สุทิน วิเคราะห์ รัฐบาลสุนัขป่วย บิ๊กป้อม ตัวอันตรายของ ประยุทธ์

สุทิน คลังแสง
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

ผู้เขียน : ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ

 

ฝ่ายค้านเร่งเครื่องไล่ต้อนรัฐบาลด้วยยุทธการ “ล้มสภา” งดแสดงตัวทำให้องค์ประชุมล่ม

พร้อมกับเตรียม “ซักฟอกรัฐบาล” ตามรัฐธรรมนูญ 152 แบบไม่ลงมติ

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวน “สุทิน คลังแสง” ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ซึ่งคาดหวังว่าใช้การอภิปรายครั้งนี้ตอกย้ำว่ารัฐนาวาประยุทธ์หมดความชอบธรรม

และปูทางไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งฝ่ายค้านเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์จะถูกน็อกคาเวที

Advertisment

เปิดแผลเน่ารัฐบาล

สุทินตอบคำถามอย่างมั่นใจว่า การอภิปรายตามรัฐธรรมนูญ 152 เที่ยวนี้จะได้เปิดแผลและชี้ให้เห็นความบกพร่อง อ่อนแอ และการบริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพ ด้อยประสิทธิภาพของรัฐบาล

เมื่อเราชี้ให้เห็นอย่างนี้ เชื่อว่าศรัทธาต่อประชาชนจะลดลง พรรครัฐบาลก็จะอยู่ไม่ได้ เชื่อว่ารัฐบาลจะสั่นคลอนไม่ต่ำกว่าอภิปรายไม่ไว้วางใจ

เป้าหมายที่พรรคเพื่อไทยจะขยี้รัฐบาลหลักคือ ประเด็นเศรษฐกิจเรื่องใหญ่ ประเด็นการเมืองที่ไม่มีการปฏิรูปเลยในช่วงของ พล.อ.ประยุทธ์ มีแต่ความล้าหลัง หาคนดีมาทำงานไม่ได้ มีความแตกแยกและปั่นป่วนในรัฐบาลเอง ทำให้เสถียรภาพรัฐบาลลดลง

ส่วนประเด็นทุจริตอาจจะมีบางเรื่องที่เปิดใบเสร็จทุจริต แต่บางเรื่องอาจจับได้ไล่ไม่ทัน แต่พูดแล้วสังคมจะเชื่อได้ว่ามีการทุจริต ไม่ชอบมาพากล เอื้อทุนใหญ่

Advertisment

หวังพรรคร่วมถอนตัว

การอภิปรายครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์อาจไม่ต้องกังวล เนื่องจากไม่มีการลงมติให้นายกฯอยู่หรือไป

สุทินตอบว่า แม้ลงมติโหวตเขาก็ไม่ไปอยู่แล้ว โหวตเขาไปไม่ได้อยู่แล้วเพราะมือเรา (ฝ่ายค้าน) น้อยกว่า

แต่การอภิปรายมาตรา 152 ที่จะเช็กบิล คือ สมมุติฝ่ายค้านอภิปรายได้ดี ข้อมูลชัด รัฐบาลจนมุม ประชาชนร้องยี้ มันจะไม่จบด้วยการโหวตเหมือนอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่จะจบที่พรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรคจะไม่ร่วมตามด้วย ซึ่งมีสัญญาณอยู่

“สัญญาณ” ที่ว่าคืออะไร “สุทิน” กล่าวว่า กรณีที่พรรคร่วมรัฐบาลบอยคอตไม่ร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดังนั้น รัฐบาลชุดนี้ที่สภาก็ล่ม ครม.ก็ล่ม ป่วนทั้งในสภา ป่วนทั้ง ครม. นี่เป็นครั้งแรกที่ประท้วงใน ครม.

“ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ ในที่สุดความสัมพันธ์ก็เปราะบาง ไม่เกรงใจกันแล้ว ไม่พอใจฉันก็ไม่เข้าประชุม ดังนั้น โอกาสที่จะแยกทางหรือถอนตัวมีความเป็นไปได้ง่าย”

“การบอยคอตของพรรคภูมิใจไทยใน ครม.ก็จะลามมาที่สภาผู้แทนฯต่อไป ส.ส.ภูมิใจไทยอาจไม่ประชุมสภา หรือ ประชุมแต่ไม่ยกมือให้รัฐบาลก็เป็นได้”

“พล.อ.ประยุทธ์ต้องยอมอะไรสักอย่างในสถานการณ์นี้ เพราะไม่ยอมอะไรก็ไม่ได้ จะอยู่เหมือนเดิมไม่ได้ ไม่ยอมหักก็ต้องยอมงอ ไม่ยอมงอก็ต้องยอมหัก”

“ความเสื่อมเห็นปรากฏมีตัวชี้วัดให้เห็นเรื่อย ๆ เช่น การบอยคอตในประชุม ครม. ยิ่งมีการอภิปราย ซัดเข้าหนัก ๆ สุนัขป่วย เห็บเหาก็เริ่มโดดหนี”

หมดเวลา Sweet Dream

พล.อ.ประยุทธ์ผ่านการถูกซักฟอกในสภามาหลายหน ยังเหนียว แน่น หนึบอภิปรายครั้งนี้จะต่างจากครั้งก่อนอย่างไร

“สุทิน” ตอบว่า ต่างกันโดยบริบท เรื่องเวลาก็ต่าง ทุกครั้งเป็นช่วง sweet dream แต่งงานใหม่ ๆ เขาก็รัก ผลประโยชน์ ยังเกาะเกี่ยวเหนี่ยวนำร่วมกันอยู่ก็ยังหนีกันไม่ได้ อะไรก็ต้องอยู่ แต่พอล่วงเลยมาถึงปีสุดท้าย ปลายสมัยก่อนเลือกตั้งความคิดก็จะเปลี่ยน ผลประโยชน์ก็จะเริ่มได้ที่ได้ทาง

ถึงตอนนี้คือสถานการณ์แห่งการแข่งขัน บังเอิญแข่งขันกันมา 2-3 ครั้งในการเลือกตั้งซ่อม ก็กระทบกระทั่งกันแล้ว และยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงปลายเทอม

“ถ้าเป็นมวยก็เป็นมวยยก 5 ต้องซัดกันแหลก พรรคใครพรรคมัน แยกสร้างความนิยม เข้าสู่การเลือกตั้ง นอกจากแยกกันสร้างความนิยมแล้วก็จะไม่ร่วมกันตาย ร่วมเน่าด้วยกัน พร้อมจะตีชิ่ง ช่วงนี้คือช่วงพร้อมจะดีดเอาหล่อ พอเพื่อนจะตายแล้วก็ดีดเอาหล่อ”

ช่วงที่พรรคร่วมรัฐบาล ดีด “เอาหล่อได้” คือ 1.จับทุจริต หรือจับความล้มเหลวของรัฐบาลถูกต้อนจนมุมในสภา 2.เขาก็จมูกเร็ว ถ้าดูว่าประชาชนไม่เอา ไม่ศรัทธา พรรคแกนนำเขาก็ต้องรู้ เช่น เลือกตั้งซ่อม 3 ครั้ง เขาแพ้รวด เป็นสัญญาณว่าคนเริ่มไม่ไหวแล้ว ฉันจะกอดคอตายกับคุณได้อย่างไร ผ่านช่วง sweet dream มาแล้ว

5 แนวรบผุกร่อน

แม้ว่าพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย การันตีว่าเสถียรภาพยังมั่นคง ถาม “สุทิน” ว่า คำพูดของพรรคร่วมรัฐบาลเชื่อได้แค่ไหน ในฐานะที่เป็นมนุษย์การเมืองด้วยกัน

(ตอบทันที) เชื่อไม่ได้หรอก เขาก็ต้องพูดอย่างนี้แหละ ในวันที่อยู่ด้วยกัน แต่โดยในลึก ๆ เขารู้ว่ามีปัญหา จะไปไม่รอด จึงต้องพูดสร้างความเชื่อมั่นไว้ก่อน จะมีเสถียรภาพได้อย่างไรในเมื่อคนหนีออกจากพรรคร่วมรัฐบาลไป 21 เสียง

คำว่ามีเสถียรภาพมั่นคงดูจากอะไร ผมดูจาก 5 แนวรบ 1.ความเป็นเอกภาพพรรคแกนนำรัฐบาล พรรคพลังประชารัฐ เห็นความแข็งแกร่งเหมือนในอดีตไหม…ไม่มีแล้ว ถ้าพรรคแกนนำแตกสลาย ป่วนแล้ว 2.แนวรบในสภา ล่มทุกสัปดาห์ วันนี้รัฐบาลแพ็กองค์ประชุมไม่ได้ ถ้าจะยิงก็โดนทุกลูก

3.ไปดูการเลือกตั้งซ่อม 3 ครั้ง นอกจากพรรคแกนนำแพ้แล้ว ก็ไม่เกรงใจ ซัดกันเละในพรรคร่วมรัฐบาล 4.แนวรบโซเชียลออกมาโจมตีรัฐบาลมากขึ้นกว่าเดิม และ 5.ครม.ก็เกิดปรากฏการณ์พิเศษ

“อย่างนี้จะบอกว่าแข็งแรงได้ยังไง ผมมองว่าไม่แข็งแรง”

4 ด่านนรกรัฐบาล

สุทินฉายภาพวิบากกรรมของรัฐบาลนับจากนี้ว่า มี “4 ด่านนรก” ด่านแรก 17-18 กุมภาพันธ์ คืออภิปรายมาตรา 152 ด่านต่อไปคืออภิปรายไม่ไว้วางใจเดือนพฤษภาคม ด่านต่อไปพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2566 เป็นไปได้ว่าพวกคุณ (รัฐบาล) จะแทงข้างหลังกัน ดีไม่ดีคุณหักกันเอง ก็ล้มได้ทุกขณะ

สถานการณ์วันนี้ไว้ใจกันได้ไหมล่ะ 21 คน (ส.ส.กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า) ที่ออกมาจากพรรคพลังประชารัฐ และที่ฝังตัวในพรรคพลังประชารัฐอีก 17 คน มา 21 หนีทัพ 1 และยังเหลือที่เดิม 17 ดังนั้น พอเจอด่านอภิปรายไม่ไว้วางใจ มั่นใจว่าจะยกมือให้รัฐบาลครบไหม ถ้าเกิดเขาไม่เอา ก็คว่ำได้ มันเปราะบางมาก

ข้ามไปเรื่องงบประมาณ 2566 ถ้างบประมาณตกสภา รัฐบาลก็ยุ่ง และมีโอกาสตกไหมล่ะ ก็ 21+17 ยังหลอกหลอนคุณอยู่ ถัดจากงบประมาณก็ยังมีอีกด่าน คือ ดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์

รัฐบาลในสภาพอ่อนแออย่างวันนี้แล้วจะผ่าน 4 ด่านได้ไหมล่ะ ปีแรก ปีที่สอง ผ่านได้ แต่ปีนี้คุณไม่เหมือนเดิมจะผ่านด่านหินได้ไหมล่ะ

ประวิตร ตัวปัญหา บิ๊กตู่

ทว่า “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ บอกเองว่าคุมทั้ง 2 พรรค ทั้งพรรคพลังประชารัฐ และพรรคเศรษฐกิจไทยที่มี ร.อ.ธรรมนัสเป็นแบ็กอัพได้ไม่มีปัญหา

สุทินแย้งว่า “พล.อ.ประวิตรนั่นแหละอันตรายสำหรับรัฐบาล ร.อ.ธรรมนัสชัดเจน รู้เลย เอาก็คือเอา ไม่เอาคือไม่เอา แต่คนที่พูดยังเหยียบเรือสองแคม นี่แหละอันตราย บอกว่าสนับสนุนรัฐบาล สั่งการได้เต็มที่ แต่อีกขณะหนึ่งให้ลูกน้องไปตั้งพรรคใหม่”

“คนที่อันตรายที่สุดสำหรับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่ ร.อ.ธรรมนัส แต่เป็น พล.อ.ประวิตร แล้ววันนี้มีใครกล้าพูดว่า พล.อ.ประวิตรไม่ได้อุ้มชู ร.อ.ธรรมนัส คนละทางกับ ร.อ.ธรรมนัส ไม่มีใครเชื่อ…ใช่ไหม”

“แล้วใครบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์กับ พล.อ.ประวิตรหักเป็นหัก คนก็ยังลังเล หรือบอกว่ารักกัน 100% ก็ยังไม่มีใครเชื่อ คนนี้ (พล.อ.ประวิตร) คือตัวแปร วันหนึ่งเกิดแกสั่งการทั้ง 17 คน และ 21 คนก็จบ เพราะอยู่กับแกหมด”

ขุนทหารหักล้างกัน

สุทินอ่านความสัมพันธ์ 3 ป. พล.อ.ประยุทธ์-พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ว่า ในวัฒนธรรมทหารเขาก็มีพี่มีน้อง รักกันแบบนี้แหละ ในอดีตก็รักกันมานาน ไม่ทิ้งกันง่าย ๆ

แต่ถึงจุดหนึ่งหนักเกินที่จะเอาอยู่ พอคุณก้าวเข้ามาอยู่สมรภูมิการเมืองมันไม่เหมือนกับกองทัพ ความรักเป็นพื้นฐาน…เชื่อว่าเขาแน่นแฟ้น แต่ทางการเมืองจะทำให้คุณแน่นแฟ้นอย่างนั้นตลอดไปไม่ได้ ในอดีตขุนทหารหักล้างกันเยอะ

ถาม “สุทิน” ว่า คำว่าการเมืองมีอะไรพิเศษ ถึงทำให้เพื่อนร่วมรบแตกคอกันได้ เขาตอบว่า

“ประชาชน พอมาการเมืองปั๊บ มันถูกกำกับโดยประชาชน ถูกกดดันและท้าทายโดยประชาชนและผลประโยชน์ของประชาชน อยู่ในกองทัพร้อยเอกก็เล็กกว่าพลเอกอยู่แล้ว สั่งให้ตายต้องตาย แต่พอมาอยู่สนามของประชาชน บางครั้งร้อยเอกใหญ่กว่าพลเอก ทำให้เพื่อนรักเลิกกันนะ”

“เพื่อนรักจะมากอดคอทำเพื่อประโยชน์ของคุณ 3 คน ไม่ได้ ต้องมีประโยชน์ของประชาชนเข้ามา ตรงนี้ก็ต้องแยกกัน”

ทำนายฉากจบรัฐบาล

สุทินเชื่อว่าฉากจบของรัฐบาลจะจบด้วยอาการยุบสภา ลาออกก็ไม่ใช่ ฝ่ายรัฐบาลบางพรรคถอนตัว และ พล.อ.ประยุทธ์จำเป็นต้องยุบสภา แล้วก่อนเข้าสู่ด่านที่ 2 ที่ 3 คืออภิปรายไม่ไว้วางใจและพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี’66 คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ถอดใจก่อน สถานการณ์ไม่ดีแล้ว เพื่อนไม่ยกมือให้แน่

ถ้า “พล.อ.ประยุทธ์” ชิงยุบสภา โอกาสจะกลับยังมีอยู่หรือไม่ เพราะมีมือ 250 ส.ว.หนุนหลัง

“สุทิน” วิเคราะห์ว่า ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์กลับมาไม่ได้อีกแล้ว พรรคไหนจะชูเป็นนายกฯ พลังประชารัฐจะยังเหลืออยู่ไหมก็ยังไม่รู้ ถึงเวลาอาจเป็นบ้านร้างก็ได้ เพราะคนหนีหมด เพราะคนทยอยไปอยู่สร้างอนาคตไทยของกลุ่ม 4 กุมาร ไปอยู่กับรวมไทยสร้างชาติ หรือเศรษฐกิจไทย

ในขณะที่พรรคอื่น ๆ ก็ชูคนของเขา ดังนั้น จะกลับมาอีกก็ยาก อาจจะมีรวมไทยสร้างชาติพรรคเดียวที่เสนอ แต่ตอนนี้พรรคก็ยังเป็นวุ้นอยู่ แล้วถ้าชู พล.อ.ประยุทธ์คิดว่าคะแนนนิยมจะมาเหรอ ผมไม่ค่อยเชื่อโพล

แล้วอะไรทำให้ พล.อ.ประยุทธ์มั่นใจว่าอยู่ครบเทอม “สุทิน” ตอบว่า

“เขาคิดว่าเขาควบคุมภาคสังคมได้ ม็อบไม่มีมาไล่แล้ว แต่เขาลืมไปว่าภายในสภายากกว่า ปัญหาของเขาคือในสภา เขาคิดว่าแก้ได้ แต่ผมคิดว่าแก้ยาก”

“กล้วยอย่างเดียวอาจไม่ได้ ต้องมีแถมตำแหน่ง ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้คือตำแหน่ง กล้าให้เขาไหม ตำแหน่ง รมว.มหาดไทยกล้าให้ไหม 2 รัฐมนตรี”