สันติ โชว์สร้างอนาคตไทย ซ่อมเศรษฐกิจ แก้ปัญหาคนไม่มีกิน

สันติ กีระนันทน์

พรรคสร้างอนาคตไทย-พรรคใหม่สี่กุมาร เปิดตัวพรรคอย่างเป็นทางการครั้งแรก ภายใต้สโลแกน “ไม่ขวาสุดขั้ว ไม่ซ้ายสุดโต่ง” เข็มมุ่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ตรงกับมอตโต้ “ฟื้นเศรษฐกิจ สร้างอนาคตประเทศไทย”

จุดแข็งของพรรคสร้างอนาคตไทย นอกจากทีมเศรษฐกิจ ที่มี “อุตตม สาวนายน” และ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” อดีตรัฐมนตรีขุนพลเศรษฐกิจในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์แล้ว ยังมี “เงาสมคิด” สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ทาบทับอยู่ข้างหลัง

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “สันติ กีระนันทน์” อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่ตัดสินใจลาออกจาก ส.ส.โดยไม่ลังเล กระโจนมาเป็น 1 ในผู้ก่อตั้งพรรคสร้างอนาคตไทย-ผู้ร่วมอุดมการณ์

“สันติ” หนึ่งใน “ขุนพลเศรษฐกิจ” เริ่มต้นฉายภาพการแก้ปัญหาเศรษฐกิจตั้งแต่อดีต-ปัจจุบันและอนาคต หากพรรคสร้างอนาคตไทยเข้าไปร่วมรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า ว่า ขณะนี้ประเทศกำลังประสบกับปัญหาเศรษฐกิจเชิงซ้อนทุกมิติ

ระดับมหภาค โครงสร้างเศรษฐกิจไทยบิดเบี้ยว พึ่งพิงการส่งออกและนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ต้องทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยมีความปลอดภัยระดับหนึ่ง ถ้าปัจจัยภายนอกติดขัด เศรษฐกิจไทยยังต้องอยู่รอดได้

“ปัญหาเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องการเติบโตเท่านั้น แต่เป็นปัญหาเชิงซ้อนเรื่องความเหลื่อมล้ำ กลุ่มคนข้างบนไม่มีปัญหา และยังมีความเติบโต แต่กลุ่มคนข้างล่าง ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ 70-80% ของประเทศ จะไม่มีกิน”

เล่าประสบการณ์ที่เคยทำงานให้กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงสุดท้ายก่อนที่กลุ่มสี่กุมารจะยกทีมออกจากพรรคพลังประชารัฐ ว่า เกิดโควิด-19 รัฐบาลสั่ง shut down จึงมีเหตุจำเป็นที่รัฐต้องเยียวยา แต่หลังจากนั้น ไม่ใช่การเยียวยา กว่า 2 ปีที่ผ่านมา ต้องไม่ใช่เพียงแค่การเยียวยา แต่ต้องเป็นการสร้างความสามารถในการหารายได้

“วันนี้ให้กินแต่ยาพารา แต่ไม่ได้ไปรักษาที่สาเหตุของโรค สาเหตุของโรคไม่ใช่สินค้าแพงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะหารายได้ไม่ได้ ต้องสร้างงาน ไม่ใช่เอาเงินไปแจกเฉย ๆ เซ็กเตอร์ท่องเที่ยวตกงานกันหมด ทำไมรัฐไม่เอางบประมาณไปจ้างและปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยว งานจะเกิด productivity เกิด เตรียมพร้อมให้สถานที่ท่องเที่ยวฟื้นฟูกลับขึ้นมา อีก 5 ปี นักท่องเที่ยวกลับมา 20-30 ล้านคน เราจะสามารถสร้างการท่องเที่ยวที่มีมูลค่าสูงได้ เป็นการสร้างงาน สร้าง productivity ในอนาคต”

เขาย้ำว่า ถ้าหากพรรคสร้างอนาคตไทยทำ “จะไม่แจกเงินพร่ำเพรื่อ” และขยายความการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้ถึงกึ๋น โดยการ “สร้างรายได้”

ประการแรก ต้องเริ่มที่ผู้นำทางเศรษฐกิจต้องมีเป้าหมายชัดเจนก่อน ว่าจะทำอะไร ไม่ใช่แก้ปัญหาไปวัน ๆ คนละครึ่ง เฟส 4 ไม่ได้ทำให้หมูแพงถูกลง น้ำมันพืชต่อไปเห็นแน่ขวดละ 60 บาท ช่วยให้ประชาชนซื้อต่อไปได้เรื่อย ๆ หรือไม่

เขาแนะวิธีแก้ปัญหาหมูแพงว่า ระยะสั้น ต้องนำเข้า เพื่อลดความรุนแรงของ short trade supply ระยะกลาง-ยาว สนับสนุนให้ฟาร์มมาตรฐาน หน้าที่ของรัฐบาลต้อง subsidize ให้เกษตรกรรายเล็ก รายย่อย รวมถึงสินค้าเกษตรทุกชนิด

“หัวหน้าทีมเศรษฐกิจต้องเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจ เงินเฟ้อไม่ได้ทำให้สินค้าแพง ของแพงถึงทำให้เงินเฟ้อ”

บนเวทีเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ พรรคสร้างอนาคตไทยชูเคล็ดลับเศรษฐกิจ ว่า รัฐต้องหาเงินได้-ใช้เงินเป็น

“สันติ” อธิบายว่า ความสามารถในการหารายได้ของรัฐบาล รัฐบาลไม่ได้มีปัญหา งบประมาณรายจ่ายประจำปีเคยขึ้นไปถึง 3.3 ล้านล้านบาท ล่าสุดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ลดลงมาเหลือ 3.18 ล้านบาท

“ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแบบนี้ ต้องเสนองบประมาณขยายตัว สำนักงบประมาณตอบกลับมาว่า สำนักงบประมาณเสนองบประมาณขยายตัวแล้ว แต่ผู้มีอำนาจตัดสินใจไม่เอา”

“การจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลเพิ่มขึ้น ไม่ได้น่ากลัว ตราบที่นำมาสร้างความสามารถในการหารายได้ต่อไป บริษัทที่เติบโตได้ ไม่ใช่เติบโตเพราะเงินทุนของตัวเอง เป็นเพราะการกู้ แต่การกู้มาแล้วต้องใช้เป็น รัฐบาลก่อหนี้ไม่ได้น่ากลัว ตราบเท่าที่รัฐบาลใช้เงินกู้เพื่อสร้างศักยภาพ แต่ถ้าหาเงินมา พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้าน พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน มาทำโครงการคนละครึ่ง เอามาแจก ทำไปก็หายหมด”

ส่วนการหารายได้แบบเบสิกที่สุดอย่างการเก็บภาษี เช่น transaction tax ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภาษีคริปโท สินทรัพย์ดิจิทัล ต้องกลับไปถามรัฐก่อนว่า มองเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลแต่ละประเภทอย่างไร สนับสนุน หรือไม่สนับสนุน ถ้าไม่สนับสนุนก็เก็บภาษีไป ต้องเริ่มจาก policy

ขณะที่ภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้างที่รัฐบาลเก็บไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เขาชี้เป้าว่า อัตราไม่ต้องไปยุ่งมาก แต่สิ่งที่ต้องไปยุ่ง เช่น ที่ดินรัชดาฯปลูกมะนาว กลายเป็นที่ดินเกษตร ใช่หรือไม่ การเลี่ยงบาลีเหล่านี้ เพราะนิยามที่ดินทำการเกษตร เป็นนิยามที่มีช่องว่าง เห็นแล้วทำไมไม่แก้ไขช่องว่าง กระทบรายใหญ่หรือไม่

“ความสำเร็จในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เป็นปัญหาฝังรากลึก คำถามคือ พยายามทำหรือไม่ เริ่มทำหรือไม่”

“พรรคสร้างอนาคตไทยไม่ได้คิดเพียงเรื่องเศรษฐกิจแบบอีอีซี ที่เน้นการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ ต้องฐานรากด้วยไปพร้อม ๆ กัน เพื่อสร้างการเติบโต ทำให้ประเทศแข่งขันได้ กับเน้นฐานรากให้เกิดการกระจายรายได้จากข้างบนลงมาข้างล่างให้ได้”

“พรรคสร้างอนาคตไทยขายนโยบายให้ประชาชนเห็น และหวังว่าประชาชนจะซื้อนโยบายเหล่านี้ เราไม่ขายความแตกแยก เราไม่ขายความเกลียดชัง แต่เราขายการแก้ปัญหา เราเชื่อว่าประชาชนมีวิจารณญาณที่ดีที่จะเลือก”

แม้จะขายนโยบายดีอย่างไร ในทางการเมือง พรรคสร้างอนาคตไทยต้องเข้าไปเป็นรัฐบาลหรืออย่างน้อยเป็นพรรคร่วมรัฐบาล จึงหวังโหวตเตอร์กลุ่มคนกลาง ๆ กว่าครึ่งประเทศ ที่มาเลือกพรรคสร้างอนาคตไทย

“พวกที่เลือกข้าง เป็นคนเสียงดัง เป็นคนชอบตะโกน ส่วนคนที่เหลือ ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ รอ รอว่าใคร จะช่วยให้ความหวังของประเทศเป็นจริง เราหวังกับคนกลุ่มนี้”

“คนส่วนใหญ่ไม่โง่ แต่คนส่วนใหญ่ที่เชื่อบางช่วง บางขณะ เพราะว่ามีความหวัง แต่เมื่อผิดหวังแล้วมาเจออีกสิ่งหนึ่งที่สามารถทำให้สมหวังได้ เขาก็เรียนรู้ที่จะเปลี่ยนวิธีคิด ย้ำว่า คนกลุ่มนี้ เป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศแน่นอน”

“เราหวังว่าจะทำงาน เพื่อนำนโยบายไปทำให้เกิดเป็นจริง เราไม่เสนอ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ไม่ใช่เราจะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เพราะถ้าประชาชนตัดสินใจเอา พล.อ.ประยุทธ์ แล้วในที่สุดต้องร่วมรัฐบาล เงื่อนไขสำคัญของเรา คือ นโยบายปากท้องพี่น้องประชาชนต้องเป็นอันดับ 1” สันติทิ้งท้าย