คดีบ้านเอื้ออาทร วัฒนา เมืองสุข ศาลนัดพิพากษา วันนี้!

คดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร หนึ่งในคดีมหากาพย์ทุจริตในยุคทักษิณ กำลังจะถึงบทสรุปวันนี้ (4 มี.ค.) เวลา 14.00 น.

คดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ หนึ่งในโครงการประชาชนนิยมเป็นคดีมหากาพย์ทุจริตในรัฐบาลยุค “ทักษิณ ชินวัตร” ที่จัดทำขึ้น สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย ด้วยความเชื่อว่า “บ้าน” คือหนึ่งในปัจจัยสี่ที่สำคัญ ถ้าทุกคนมีที่อยู่อาศัย

แต่หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)  เพื่อตรวจสอบโครงการต่าง ๆ ที่จัดทำขึ้นในรัฐบาลทักษิณ หนึ่งในนั้นคือ โครงการบ้านเอื้ออาทร 

เมื่อ คตส.ทำงานจนครบวาระ ได้ส่งไม้ต่อการตรวจสอบทั้งหมดไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ดำเนินการสอบสวนต่อ

จากนั้น ปี 2560 ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิด นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมจำเลยคนอื่น ๆ อีก 14 คน กรณีทุจริตเรียกรับสินบนจากบริษัท พาสทิญ่า จำกัด ผู้รับเหมาโครงการบ้านเอื้ออาทร ผ่านบริษัทและลูกจ้างบริษัท เพรซิเด้นท์เทรดดิ้ง จำกัด จำนวนเงิน 82.6 ล้านบาท

รายชื่อจำเลย 14 คน

    1. นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร
    2. นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ อดีตบอร์ดการเคหะแห่งชาติและอดีตประธานอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการระหว่างวันที่ 9 ก.ย. 2548 – 19 ก.ย. 2549
    3. นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจก่อสร้างที่พักอาศัย
    4. นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยงนักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่
    5. น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง ลูกน้องคนสนิทนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร
    6. น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด
    7. น.ส.รุ่งเรือง ขุนปัญญา พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด
    8. บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด โดยนายปกรณ์ อัศวีนารักษ์ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน
    9. บริษัท ซิลเวอร์ อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด (เดิมชื่อ บริษัท ไทย เฉน หยู อินเตอร์เนชั่นแนลคอนสตรัคชั่น ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด) โดยนางพิมพ์วรา รัชต์ธนโรจน์ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน
    10. นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง หรือกี้ร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย
    11. บริษัท พาสทิญ่าไทย จำกัด
    12. บริษัท นามแฟทท์ คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบกิจการก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย
    13. บริษัท พรินซิพเทค ไทย จำกัด ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง
    14. น.ส.สุภาวิดา คงสุข กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทน บริษัท ไทยเฉนหยูฯ

ในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148,

เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มาตรา 157

เป็นพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 และตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6, 11 และเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 91

“วัฒนา เมืองสุข” คุก 99 ปี

จากนั้น (24 ก.ย. 2563) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินจำคุก นายวัฒนา เมืองสุข ในฐานะผู้กำกับดูแลกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จำเลยที่ 1 ตามความผิดตามมาตรา 148 ของประมวลกฎหมายอาญา 11 กระทง กระทงละ 9 ปี รวม 99 ปี แต่คงจำคุกจริง 50 ปี

ส่วนนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือจำเลยที่ 4 มีความผิด 11 กระทง กระทงละ 6 ปี รวม 66 ปี จำคุกจริง 50 ปี

นอกกจากนี้ ยังจำคุก จำเลยที่ 5 น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง เป็นเวลา 20 ปี, จำเลยที่ 6 น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว เป็นเวลา 44 ปี, จำเลยที่ 7 เป็นเวลา 32 ปี ,จำเลยที่ 8 ปรับ 2 แสนกว่าบาท, และจำเลยที่ 10 นายอริสมันต์ เป็นเวลา 4 ปี

ส่วนจำเลยที่ 2 นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ อดีตบอร์ดการเคหะแห่งชาติ (กคช) จำเลยที่ 3 นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บมจ.ปริญสิริ (PRIN), จำเลยที่ 9 บริษัท ซิลเวอร์ อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด, จำเลยที่ 11-14 บริษัท พาสทิญ่าไทย จำกัด, บริษัท นามแฟทท์ คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท พรินชิพเทค ไทย จำกัด และ น.ส.สุภาวิดา คงสุข กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทน ศาลมีคำสั่งยกฟ้อง

ทั้งนี้ คดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหลังมีคำพิพากษาเสร็จสิ้นแล้ว คดียังไม่ถึงที่สุด คู่ความสามารถยื่นอุทธรณ์ได้อีกครั้งเนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 ให้สิทธิคู่ความในการยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายใน 30 วัน

ขอประกันตัว-ยื่นอุทธรณ์ต่อ

จากนั้น นายวัฒนา ได้ยื่นประกันตัวตามสิทธิ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 ให้สิทธิคู่ความในการยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายใน 30 วัน ซึ่งศาลอนุญาตให้ประกันตัว วางหลักทรัพย์ 10 ล้านบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศก่อนได้รับอนุญาต

ส่วนเหตุที่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวนั้น เนื่องจากเห็นว่าตัวเองไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีคดี ประกอบกับในการต่อสู้คดีชั้นอุทธรณ์นั้นจะเป็นผู้ว่าความเอง ซึ่งต้องจัดเตรียมคดีและเอกสารหลักฐานที่อยู่ในไฟล์อิเล็กทรอนิกส์จำนวนหลายหมื่นหน้าด้วยตัวเอง ศาลจึงพิจารณาเห็นควรให้ประกันตัว เพื่อได้ใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คดี

ปิดคดี 4 มี.ค.นี้

จากนั้น (4 ก.พ. 2565) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ นัดแถลงปิดคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ โดยมีนายวัฒนา จำเลยที่ 1 และทนายความ และนักการเมืองจำนวนมากเดินทางมาศาลด้วย

นายวัฒนาได้แถลงต่อสื่อมวลชนหลังจากฟังแถลงเสร็จว่า คดีบ้านเอื้ออาทรนี้ เป็นการฟ้องเกินกว่าข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. ขอตั้งข้อสังเกตการวินิจฉัยของศาลที่ลงโทษขัดข้อเท็จจริงในเอกสาร 20,000 แผ่นหลายเรื่อง ซึ่งศาลไม่วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าตนมีส่วนเกี่ยวข้องหรือกระทำความผิดอย่างไร ข้อเท็จจริงหลายเรื่องไม่เป็นความจริง

นอกจากนี้ พยานบุคคลที่ให้การในชั้น คตส. เป็นบุคคลที่ถูกกันไว้เป็นพยาน ถือเป็นพยานที่ถูกจูงใจ ซึ่งกฎหมายห้ามอ้างพยานเหล่านี้ และต่อมาพยานเหล่านี้ก็กลับคำให้การในชั้นศาล และไม่เกี่ยวข้องกับนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ เสี่ยเปี๋ยง นักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่ ที่อ้างเป็นที่ปรึกษาของตน

ทั้งนี้ ความผิดในคดีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ซึ่งผู้เป็นตัวการกระทำผิดตามมาตรา 5 ต้องเป็นพนักงาน การอนุมัติเป็นคู่สัญญากับบริษัทจึงไม่ใช่อำนาจของรัฐมนตรี แต่เป็นอำนาจของกรรมการ เมื่อกรรมการอนุมัติแลัว เป็นหน้าที่ผู้ว่าการการเคหะฯ จะต้องปฏิบัติตาม พร้อมยืนยันว่า ตนไม่เคยเข้าไปแทรกแซงการทำหน้าที่ของการเคหะแห่งชาติ

คดีบ้านเอื้ออาทร มหากาพย์อันยาวนานที่ต่อสู้กว่า 16 ปี กำลังจะถึงบทสรุป ลุ้นศาลนัดฟังคำพิพากษา วันนี้ (4 มี.ค.) เวลา 14.00 น.