เปิด 49 มือวางกฎหมายเลือกตั้ง “เพื่อไทย-พปชร.” ชิงธงบัตร 2 ใบ

กฎหมายเลือกตั้ง

 

ในที่สุดรัฐสภากดปุ่ม “รับหลักการ” ผ่านร่าง 2 กฎหมายสำคัญ เพื่อวางหมุดเลือกตั้งครั้งต่อไป

คือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่…) พ.ศ. … หรือกฎหมายเลือกตั้ง

กับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่…) พ.ศ. … หรือกฎหมายพรรคการเมือง

บทสรุปในที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบร่างกฎหมายเลือกตั้งทุกฉบับไม่ว่าฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล จำนวน 4 ร่าง

พร้อมกับ “ตีตก” ไม่รับหลักการร่างกฎหมายพรรคการเมืองของพรรคฝ่ายค้านทั้ง 3 ฉบับ แต่รับหลักการร่างของฝ่ายรัฐบาล ทั้งร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และร่างฉบับพรรคร่วมรัฐบาล 3 ฉบับ

ทว่า…เกมรัฐธรรมนูญยังไม่จบลง เพราะนี่แค่ “ยกแรก” เท่านั้น

ยกที่ 2 กฎหมายลูก

“วิเชียร ชวลิต” ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล และผู้เสนอร่างกฎหมายเลือกตั้งฟากรัฐบาล ฉายภาพแตกต่างของกฎหมายเลือกตั้งของรัฐบาลกับของฝ่ายค้านว่า มีกรณีของพรรคเพื่อไทยประเด็นใหญ่ เขามีความเห็นว่าควรเป็นหมายเลขเดียวกันระหว่าง ส.ส.แบ่งเขต กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ส่วนเรื่องอื่นเหมือนกัน

แต่กฎหมายพรรคการเมืองมีความแตกต่างกันหลายประเด็น เช่น กระบวนการไพรมารี่ต่างกัน ของร่างพรรคร่วมรัฐบาลใช้ไพรมารี่ย่อส่วน ส่วนร่างของคณะรัฐมนตรีใช้ระบบไพรมารี่เต็มรูป

ปรับกลยุทธ์เลือกตั้ง บัตร 2 ใบ

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกระแสข่าว “ผู้มีอำนาจเบื้องบน” เปลี่ยนใจ อยาก “ปรับกติกา” ในรัฐธรรมนูญใหม่ หวังเปิดเกม “คว่ำ” กฎหมายลูก หาช่องเดินหมากไปถึงแก้รัฐธรรมนูญ ให้ย้อนกลับเป็นกติกาการเลือกตั้ง “แบบบัตรใบเดียว” เพราะเล็งเห็นผลแล้วว่า กติกาเลือกตั้งบัตร 2 ใบ เข้าทาง “พรรคเพื่อไทย” ที่ประกาศแลนด์สไลด์มากกว่า ทำให้พรรคพลังประชารัฐ หรือองคาพยพในรัฐบาลเสียเปรียบ

แต่ต่อมาเสียงลือเสียงเล่าอ้าง ที่ต้องการเดินเกม “หักดิบ” ไม่แคร์เสียงชาวบ้าน ก็ “พับแผน” หวั่นเกรงบูมเมอแรงสะท้อนกลับ เกิดผลร้ายต่อรัฐบาลมากกว่าผลดี

และเตรียมปรับ “แท็กติก” เดินหน้าใช้หมายเลขผู้สมัครบัญชีรายชื่อกับ ส.ส.เขตเลือกตั้ง ต้องเป็นหมายเลขคนละเบอร์กัน เพื่อง่ายต่อการเสนอ “ปัจจัย” ในตอนเลือกตั้ง

เช่น พรรคไหน “ผู้สมัครแข็ง” ก็เปิดท่อน้ำเลี้ยงไปยังผู้สมัคร แต่เขตใดที่ “ผู้สมัครไม่แข็ง” ก็ทุ่มทุนไปที่บัตรบัญชีรายชื่อ เดินเกม 2 ชั้น

ร่างกฎหมายลูกทั้งกฎหมายเลือกตั้ง-กฎหมายพรรคการเมือง จึงผ่านวาระ “รับหลักการ” ได้ไม่ยาก แบ่งเป็นกฎหมายเลือกตั้ง 4 ฉบับ และกฎหมายพรรคการเมือง 3 ฉบับ

ใครเป็นใครในกรรมาธิการ

แต่กระนั้นทั้งฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา ส่งตัวแทนระดับมือ “แท็กติก-เกจิ” กฎหมายมาประจันหน้า ปะ-ฉะ-ดะ กันอีกคำรบในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญ แก้รัฐธรรมนูญ

เพื่อกลั่นกรองให้กฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายพรรคการเมืองให้เหลือแค่ “ร่างตัวจริง” เพื่อใช้เป็น “กติกาเลือกตั้ง” เป้าหมายเพื่อให้เข้าทางพรรค-พวกตนเองมากที่สุด คล้ายกับวลี “รัฐธรรมนูญดีไซน์มาเพื่อพวกเรา”

49 กรรมาธิการวิสามัญที่พิจารณาทั้งร่างกฎหมายเลือกตั้ง และร่างกฎหมายพรรคการเมือง ใครเป็นใครย่อมบอกที่มาที่ไป และเบื้องหลังความคิด

ประกอบด้วย สัดส่วนคณะรัฐมนตรี 8 คน ได้แก่ นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข จากพรรคประชาธิปัตย์ นายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายเกรียงไกร พานดอกไม้ ผู้แทน กกต. นางชื่นสุมน นิวาทวงษ์ ผู้แทนคณะกรรมการกฤษฎีกา

นายไพบูลย์ นิติตะวัน มือกฎหมาย-รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีตหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่

น้องวิษณุ-เพื่อนประยุทธ์

สัดส่วน ส.ว. 14 คน หลายคนมีความใกล้ชิด-สัมพันธ์พิเศษคนในรัฐบาล ได้แก่ 1.พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม น้องชายนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี 2.พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 12 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ 3.พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 12 ของ พล.อ.ประยุทธ์

4.นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับบวรศักดิ์ 5.นายกล้านรงค์ จันทิก 6.นายกิตติ วะสีนนท์ 7.นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม 8.น.ส.ปิยฉัฏฐ์ วันเฉลิม 9.นายประสิทธิ์ ปทุมารักษ์ 10.พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ 11.นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ 12.นางวรารัตน์ อติแพทย์ 13.นายสมชาย แสวงการ 14.นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์

พท-ภท.ดึงอดีต กกต.ร่วมวง

พรรคเพื่อไทย 8 คน ได้แก่ 1.นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค 2.นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย 3.นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา 4.นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ ทีมกฎหมายพรรค 5.นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี 6.นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ อดีต ส.ส.มหาสารคาม 7.นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย 8.นายกฤช เอื้อวงศ์ อดีตรองเลขาธิการ กกต. ซึ่งมาสวมเสื้อคลุมพรรคเพื่อไทย

พรรคพลังประชารัฐ 6 คน ได้แก่ 1.นายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร 2.นายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช 3.นายจักรพันธ์ พรนิมิตร ส.ส.กทม. 4.นายกฤษณ์ แก้วอยู่ ส.ส.เพชรบุรี 5.นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา 6.นายสัญญา นิลสุพรรณ ส.ส.นครสวรรค์

พรรคภูมิใจไทย 3 คน 2 เป็น “งูเห่า” ส.ส.พรรคก้าวไกล คือ นายเกษมสันต์ มีทิพย์ นายคารม พลพรกลาง อีก 1 คน คือ นายธนิต ศรีประเทศ เคยเป็นอดีตรองเลขาธิการ กกต. ที่มาสวมเสื้อพรรคภูมิใจไทย เป็นมือไม้กฎหมายหลังเกษียณอายุราชการ

พรรคก้าวไกล 3 คน ได้แก่ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

พรรคประชาธิปัตย์ 3 คน ได้แก่ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช รองประธานวิปรัฐบาล นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี วิปรัฐบาล

พรรคเศรษฐกิจไทย 1 คน ได้แก่ นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ สายตรง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน คือ นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ

พรรคเสรีรวมไทย 1 คน ได้แก่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร สมาชิกพรรคเสรีรวมไทย มีดีกรีอดีต กกต.และผู้นำคณะรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272

พรรคประชาชาติ 1 คน ได้แก่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นักการเมืองเก๋ารุ่นลายคราม ในฐานะหัวหน้าพรรค

พปชร.เชื่อกฎหมายลูกฉลุย

ส่องวาระ 3 คน 3 มุม ที่จะต้องสู้กันในชั้นกรรมาธิการ เริ่มจาก “ไพบูลย์ นิติตะวัน” จากพรรคพลังประชารัฐ มือแท็กติกกฎหมายที่ถูกดันให้นั่งเป็นประธาน กมธ.กล่าวว่า ในส่วนของร่างกฎหมายเลือกตั้งไม่มีปัญหาเพราะร่างของพรรคร่วมรัฐบาล และร่างของคณะรัฐมนตรีไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนร่างกฎหมายพรรคการเมืองก็ยึดร่างของพรรคร่วมรัฐบาลเป็นหลัก ไม่น่ามีปัญหาอะไร

หมายเลขผู้สมัครเบอร์เดียวกันอยู่ในร่างของฝ่ายค้าน ส่วนโอกาสที่จะผ่านหรือไม่นั้น รอมติที่ประชุมคณะกรรมาธิการ ไม่ควรจะไป “ปักธง” อะไรทั้งนั้น เพราะทุกอย่างต้องลงมติ

ส่วนการขอแก้ไขมาตรา 28-29 ของกฎหมายพรรคการเมือง ในร่างของพรรคเพื่อไทยที่ตกไปแล้วนั้น เป็น 1 ใน 3 ร่างที่ตกไปแล้วเพราะรัฐสภาไม่เห็นด้วย ส่วนฝ่ายค้านจะขอแปรญัตติกลับมานั้นก็ไม่น่าจะได้ผลอะไร เพราะถูกตีตกไปตั้งแต่วาระที่ 1 แล้ว

พท.ขอเขตเดียวเบอร์เดียว

“สมคิด เชื้อคง” ส.ส.อุบลราชธานี ในฐานะตัวแทนกรรมาธิการพรรคเพื่อไทยบอกว่า พรรคเพื่อไทยจะเข้าไปสู่ใน 2 ประเด็นใหญ่ คือ ให้ใช้เบอร์ผู้สมัครเป็นเบอร์เดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งอยู่ในกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งตนมองว่าทำให้ประชาชนจดจำเบอร์ผู้สมัครได้ง่าย ทุกพรรคได้ประโยชน์ ไม่เพียงแต่พรรคเพื่อไทย เพราะต่อให้ใช้เบอร์เดียวกันทั่วประเทศ หรือต่างเขตต่างเบอร์ ถ้าไม่เลือกพรรคเพื่อไทยเขาก็ไม่เลือกอยู่ดี

กับอีกเรื่องคือ จะแปรญัตติแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมืองมาตรา 28-29 ห้ามคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคครอบงำ สั่งการพรรคการเมือง ซึ่งพรรคเพื่อไทยเห็นว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกมองว่าเข้าครอบงำพรรคเพื่อไทยหรือไม่

แต่เปิดโอกาสให้กับทุกพรรคการเมือง เพื่อไม่ให้มีการร้อง “ยุบพรรค” กันพร่ำเพรื่อ ไม่เช่นนั้นหากมีนักวิชาการคนใดเสนอแนะสิ่งที่เป็นประโยชน์ แล้วพรรคนำมาเป็นนโยบาย คนก็ร้องให้ยุบพรรคได้ เรื่องนี้ไม่ได้เสียหายอะไร ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ถือว่าเจตนารมณ์ของพรรคเป็นอย่างนี้ก็จะขอแปรญัตติอย่างนี้

ก้าวไกล สู้ปม ตัดอำนาจยุบพรรค

ขณะที่ “ธีรัจชัย พันธุมาศ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก้าวไกลในฐานะกรรมาธิการกล่าวว่า ในร่างของพรรคก้าวไกลที่ตกไปแล้ว คือ กฎหมายพรรคการเมือง ยกเลิกอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรคการเมือง เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่กำหนดอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคได้ อีกทั้งการยุบพรรคไม่ได้ทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็ง รวมถึงแก้ประเด็นค่าสมาชิกพรรค 200 บาทต่อปี ซึ่งเป็นเรื่องหยุมหยิมมาก และทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ

ส่วนกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.จบในชั้นรัฐธรรมนูญแล้ว แทบไม่ต้องมาโต้แย้ง แต่สิ่งที่ยังต้องสู้กันคือเรื่องหมายเลขผู้สมัครเบอร์เดียวกันทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

และเพิ่มความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำให้บัตรเลือกตั้งเขย่ง บัตรหาย นับคะแนนไม่ถูกต้อง รวมถึงการประกาศผลต้องทำให้แบบเรียลไทม์ ให้กระบวนการเลือกตั้งเร็วที่สุด สว่างที่สุด

นับจากนี้ไป “กติกาเลือกตั้ง” จะเริ่มชัดเจน ใครคุม-ใครได้เปรียบ-ใครเสียเปรียบ