรา 125 วรรคแรก จะใช้คำว่า “คุมขัง” เพราะใช้คำอื่นได้ เช่น คุมตัว ควบคุม ขัง และกักขัง หรือหมายเรียก

แต่การที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 125 วรรคแรก นำคำว่า “คุมขัง” มาบัญญัติไว้ จึงเป็นการบ่งบอกถึงเจตนาของรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 วรรคแรก ได้ว่า “ต้องการคุ้มกัน ส.ส. ไม่ให้ต้องถูกจำคุกในระหว่างสมัยประชุม”

เป็นไปตามหลักการตีความกฎหมายตามลายลักษณ์อักษร เพราะคำว่า “คุมขัง” มีความหมายชัดเจนอยู่ในคำนิยาม ตามประมวลกฎหมายอาญา

การที่จะตีความคำว่า “คุมขัง” มิได้รวมถึงการจำคุกด้วยนั้น ย่อมขัดต่อคำนิยามแห่งประมวลกฎหมายอาญาที่มีความชัดเจนอยู่แล้ว กรณีนี้จึงไม่สามารถตีความเป็นอย่างอื่นได้

“ถือเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 วรรคแรก ที่ต้องการคุ้มกัน ส.ส.มิให้ต้องถูกจำคุกในระหว่างสมัยประชุม”

การออกหมายจำคุกโดยศาลอาญาจึงเป็นการฝ่าฝืนและขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้ผู้ถูกร้องไม่ได้รับการคุ้มกันในระหว่างสมัยประชุม