สรุปคำพิพากษา บ้านเอื้ออาทร จำคุก “วัฒนา” เจ้าตัว ยอมรับคำพิพากษา

ทนายเผย วัฒนา เข้มแข็ง ยอมรับคำวินิจฉัยศาล ไม่ได้เตรียมเสื้อผ้ามา คิดว่า บริสุทธิ์ ขณะที่คำพิพากษาศาลฎีกา ชี้ ทุจริตบ้านเอื้ออาทร ทำเป็นขบวนการ

วันที่ 4 มีนาคม 2565 ที่ศาลฎีกาแผนกอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ นัดพิพากษาอุทธรณ์คดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ หมายเลขดำ อม.อธ. 1/2565 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงว่าการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และพวกรวม 14 ราย

ทั้งนี้ องค์คณะชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์พิพากษาเเก้โทษริบทรัพย์นายวัฒนา จำเลยที่ 1,4,5,6,7,8 เเละ10 ร่วมชดชดใช้เงิน 89 ล้าน ในส่วนอาญาอุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้นพิพากษายืนจำคุก 99 ปี คงจำคุกจริง 50 ปี

รับคำพิพากษา

ต่อมา นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ในฐานะทนายความของนายวัฒนา กล่าวว่า ภายหลังศาลพิพากษายืนจำคุกนายวัฒนา ก็ยังไม่ได้ให้ความเห็น เเต่ทีมทนายความก็ต้องกลับมาคิดทบทวนว่ามีประเด็นการดำเนินการที่ผิดพลาดตรงไหนหรือไม่

เเต่จากที่คุยกับนายวัฒนา ยอมรับคำพิพากษา เพราะเป็นกติกาของกระบวนการยุติธรรม เเต่การยอมรับในคำพิพากษาไม่ได้หมายความว่านายวัฒนายอมรับว่าได้กระทำผิด นายวัฒนาฝากมาว่าการที่ได้ต่อสู้คดีมาตั้งเเต่ปี 2549 จนถึงวันนี้เป็นการเเสดงเจตนาให้เห็นว่าตนเองบริสุทธิ์ ได้คุยกันหลายเรื่องก่อนที่เจ้าหน้าที่จะควบคุมตัวไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ

นายวัฒนามาฟังคำพิพากษาก็ไม่ได้เตรียมชุดมา เพราะคิดว่าได้กลับบ้าน คดีนี้นายวัฒนาว่าความด้วยตนเองมาตลอด ตนเป็นคนสนับสนุนเรื่องพยานหลักฐานเเละกระบวนการต่าง ๆ ในชั้นศาลด้วยความเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์

วัฒนา เมืองสุข ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้ารับฟังคำพิพากษา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ออกเอกสารเผยแพร่คำวินิจฉัยของศาล

โดยสรุปใจความว่า โดยองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์พิจารณาประเด็นที่ว่า จำเลยที่ 1 (นายวัฒนา) กระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ ข่มขืนใจ หรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้ หรือหามาให้ ซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเอง หรือผู้อื่นหรือไม่นั้น

เห็นว่า ขณะที่มีการไต่สวนโครงการบ้านเอื้ออาทร ระยะที่ 4 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ป.ป.ช.) ยังไม่มีบทบัญญัติการกันบุคคลหรือผู้ถูกกล่าวหาไว้เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดี จึงเป็นอำนาจของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาครัฐ (คตส.) ที่จะกันบุคคลหรือผู้ถูกกล่าวหาเป็นพยานได้

เมื่อการสอบถ้อยคำพยานเป็นประโยชน์ต่อการไต่สวน เมื่อมิได้มีการจูงใจให้พยานต้องการให้ผิดไปจากมูลความจริง และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า คณะอนุกรรมการไต่สวนได้กำหนดเนื้อหาที่พยานต้องการไว้เป็นการล่วงหน้า หรือมีการชี้นำพยานว่า ต้องให้การยืนยันไปในทางใด พยานมีอิสระที่จะให้การไปตามความรู้เห็นของตน จึงมิได้เป็นพยานชนิดที่เกิดขึ้นจากการจูงใจหรือมีคำมั่นสัญญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 และรับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความจริงได้

ขณะจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มีการจัดทำหนังสือนำส่งเอกสารประกอบการประชุมคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) โดยระบุชื่อ จำเลยที่ 4 (นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร) ในฐานะที่ปรึกษาจำเลยที่ 1 (นายวัฒนา) หลายครั้ง จำเลยที่ 5 (น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง ลูกน้องคนสนิทนายอภิชาติ) อ้างว่าจำเลยที่ 4 เป็นทีมงานที่ปรึกษาของจำเลยที่ 1

เสี่ยเปี๋ยง มัดตัว

และจำเลยที่ 3 (นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน)) แจ้งนางอาภรณ์ พนักงานการเคหะแห่งชาติ ซึ่งเป็นทีมเลขานุการของผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ ว่า จำเลยที่ 4 เป็นที่ปรึกษาของจำเลยที่ 1 พฤติการณ์เชื่อได้ว่า จำเลยที่ 4 เป็นที่ปรึกษาของจำเลยที่ 1 อย่างไม่เป็นทางการ

จำเลยที่ 1 เข้าร่วมประชุมมอบนโยบายให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์พิจารณาโครงการบ้านเอื้ออาทรใหม่ และจำเลยที่ 1 มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอนุมัติให้ผู้ประกอบการดำเนินโครงการบ้านเอื้ออาทร แม้ผู้ประกอบการบางรายได้รับอนุมัติหน่วยก่อสร้างไปแล้ว แต่จำเลยที่ 1 เปลี่ยนหลักเกณฑ์โครงการบ้านเอื้ออาทร โดยผู้ประกอบการต้องวางหลักประกันมูลค่าร้อยละ 5 และได้รับเงินล่วงหน้าจากการเคหะแห่งชาติ

ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งการเกี่ยวกับการจ่ายเงิน ล่วงหน้าให้กับผู้ประกอบการ เมื่อจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 4 แสดงออกว่าเป็นที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการ ประกอบกับมีการเรียกเงินจำนวนมากจากผู้ประกอบการหลายรายเกี่ยวพันกับโครงการบ้านเอื้ออาทร ซึ่งอยู่ในกำกับดูแลของจำเลยที่ 1 แล้ว ลำพังจำเลยที่ 4 ย่อมไม่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเองได้

การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกจึงมีลักษณะเป็นขบวนการ เชื่อว่าจำเลยที่ 1 รู้เห็นถึงการกระทำของจำเลยที่ 4 ด้วย ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมข่มขืนใจ หรือจูงใจแก่ผู้ประกอบการให้นำเงินมอบให้ เพื่อตอบแทนที่การเคหะแห่งชาติ อนุมัติให้เข้าทำสัญญาตามฟ้อง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ริบเงิน 89 ล้านบาท

ประเด็นการริบทรัพย์สินนั้น เห็นว่า เมื่อเงินที่จำเลยที่ 1 กับพวก ได้มาเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ซึ่งขณะนั้น พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 42, 43 ยังไม่มีผลบังคับใช้ และ พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการริบทรัพย์สิน จึงต้องนำประมวลกฎหมายอาญาใช้บังคับแทน แม้โจทก์ไม่ได้อ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (2) แต่เมื่อโจทก์มีคำขอให้ริบเงินแล้ว ศาลจึงมีอำนาจริบเงินได้

ทั้งต้องปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องและเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี อันมีผลถึงจำเลยอื่นที่ไม่ได้อุทธรณ์ด้วย สำหรับ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 44 เป็นมาตรการเพื่อการบังคับให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ศาลริบ จึงนำมาใช้บังคับให้จำเลยที่ 1 ส่งเงินที่ริบ โดยชำระเป็นเงินแทนตามมูลค่าของเงินที่ศาลสั่งริบพร้อมด้วยดอกเบี้ยได้

ประเด็นการริบเงิน 89 ล้านบาท ตามอุทธรณ์ของโจทก์นั้น เห็นว่า การจ่ายเงิน 89 ล้านบาท ให้จำเลยที่ 7 (น.ส.รุ่งเรือง ขุนปัญญา พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด) เป็นการจ่ายเงินเพื่อตอบแทนข้อตกลงในการผลักดันโครงการบ้านเอื้ออาทรของบริษัท ซ. โครงการอื่นนอกจากโครงการบ้านเอื้ออาทร ส. เงินจำนวน 89 ล้านบาท จึงเป็นเงินที่สัมพันธ์กับเงินสินบนที่ใช้ในการอำนวยความสะดวกให้กับโครงการบ้านเอื้ออาทรอื่นของบริษัท ช.เงินดังกล่าวจึงเป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดที่ศาลมีอำนาจริบได้

จึงเป็นเงินที่สัมพันธ์กับเงินสินบนที่ใช้ในการอำนวยความสะดวกให้กับโครงการบ้านเอื้ออาทรของบริษัท ซ. เงินดังกล่าวจึงเป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดที่ศาลมีอำนาจริบได้ พิพากษาแก้ว่า ไม่ปรับบทตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 42, 43 แต่ให้ปรับบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (2) ริบเงิน 89 ล้านบาทด้วย โดยให้จำเลยผู้มีหน้าที่ต้องส่งเงิน 89 ล้านบาท ที่ริบชำระเป็นเงินแทนตามมูลค่าของเงินที่ศาลสั่งริบภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษา

หากจำเลยที่ 1, 4-8 และ 10 ไม่ชำระเงินภายในระยะเวลากำหนด ต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันที่ 24 ก.ย. 2564 เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 10 เม.ย. 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เม.ย. 2564 เป็นไปต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 1, 4-8 ร่วมกันชำระเงินแทนตามมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกคนละ 89 ล้านบาท จากคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกำหนดไว้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง