กฎหมายเลือกตั้งฉบับฝ่ายค้าน ติดล็อก ปมครอบงำ ลดอำนาจศาล

รายงานพิเศษ

 

ร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับ ที่จะใช้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า (หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ไม่ด่วนตัดสินใจยุบสภาก่อนกฎหมายลูกเสร็จ) ทั้งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (ร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.)

และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (ร่างกฎหมายพรรคการเมือง) ซึ่งเข้าสู่วาระการประชุมของรัฐสภา (ส.ส.+ส.ว.) ในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2565

อันเป็นจุด “คิกออฟ” ที่พรรคการเมืองจะใช้กติกาดังกล่าว เป็นสารตั้งต้นในการเตรียมพร้อมการเลือกตั้ง และอาจกลายเป็นจุดตัดสินชัยชนะเลือกตั้งในบั้นปลาย

ตกผลึกสูตรคำนวณเลือกตั้ง

ร่างกฎหมายลูกที่รัฐสภาพิจารณา มีด้วยกันถึง 10 ร่าง แบ่งเป็น ร่างฝ่ายรัฐบาล-พรรคร่วมรัฐบาล 5 ร่าง

และร่างของพรรคฝ่ายค้าน 5 ร่าง

ทั้งนี้ กฎหมายเลือกตั้ง 4 ฉบับ ทั้ง ส.ส.ของพรรครัฐบาล-ฝ่ายค้าน โครงหลักไม่ต่างกัน เพราะต้องล้อมาจากรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่เปลี่ยนกติกาการเลือกตั้งจากบัตรใบเดียว มาเป็นบัตร 2 ใบ

อาทิ มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือ ส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้ง และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

จำนวน ส.ส.ให้มี ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน

การคำนวณคะแนน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ คือนำคะแนนที่เลือกพรรคการเมืองทุกพรรคทั่วประเทศรวมกัน หารด้วยจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน เพื่อให้ได้คะแนนที่พึงมีของ ส.ส. 1 คน

หากได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่ครบ 100 คน ให้คิดคะแนนจากเศษคะแนน โดยให้สิทธิทุกพรรค นำคะแนนเศษจัดลำดับอันดับสูงสุด เพื่อคำนวณหา ส.ส.ที่เหลือ เพื่อให้ครบจำนวน 100 คน ซึ่งกรณีดังกล่าวจะทำให้พรรคขนาดเล็กมีสิทธิได้ที่นั่งในสภา

แต่ในรายละเอียดปลีกย่อยที่ต่างกัน เช่น ร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับพรรคเพื่อไทย กำหนดหมายเลขผู้สมัครของ ส.ส.เขต กับผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นหมายเลขเดียวกันทั่วประเทศ ในลักษณะเขตเดียว เบอร์เดียว

ทว่าประเด็นนี้แตกต่างจากร่างกฎหมายเลือกตั้งของฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาล และร่างของคณะรัฐมนตรี ที่กำหนดให้หมายเลขผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อกับ ส.ส.เขตต่างเบอร์กัน โดยเฉพาะเขตเลือกตั้งใครมาก่อนก็ได้เบอร์ไปก่อน แต่ถ้ามาพร้อมกันก็จะจับสลากหมายเลขของตัวเอง เหมือนตอนเลือกตั้ง
24 มีนาคม 2562

กฎหมายลูก

ชงเลิกยุบพรรค

แต่รายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างไปจากทุกฉบับคือ ร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ของพรรคก้าวไกล คือ ยกเลิกการยุบพรรคการเมือง จากการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง เพิ่มบทกำหนดโทษกรณีที่มีผู้กระทำให้คะแนนเสียงที่ถูกนับกับบัตรเลือกตั้งไม่ตรงกัน (บัตรเขย่ง)

เพิ่มบทกำหนดโทษกระทำการขัดขวางการบันทึกภาพและเผยแพร่ภาพและเสียงของประชาชนผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้ง

มีรายงานเบื้องต้นว่า พรรคการเมืองหลักร่วมรัฐบาล 267 เสียง อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคพลังประชารัฐ มีทิศทางในการลงมติสอดคล้องกัน คือจะรับร่างของคณะรัฐมนตรีเป็นร่างหลัก รวมถึงร่างของพรรคร่วมรัฐบาล

ผสมโรงแก้ครอบงำพรรค

ขณะที่ร่างกฎหมายพรรคการเมือง บรรดาร่างพรรคการเมืองทั้งพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคเพื่อไทยแกนนำฝ่ายค้าน เห็นใกล้เคียงกัน คือ สมควรแก้ไขเรื่อง “ไพรมารี่โหวต” ควรจะมีตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดเพียงเขตเดียว หรือสาขาพรรคการเมือง สามารถจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกพรรคการเมืองในเขตเลือกตั้ง เพื่อส่งรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.ให้กับคณะกรรมการสรรหาของพรรค ก่อนส่งให้คณะกรรมการบริหารพรรคอนุมัติ แทนการจัดทำ “ไพรมารี่โหวต” หรือการเลือกตั้งขั้นต้น ไม่ว่าจะเป็น ส.ส.เขต หรือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่ “งอกขึ้นมา” ในร่างกฎหมายพรรคการเมืองของพรรคเพื่อไทย ที่ขอแก้ไขในประเด็นย่อย แต่เป็น “เรื่องใหญ่” โดยขอแก้ไขมาตรา 28 และมาตรา 29 เพื่อสามารถให้บุคคลอื่นให้คำปรึกษา แนะนำ เสนอแนะ หรือให้ข้อมูลแก่พรรคการเมือง เพื่อประกอบการตัดสินใจในการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองได้

เพื่อแก้ปมที่พรรคเพื่อไทยถูกร้อง “ยุบพรรค” ซึ่งเกี่ยวพันถึง “พี่โทนี่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่ามีส่วนครอบงำพรรคเพื่อไทยหรือไม่

ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าว “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า คนที่ไม่เห็นด้วยก็กล่าวหาว่าเป็นการสอดไส้เพื่อเอื้อต่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ

แต่ประเด็นคือ เราเขียนให้มันชัดขึ้นก็เท่านั้นเอง สมมุติมีการเสนอประเด็นที่เป็นประโยชน์

พรรคการเมืองก็สามารถนำมาประกอบการตัดสินใจในการมาทำเป็นกิจกรรมของพรรคการเมืองได้ รวมถึงนักวิชาการที่ออกมาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ก็สามารถหยิบเอามาใช้ได้ ไม่ได้เป็นการครอบงำชี้นำ แต่มันเป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ หากกิจกรรมใดเป็นลักษณะการชี้นำครอบงำพรรคการเมือง ก็เขียนให้มันชัดเจนไปเลย ไม่ต้องมากำกวม มันควรจะเป็นอย่างนั้น

แต่ “นพ.ชลน่าน” เชื่อว่า คงถูกตีตก “เขาคงไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว ตีตกโดยไม่รับหลักการแน่นอน”

ก้าวไกลชงลดอำนาจศาล

ขณะที่ร่างกฎหมายพรรคการเมืองของพรรคก้าวไกล แหลมคมกว่านั้น โดยเสนอตัดอำนาจ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ให้ “ยกเลิกอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรคการเมือง และการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง”

ทั้งนี้ พรรคเสียงข้างมากซีกรัฐบาล เตรียมลงมติเห็นชอบกับร่างกฎหมายพรรคการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาล ส่วนประเด็นแหลมคมที่ฝังอยู่ในพรรคเพื่อไทย และร่างของพรรคก้าวไกล มีสิทธิสูงยิ่งที่จะไม่ได้รับอนุมัติจากรัฐสภา

ส.ว.จ่อคว่ำร่างฝ่ายค้าน

เพราะนอกจาก “องค์ประกอบ” ขัง “รัฐสภา” จะมีจำนวนมือในสภาผู้แทนราษฎรทั้งจะโหวตแล้ว ยังมีมือของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อีก ส.ว. 250 คน ที่เป็น “ตัวชี้ขาด”

“สมชาย แสวงการ” ส.ว. และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เคยทำคลอดกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ คือ กฎหมายเลือกตั้ง 2561 และกฎหมายพรรคการเมือง 2560 ที่เป็น “กติกาการเลือกตั้ง” 24 มีนาคม 2562 กล่าวถึงทิศทางการโหวตของ ส.ว. หลังนักเลือกตั้ง ส.ส.พยายามที่จะแก้กฎหมายลูก 2 ฉบับดังกล่าว แม้เป็นความเห็นส่วนตัว แต่สามารถสะท้อนความคิดของ ส.ว.ได้ ว่า…

ยังตอบไม่ได้ เราต้องดูทั้ง 10 ร่าง เพราะ ส.ว.ไม่ได้ไปอยู่ฝ่ายรัฐบาล หรือฝ่ายค้าน แต่เราดูหลักว่า เราแก้ไขรัฐธรรมนูญจากบัตรเลือกตั้งจากบัตรใบเดียว เป็นบัตร 2 ใบ ดังนั้น กฎหมายลูกที่จะแก้ ต้องไม่เกินหลักการของรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นหลักการที่สัมพันธ์กัน

“ดังนั้น จึงต้องพิจารณาสอดคล้องกับหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญคราวที่แล้วเท่านั้น แต่บางอันที่เราเห็นว่าเสนอเกินหลักการ เราบอกว่าเสนอได้ ส.ว.ไม่ขัด แต่ต้องเสนอให้ชัดว่า ที่เสนอแก้ไขเพราะไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง เช่น การขอแก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองมาตรา 28-29 (ครอบงำพรรคการเมือง ที่พรรคเพื่อไทยเสนอ) มันไปเกี่ยวกับเลือกตั้ง 2 ใบตรงไหน”

“ไม่ได้ตั้งเป้าว่าเป็นฝ่ายค้านเสนอ เพราะต่อให้รัฐบาลเสนอแบบนี้ เราก็เห็นว่ามันไม่เข้ากฎหมายนี้ เพราะไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง แต่ถ้าเสนอกฎหมายลูกที่ไม่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญคราวที่แล้ว เช่น แก้ไขศาลรัฐธรรมนูญให้ไม่มีอำนาจ ก็เสนอได้ เสนอมาให้ชัดจะได้รู้ว่าผ่านไม่ผ่าน”

“ความเห็นส่วนตัวคิดว่า ครั้งนี้ ส.ว.พิจารณาแค่ประเด็นที่ยึดโยงกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น เพราะเราแก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ เรื่องบัตรใบเดียว มาเป็นบัตร 2 ใบ ดังนั้น การพิจารณากฎหมายลูกคราวนี้ หลักการและเหตุผลต้องสัมพันธ์กับรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเท่านั้น ที่เหลือจะเป็นร่างของใครบ้างต้องไปดู ชัดเจน เราไม่พิจารณานอกกรอบ”

“ถ้ามีการอ้างว่ามีการยึดโยงกับรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม เราก็จะถามว่ายึดโยงตรงไหน ไอ้การครอบงำพรรคการเมือง”

ส่วนประเด็น “ไพรมารี่โหวต” นั้น “สมชาย” กล่าวว่า คำถามว่าแล้วไพรมารี่โหวตไม่ดีตรงไหน เพราะเป็นประชาธิปไตยพื้นฐานขั้นต้น ถ้าไม่ให้ผู้เป็นสมาชิกพรรคเลยจะทำอย่างไร ตนไม่ได้ติดใจขึ้นอยู่กับที่ประชุมรัฐสภาจะว่าอย่างไร

แต่ส่วนตัวเห็นว่า “ถ้าจะปรับปรุงเล็กน้อย” ตนเห็นด้วย แต่ถ้าตัดทิ้ง..ก็ต้องถามคำถามว่า ตกลงระบบพรรคการเมืองที่บอกว่าสมาชิกพรรคเป็นเจ้าของพรรค หรือนายทุนเป็นเจ้าของพรรค อันไหนคืออำนาจที่แท้จริง

24-25 กุมภาพันธ์ ร่างกฎหมายลูกของพรรคฝ่ายค้าน มีสิทธิ์คว่ำกลางสภาสูง