3 พรรคแนวร่วมแก้รัฐธรรมนูญ เปิดเกมรุก พปชร. ล้างพิษมรดก คสช.

รายงานพิเศษ

การเมือง-การแก้รัฐธรรมนูญต้องติดตาม “วันต่อวัน” ทั้งกระแสในสภา-นอกสภา ศูนย์รวมอำนาจ-ทำเนียบรัฐบาล วันก่อนเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่วันนี้กลับคำ เห็นด้วย-อยู่ (ยาว) กันไปก่อนไว้ค่อยแก้ทีหลัง…เมื่อประโยชน์ไม่ลงรอย

พรรคพลังประชารัฐ-พรรคร่วมรัฐบาล แม้ก่อนหน้านี้จะกอดคอ-กลั้นใจ ลงชื่อแก้รัฐธรรมนูญเดินหน้าตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึงขัง ทิ้งพี่น้อง 3 ป.ไว้ข้างหลัง

ทว่าวันนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับยัง “ลูกผีลูกคน” หรืออาจจะเรียกว่า “ปิดประตูตาย” หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแบบติดดาบ-ไม่ฟันธง

พรรคร่วมโนคอมเมนต์

วันนี้พรรคภูมิใจไทย-อนุทิน ชาญวีรกูล “บอสใหญ่” เปิดหน้าชก ไม่เห็นด้วยรัฐธรรมนูญ “บางมาตรา” เช่น ส.ว. 250 คน แต่ถีบ-ถอย เดินตามศาลรัฐธรรมนูญ-ประชามติก่อน

“ถ้าถามตรง ๆ ผมก็ไม่เห็นด้วย แต่ผมก็ทนเอา อย่างมากก็ 5 ปี บทเฉพาะกาลจบก็หมด ไม่ใช่ปัญหา แล้วเราจะไปชักใบให้เรือเสียทำไม ไดโนเสาร์มันก็ไปเอง ไม่มีใครไปทำลายเขาได้”

ขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) แม้จะเคย “เร็กคอร์ด” ไว้ในที่แจ้ง-ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 แต่วันนี้ขอ “no comment”

ปชป.ชงแก้ 6 มาตรา

ส่วนประชาธิปัตย์ หลังจากถูก “หักดิบ” กลางสภา-รัฐธรรมนูญวาระสาม “แท้ง” กลับมา “ฮึดสู้” อีกครั้ง โดยการ “ชูธง” แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา-มาตรา 256 เบื้องต้น 6 ประเด็นหลังถกกันหน้าดำ-คร่ำเคร่ง ถกเถียงกันมาแล้ว 3 หน

ประเด็นที่ 1 แก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้เป็นรัฐธรรมนูญ “แก้ง่าย” โดยตัดสัดส่วน-เสียงการลงมติของ ส.ว.ในวาระที่ 1 กับวาระที่ 3 ออก โดยกำหนดให้การลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง “สามวาระ” ใช้เสียง “กึ่งหนึ่ง” ของสมาชิกรัฐสภา

ประเด็นที่ 2 แก้ไขมาตรา 272 โดย “ตัดอำนาจ” เลือกนายกรัฐมนตรี ของ ส.ว. 250 คน

ประเด็นที่ 3 แก้ไข “ระบบเลือกตั้ง” เช่น มาตรา 85 เปลี่ยนจาก “บัตรใบเดียว” เป็น “บัตรสองใบ” เพื่อสะท้อนความต้องการของประชาชน “เลือกพรรค-เลือกคน” แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ-แบบแบ่งเขตกี่คน

ส่วนการแบ่งเขตเลือกตั้งจะเป็น “เขตเดียวเบอร์เดียว” แบบรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ “เขตเดียวสามเบอร์” แบบรัฐธรรมนูญปี 2550 ยังไม่ได้ข้อสรุป

“ต่อจากนี้ไปการเมืองเปลี่ยนแปลงพอสมควร ฉะนั้น 1 เขต เลือก 1 คน อาจจะมีวิธีการของพรรคการเมืองที่ให้ได้คะแนนมาด้วยกลวิธีที่แตกต่างกันไป แต่ถ้า 1 เขตมี ส.ส. 2 คน หรือ 3 คน จะทำให้ได้คนดี ๆ มีโอกาสเข้ามาสู่การเมืองมากขึ้น”

มาตรา 91 เรื่องวิธีการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หรือ “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น เช่น การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อควรจะชัดเจนว่า “คะแนนพึงมี” ของ ส.ส. 1 คน อัตราจำนวนคะแนนเป็นเท่าใด

ประเด็นที่ 4 การกระจายอำนาจ เช่น มาตรา 76 เรื่องการกระจายอำนาจ และหมวดที่ 14 เรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจะมีการแยก-ยกร่างขึ้นมาโดยเฉพาะ 1 ฉบับต่างหาก เพื่อกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง ประกอบด้วย มาตรา 249 มาตรา 250 มาตรา 251 มาตรา 252 มาตรา 253 มาตรา 254

ประเด็นที่ 5 การตรวจสอบและถ่วงดุลในระบบประชาธิปไตย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 236 ทำให้ระบบตรวจสอบ-ถ่วงดุลเสียหาย

โดยจะตัดอำนาจการใช้ “ดุลพินิจ” ของ “ประธานรัฐสภา” ในการส่ง-ไม่ส่ง กรณีสมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อกัน “ฟ้อง ป.ป.ช.” เพื่อป้องกันการ “ต่อรอง” และ “ช่วยเหลือ” คดีความของนักการเมือง-พวกพ้องที่อยู่ในชั้นไต่สวนของ ป.ป.ช.

ประเด็นที่ 6 เรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เช่น เรื่องสิทธิชุมชน การปกป้องสิทธิความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิต โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม รวมถึงหมวดสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน

“ราเมศ รัตนะเชวง” โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่า “ไม่มีการไปแตะต้องหมวด 1 และหมวด 2” และมีเจตนารมณ์ชัดเจนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น

“ส่วนกระบวนการแก้ไข แน่นอนประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่มี 51 เสียง ฉะนั้นเราต้องหาแนวร่วมจากพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่มีความคิด ความเห็นให้ตรงกัน เพื่อจับมือกันเดินไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถามว่ายากไหม ยากแน่นอน แต่ยังมุ่งมั่นที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป”

หาพันธมิตรแก้ รธน.

นับจากนี้ประชาธิปัตย์จะเดินหน้า “หาแนวร่วม” โดยเฉพาะ “พรรคร่วมรัฐบาล” ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ชัดเจนแล้วว่า หันหน้ากันคนละทาง-เดินไปคนละแนว

“ใครที่มีแนวร่วมตรงกันก็เดินด้วยกันได้ ไม่มีปัญหา เพราะประชาธิปัตย์มีจุดยืนชัดเจน คือ ไม่แตะต้องหมวด 1 และหมวด 2 ส่วนใครฉีกแนวไปจากเรา เราก็ไม่เอาอยู่แล้ว เพื่อไทย หรือ ส.ส.คนใดจะเข้ามาร่วมกันแก้ไขมาตรา 256 ก็เข้ามาได้ อยากให้ตัดความเป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาลออกไปก่อน” ราเมศสำทับ

3 ป.หลังพิงฝาแก้รายมาตรา

3 ป. พี่-น้อง หนทางเดียวที่จะยื้อ-อยู่ในอำนาจได้ คือ “หลังพิงฝา” แก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา “เตะถ่วง” กฎหมายประชามติ-ดึงเกมแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

โดยมี ส.ส.พลังประชารัฐ นำโดย “ไพบูลย์ นิติตะวัน” เป็นตัวทำเกม “ผนึกกำลัง” กับ 250 ส.ว.ลากตั้ง-องค์กรอิสระ “ค้ำยันอำนาจ” เป็น “ตัวตัดเกม”

ขณะนี้พรรคพลังประชารัฐอยู่ระหว่างการจัดทำประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราฉบับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งอยู่ระหว่างการ “ขัดเกลา” ประเด็น

สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา-เรียงประเด็น มีจำนวน 6 ประเด็น 11 มาตรา ซึ่งเป็นประเด็นที่แก้ไขดังกล่าวทั้งหมดไม่ต้องเดินไปสู่การทำประชามติ-ไม่ขัดแย้งกับสมาชิกวุฒิสภา

สำคัญที่สุด คือ แก้ประเด็นที่เป็นประโยชน์กับประชาชน และช่วยให้การทำงานของ ส.ส.มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในการดูแลประชาชน

ชงเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง

ระบบเลือกตั้ง เปลี่ยนจากระบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” เป็นระบบ “บัตร 2 ใบ” ประกอบด้วย ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน และ ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน

มาตรา 185 เดิมห้าม ส.ส.และ ส.ว.ใช้สถานะหรือตำแหน่ง กระทำการใด ๆ อันมีลักษณะที่เป็นการก้าวก่าย หรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง-ผู้อื่น-พรรคการเมือง แก้ไขให้สามารถติดต่อหน่วยราชการเพื่อช่วยเหลือประชาชนได้

แก้ไขหมวด 16 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศมาตรา 270 เดิมให้อำนาจเฉพาะวุฒิสภามีหน้าที่และอำนาจติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ แก้ไขเป็นอำนาจของรัฐสภา (รวม ส.ส.ด้วย) มีอำนาจในการติดตามการปฏิรูปประเทศ

มาตรา 144 เรื่องการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย ส.ส.จะแปรญัตติเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการหรือจำนวนในรายการมิได้ โดยให้กลับไปใช้ตามเดิม-รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550

เกมรัฐธรรมนูญยังต่อสู้กันดุเดือด แม้ระดับฝ่ายบริหาร-รัฐมนตรี ในพรรคร่วมรัฐบาลยังก้มหน้าทำงานกันไป

แต่ในฝ่ายนิติบัญญัติ เปิดหน้าชิงไหวชิงพริบไม่มีใครยอมใคร โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคพลังประชารัฐ

แม้จะชงแก้ไขรายมาตราเหมือนกัน หากต่างกันที่มาตราที่เป็นหัวใจการสืบทอดอำนาจ

ดังนั้น เกมแก้รัฐธรรมนูญจึงมาสู่จุดที่ยื้อยุดฉุดกระชากถอนราก-ถอนโคนอำนาจ พี่-น้อง 3 ป.

แต่ใครอึดกว่ากันคนนั้นชนะ