แกะลายแทง ตามข่าวลือ “วิโรจน์” คือผู้ว่า กทม. ของ ก้าวไกล ?

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

ชื่อ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ถูกลือทันทีว่า เขาคือ “ผู้ถูกเลือก” ให้เป็นแคนดิเดตผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครของพรรคก้าวไกล

หลังจากพรรคก้าวไกล “อุบเงียบ” มาพักใหญ่ ทั้งที่คู่แข่งร่วมสนามเปิดตัวไปหลายราย ไม่ว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ – สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

คลิปวีดีโอที่ พรรคก้าวไกลปล่อยออกมาเป็น “ทีเซอร์” เป็นภาพเบื้องหลังผู้ชายคนหนึ่งเดินตลาดสด มีธีม “ถึงเวลาเลือกผู้ว่าฯที่พร้อมชนเพื่อคนกรุงเทพฯ”

ซึ่งต่อมา “วิโรจน์” ยอมรับว่าคือตัวเขาเอง

“ไปเป็นตัวแสดงว่าชีวิตของคน กทม. เป็นอย่างไร ในคลิปถ่ายผมจากบริเวณข้างหลัง ที่เลือกผม เพราะตัวใหญ่และหลังใหญ่ เพื่อจะให้ขึ้นกล้อง โดยเราพยายามจะสื่อสารและสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตของมนุษย์กรุงเทพฯ ให้มากที่สุด”

แต่เขาไม่ยอมปริปากว่า เขาคือแคนดิเดตผู้สมัครที่ที่ “ถูกเลือก” หรือไม่

ลองแกะรอยตามคำบอกใบ้ ผ่านลายแทง ที่ “วิโรจน์” เปิดเผยเองผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวของเขา @Wiroj77 ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ของพรรคก้าวไกลเป็นแบบไหน

17 มกราคม วิโรจน์ ทวิต 2 ข้อความ ว่า “ผู้สมัครผู้ว่าฯ จากพรรคก้าวไกล เป็นคน กทม. ธรรมดาๆ เป็นลูกแม่ค้า ที่ในวัยเด็กก็ต้องดิ้นรนเรียน โตขึ้นมาก็ต้องดิ้นรนทำงาน ทุกสิ่งที่ได้มาล้วนมาจากพลังความคิด ความตั้งใจ และน้ำพักน้ำแรง”

“เป็นคนที่พร้อมชนกับทุกปัญหา เป็นคนตรงไปตรงมา งานอะไรที่รับอาสาก็พร้อมทุ่มเท ทำอย่างสุดตัว”

อีกข้อความระบุว่า “การเปิดตัวผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ของพรรคก้าวไกล ต้องขอบคุณไอเดียจากด้อมต่างๆ การติดป้ายตามร้านรถเข็น นอกจากจะประหยัดแล้ว ยังเป็นการกระจายรายได้ให้กับคนตัวเล็กตัวน้อยอีกด้วย”

พร้อมกับโพสต์ ป้ายอีเวนต์การเปิดตัวผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ของพรรค ในวันที่ 23 มกราคม ที่ติดอยู่หลังรถตุ๊กตุ๊กสามล้อ และร้านสตรีทฟู๊ด

ในช่วงต้นเดือนธันวาคม “วิโรจน์” ยังเคยเปิดเผยคุณสมบัติของผู้ว่า กทม.กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ก่อนที่พรรคประชาธิปัตย์ เปิดตัว “ดร.เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เป็นผู้สมัครผู้ว่า กทม. ว่า

นอกจากจะต้อง “ใหม่ ชัด โดน” ยังต้องตีโจทย์สมาร์ทซิตี้ ให้มหานครเป็นเมืองแห่งอนาคต ลดความเหลื่อมล้ำคน กทม. และ ต้องมีคุณสมบัติและความสามารถที่จะจัดการระบบสาธารณสุขระดับเมืองมหานคร เพื่อปรับปรุงให้ กทม.มีระบบสาธารณสุขที่สามารถรองรับโรคระบาดในอนาคตให้ได้

“ต้องเข้าใจระบบการแพทย์ เข้าใจระบบสาธารณสุขด้วย”

ส่วน “ลายแทง” ของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่บอกไว้เมื่อ 23 ธันวาคม 2564 ว่า ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ของพรรคก้าวไกล ต้องมีความชำนาญที่หลากหลาย คอนเน็กชั่นที่หลากหลาย

ในการบริหารเรื่องที่เกี่ยวกับเอกชน การบริหารคมนาคม การจัดการขยะ เทคโนโลยีดิจิทัล กล้อง cctv ที่ทำให้เกิดความปลอดภัยใน กทม.ต้องมีคนที่รู้วิธีคิดแบบภาคเอกชน

ขณะเดียวกันต้องเข้าใจถึงกระทรวง ทบวง กรม ทั้งหลาย ทั้ง public side และ private side ที่ทำให้เกิดการประสานงานและเกิดการเปลี่ยนแปลงใน กทม.ได้

“ว่าที่ผู้สมัครของผมเป็นแบบนี้ มีทั้งประสบการณ์ด้านภาคเอกชน และภาครัฐ เคยผ่านการทำงานด้านบริษัท พอที่จะเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจ รู้เรื่องคอขวดระบบการศึกษา เป็นว่าที่ผู้สมัครที่ตอบโจทย์การบริหารเมืองหลวง เป็นวัยร่วมสมัย ไม่ได้อายุมากเกินไป น้อยเกินไป เข้าใจคนที่มาก่อนเขา และคนที่มาหลังเขา เชื่อมสอดประสานไม่ว่าคนรุ่นหลังหรือคนรุ่นก่อนเขาได้พอสมควร และไม่ใช่พี่สาวของคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” นายพิธา กล่าว

ตอนนั้น “พิธา” ยังบอกเพิ่มว่า นโยบายต้องทำงานแบบไร้รอยต่อระหว่างพรรคการเมืองกับผู้สมัครผู้ว่า กทม.และจะเสนอแนวคิดที่ไม่ใช่เป็นแค่ กทม.ไม่ได้อยู่ในตัวของมันเอง การมองกรุงเทพและปริมณฑล BANGKOK กับ Greater Bangkok เป็นมุมมองใหม่

ที่จะสามารถปลดล็อกปัญหาที่ใครๆ ก็รู้ว่าปัญหาคืออะไรแต่แก้ไม่ได้ เพราะยังไม่มีใครลงไปลึกถึงชั้นที่ 2 ชั้นที่ 3 ทั้งทำอย่างไร ทำอะไรและต้องชนกับใคร เรื่องคมนาคมต่างๆ มีผลประโยชน์กับเอกชนที่เกี่ยวข้องไหม ถ้ามีใครจะพร้อมทั้งกฎหมายในนิติบัญญัติ และการต่อสู้ของผู้ว่าที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ

ลองมาดู โปรไฟล์ของ “วิโรจน์” เกิดเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2520 เป็นครอบครัวชนชั้นกลาง พ่อเป็นผู้จัดการร้านขายผ้าที่สำเพ็ง ส่วนแม่เป็นแม่บ้าน

“วิโรจน์” เรียนจบวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศกรรมยานยนต์) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต จากสถาบันเดียวกัน และจบ “ด็อกเตอร์” ด้วยปรัชชาดุษฎีบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์) จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า

แถมกรีดเลือดออกมาเป็นเดอะคอป สาวกลิเวอร์พูลเต็มขั้น

เขาให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงเส้นทางชีวิตของเขาว่า หลังเรียนจบจากวิศวกรรมศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ออกมาทำงานเป็นวิศวกรในอุตสาหกรรมยานยนต์ ตอนทำงานก็ค้นพบว่า การเป็นวิศวกรในระบบอุตสาหกรรมจะไม่ได้ใช้ศักยภาพการเป็นวิศวกรในตัวเองเลย

เพราะเราเป็นประเทศที่รับเอาเทคโนโลยีจากประเทศอื่นมาผลิตชิ้นส่วนต่างๆ อย่างมากก็แค่แก้แบบเพื่อหาซัพพลายเออร์ หรือผู้ผลิตในประเทศเพื่อลดการส่งออก

จนถึงจุดหนึ่งก็ตั้งคำถามว่าไม่ได้ใช้วิชาชีพสิ่งที่เรียนมา จึงตัดสินใจไปเรียนปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะในยุคนั้นกำลังฮิตทำ ISO หรือ KPI และผันตัวเองไปเป็น Consaltant อยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนเปลี่ยนมาทำงานที่ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน)

ทำในส่วนของร้านหนังสือซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ อยู่ในฝ่ายบริหารมีหน้าที่เกี่ยวกับทำร้านหนังสือให้น่าสนใจและดึงดูดลูกค้า และดูแลเกี่ยวกับด้านการค้าปลีก ทำงานที่นี่ประมาณ 10 กว่าปีในห้วงเวลาหนึ่ง จึงได้รับมอบหมายหน้าที่ให้ไปดูแลเกี่ยวกับงานด้านการศึกษาด้วย เพราะต้องขายหนังสือ หรือสื่อการเรียนการสอนให้กับโรงเรียน จึงทำให้เราได้เห็นอุปสรรคของโรงเรียนว่าเหตุใดโรงเรียนของประเทศไทย จึงมีอุปสรรคในด้านการพัฒนา

ส่วนผลงาน เดบิลต์ ของ “วิโรจน์” บนถนนสายการเมือง เขาคือมือแฉขบวนการ IO ของกองทัพ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบที่ 1

เขาเป็น ผู้อภิปรายไม่ไว้วางใจ การบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาล พุ่งเป้าไปที่ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ รมว.สาธารณสุข และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งที่ 2

เขาเป็นคนที่ “ท้าชน” บุกไปทวงเอกสารขอข้อมูลวัคซีน จากกระทรวงสาธารณสุข

ย้อนกลับไปดู สเป๊ก ผู้ว่า กทม.ตามลายแทงของ “พิธา” ก็มีความคล้ายโปรไฟล์ของ “วิโรจน์”

1. ประสบการณ์ด้านภาคเอกชน และภาครัฐ เคยผ่านการทำงานด้านบริษัท พอที่จะเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจ

2.รู้เรื่องคอขวดระบบการศึกษา

3.เป็นว่าที่ผู้สมัครที่ตอบโจทย์การบริหารเมืองหลวง

4.เป็นวัยร่วมสมัย ไม่ได้อายุมากเกินไป น้อยเกินไป เข้าใจคนที่มาก่อนเขา และคนที่มาหลังเขา เชื่อมสอดประสานไม่ว่าคนรุ่นหลังหรือคนรุ่นก่อนเขาได้พอสมควร

เพียงแต่ก่อนหน้านี้ ขุนพลก้าวไกล หลายคนเคยออกมา ชูภาพลักษณ์ แคนดิเดตผู้สมัครผู้ว่า กทม.ก้าวไกลจะต้อง “ใหม่ – ชัด – โดน”

แต่ “วิโรจน์” ก็ไม่ได้เป็น “ของใหม่” บนสังเวียนการเมือง เพราะเป็น ส.ส.ย่างเข้าปีที่ 3 แล้ว

23 มกราคม ก้าวไกล จะเป็นตัวผู้สมัครผู้ว่า กทม. จะ “ใหม่” หรือ “เก่า”

จะ “แป๊ก” หรือ “โดน” รอลุ้น