ปักธง Creative Economy ชัชชาติ ปั้นกรุงเทพฯ เทียบ ซิลิคอนวัลเลย์

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ
ผู้เขียน : ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ

เขาเป็นรัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี

เคยเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่มี “มีม” ในโลกโซเชียลมีเดียมากที่สุด

เขาเปิดตัวเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก่อนใครเพื่อน ตั้งแต่ “ไก่โห่” ปลายปี 2562 เขายังเป็นผู้สมัครที่มาถึงสถานที่รับสมัครเลือกตั้งเป็นคนแรกด้วยการปั่นจักรยาน ยังเป็นเต็ง 1 ของโพลเกือบทุกสำนักที่จะเข้ามานั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. คนที่ 17

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.อิสระ กับภารกิจของเขาใน 100 วันแรก ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.จะมีผลงานอะไร

4 ปี เมืองหลวงของไทยเปลี่ยนไปแค่ไหน ความสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทย และ 2 อดีตนายกฯ “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” ชินวัตร เป็นอย่างไร ในตอนนี้

นำไม่ขาด-โพลอาจแหกโค้ง

แม้ว่าโพลทุกโพลยกเขาคือเต็ง 1 ในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อยู่บนจุดสูงสุดหัวตาราง แต่นาทีนี้ “ชัชชาติ” บอกตั้งแต่ช่วงต้นการสัมภาษณ์ว่า “อย่าไปเชื่อมาก โพลอาจแหกโค้งได้”

“ผมไม่ได้รู้สึกกดดันเรื่องโพลนะอย่างน้อยเรามีกำลังใจว่าเราไม่ได้มาผิดทาง เพราะทีมเราอิสระ น้อง ๆ ที่ทำก็คือเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่เคยทำการเมืองก็ทำให้เรามีความมั่นใจมากขึ้น อีกมิติหนึ่งคนอื่น ก็ต้องแย่งชิงคะแนนจากเรา”

“แต่เรามองว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เป็นการเสนอเชิงนโยบายมากกว่า ไม่ได้ไปทะเลาะกับใคร ทำทุกอย่างให้ดีที่สุด แข่งกับตัวเรา”

“ส่วนเรื่องนำขาดไม่จริงเลยนะ หลายโพลเราก็ไม่ได้นำขนาดนั้น บางโพลก็มีที่ 2 เข้ามาใกล้ ๆ เลย โพลที่ออกมาล่าสุดบางเขตเราก็แพ้ด้วยซ้ำ อย่าไปเชื่อมากเรื่องโพลอาจจะแหกโค้งได้”

อาจารย์-รัฐมนตรี-CEO กับผู้ว่าฯ

ก่อนจะมาถึงจุดนี้ “ชัชชาติ” ผ่านการเป็นอาจารย์ เป็นรัฐมนตรีคุมด้าน “คมนาคม” และเป็นซีอีโอบริษัทอสังหาริมทรัพย์ เขาบอกว่าสามารถนำทุกบทบาท มาใช้ในงานผู้ว่าฯ กทม.ได้

มีคำพูดคำนึงที่บอกว่า your life story define your leadership เรื่องราวในชีวิตคุณกำหนดความเป็นผู้นำ ความหลายบทบาทหล่อหลอมในหลายมิติ เช่น เริ่มจากเป็นอาจารย์ ยิ่งเป็นอาจารย์วิศวะต้องมีเหตุมีผล แบบวิทยาศาสตร์ อิงข้อมูล หลักวิชาการในการคิด การแก้ปัญหา

พอมาเป็นนักการเมือง ก็เริ่มดูบริบทความรู้สึกคน การสื่อสารกับคนจำนวนมาก จะบริหารความขัดแย้งอย่างไร เรื่องนี้อาจารย์ไม่มีนะ พอมาถึงการเป็นซีอีโอของบริษัทอสังหาฯก็เป็นเรื่องของ strategy ว่าจะกำหนดยุทธศาสตร์ยังไง ทรัพยากรมีเท่านี้จะตั้งเป้าหมายยังไง

พอเอาทั้ง 3 มาหล่อหลอมกันเชื่อว่ามีประโยชน์กับการบริหาร กทม.มาก ทั้งหลักคิดการแก้ปัญหา ต้องการบริหารความขัดแย้ง ต้องการกำหนด strategy ว่าทิศทางจะไปทางไหน งานในปัจจุบันเป็นอย่างไร เป็นส่วนช่วยหล่อหลอมกัน

สมมุติเรื่องน้ำท่วม ขั้นแรกต้องดูว่าวิทยาศาสตร์เกิดจากอะไร เช่น น้ำลงมา ระบายลงท่อ ลงคลอง ดูดลงแม่น้ำเจ้าพระยา นี่คือหลักวิชาการ ต้องรู้ปัญหาทิศทางให้ถ่องแท้ ในแง่ซีอีโอก็ต้องบริหารทรัพยากรที่มีให้เหมาะสม ต้องบาลานซ์ ไม่ใช่มี 100 เอาไปทุ่มอุโมงค์หมด แต่คุณลืมเรื่องการลอกท่อ ขุดคลองที่ตีบตัน

เรื่องนักการเมืองก็ต้องบริหารความขัดแย้ง การทำโครงการต่าง ๆ ก็ต้องมีผลกระทบกับชุมชน ดังนั้น การเข้าไปพูดคุย แก้ไขปัญหาให้เขาในมิติอื่นก็ทำให้โครงการพวกนี้เดินหน้าต่อไปได้

“นี่คือทั้ง 3 ด้านมาหล่อหลอมรวมกัน ประสบการณ์ที่ผ่านมาก็ทำให้ได้ครบทุกด้าน”

100 วัน ทุกนโยบายต้องคืบหน้า

ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ขีดเส้น 100 แรกต้องมีผลสำเร็จของงาน เป็นธรรมเนียมปฏิบัติตั้งแต่ประธานาธิบดี “แฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์”

ส่วน “ชัชชาติ” ยืนยันว่า ใน 100 วันแรก ทุกนโยบาย 200 ข้อ ต้องเดินหน้าทันที เช่น อาทิตย์แรกปลูกต้นไม้ 5 พันต้น ซึ่งใน 100 วันแรกมี 11 สัปดาห์ ก็อาจจะต้องได้ 5 หมื่นต้น เรามีนโยบาย telemed เอาหมอลงชุมชน โดยผ่านทางไกลเชื่อมกับหมอที่ศูนย์ 100 วันแรก ต้องเริ่มเห็นแล้ว

การขยายการให้บริการศูนย์สาธารณสุขให้สอดคล้องกับความต้องการ ดังนั้น หลายศูนย์จะต้องเห็นแล้วว่าสามารถปรับเวลาให้บริการได้ จะเห็นการเปิดโรงเรียนเสาร์-อาทิตย์ให้เด็กทำกิจกรรมได้

เราต้องการมีแพลตฟอร์มให้ประชาชนแจ้งเหตุว่าปัญหาอยู่ที่ไหน ซึ่งเราได้เริ่มทำแล้ว ดังนั้น 100 วันแรกต้องมีการทำให้เห็นว่า 50 เขตมีปัญหาน้ำท่วม ปัญหาทางระบายน้ำ ปัญหาขยะ ทางเท้า รถติดขัด อยู่ที่ไหน เรื่องเกจวัดฝุ่น เอาจริงเอาจังกับรถที่ปล่อยฝุ่น 100 แรกก็ต้องเห็น

100 วันแรก เห็นความคืบหน้า 4-5 อย่าง คิดว่ามันน้อยไป เรามีข้าราชการ ลูกจ้าง 8 หมื่นคน มี 16 สำนัก 50 เขต ต้องมีการรายงานตลอด ดังนั้น 100 วัน เห็นอะไร 200 วัน 1 ปี 2 ปี 3 ปี 4 ปี สุดท้ายได้อะไร

4 ปี กทม.ต้องดีขึ้น

แล้วใน 4 ปี คิดว่า กทม.จะเปลี่ยนไปแค่ไหน ถ้า “ชัชชาติ” เป็นผู้ว่าฯ เขาตอบว่า เชื่อว่า กทม.ต้องมีความปลอดภัยขึ้น ฟุตปาทต้องดี ทางเดินเท้าดี ทางม้าลายต้องปลอดภัย แสงสว่างต้องดี CCTV ต้องครบถ้วน ดูกล้องได้ง่ายขึ้น

สาธารณสุขต้องมีคุณภาพที่ดีขึ้น ให้บริการครอบคลุม นำหมอไปใกล้ชุมชนให้มากขึ้น เรื่องสิ่งแวดล้อมดี เรามีนโยบายที่คนต้องเข้าสวนสาธารณะได้ใน 15 นาที ปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น 4 ปีต้องเอาให้ได้ อย่างน้อยต้องใกล้เคียง

เรื่องเรียนดี จะต้องเห็นโรงเรียน กทม. 437 แห่งต้องมีคุณภาพดีขึ้น ครูมีเวลาให้นักเรียนมากขึ้น โรงเรียน 3 ภาษาจริง ๆ มีคอมพิวเตอร์แล็บ เรื่องการบริหารจัดการต้องเห็นโปร่งใส ไม่ส่วย ไม่เส้น เอาจริงกับเรื่องทุจริต คอร์รัปชั่น 4 ปีจะต้องเห็นว่า กทม.เปิดเผยข้อมูลมากขึ้น

เรื่องการเดินทางดี เราจะมี single command center การจราจรน่าจะดีขึ้น ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย มีรถเมล์ของ กทม.เสริมในจุดที่ขาด รถไฟฟ้าสายสีเขียวต้องเอาจริงเอาจัง คืนประโยชน์ให้ประชาชน 4 ปีต้องเห็นความโปร่งใส่ของรถไฟฟ้าสายสีเขียวมากขึ้น

โครงสร้างดี ระบบระบายน้ำ น้ำท่วมต้องลดลง จุดน้ำท่วมซ้ำซากต้องหายไป ถนนหนทางต้องดีขึ้น

เศรษฐกิจดี เรื่องสำคัญ กทม.จะมีทิศทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้น อนาคตเราอยากเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคหลาย ๆ ด้าน เรื่องสตาร์ตอัพ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เราจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น 12 เทศกาล 50 ย่าน แต่ละย่านมีจุดแข็งอะไร กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย

สร้างสรรค์ดี กรุงเทพฯต้องเป็นเมืองที่เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ มาก่อไอเดีย เกิด soft power ที่มิลลิ (ดนุภา คณาธีรกุล) ทำ หรือคนอื่นทำ คิดว่าเรามีเด็กที่มีศักยภาพเยอะแยะ กทม.ต้องสร้างพื้นที่สาธารณะให้คนมาแสดงพลังมากขึ้น ทั้งหมดจะอยู่ใน 9 ด้าน 9 ดี จะทำให้ กทม.ดีขึ้นใน 4 ปี

ยุทธศาสตร์ Creative Economy

“ชัชชาติ” บอกว่า กทม.ต้องกำหนด strategy ของเมือง เพราะอนาคตเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ จะพัฒนาเมืองไปแนวไหน จะดึงคนเก่ง ๆ มาอยู่ที่เมืองได้อย่างไร ถ้าเมืองไหนดึงบริษัทดี ๆ สร้างคนเก่งได้ สร้างงานที่ดีได้ เมืองจะเจริญเติบโต

การกำหนดเป้าหมายว่าจะเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค พวกนี้ กทม.ต้องทำ ผู้ว่าฯต้องเป็นซีอีโอดู strategy ต้องเป็นแมเนเจอร์ดูแลงานรูทีนด้วย ต้องทำสองอย่างพร้อมกัน

อนาคตคือ creative economy นะ เด็กรุ่นใหม่หลาย ๆ ครั้งไม่ได้หางานแล้ว เขาสร้างงานเอง กทม.ต้องเตรียม space ให้เขาสามารถปล่อยพลังสร้างสรรค์ได้ อนาคตตรงนี้จะเป็นตัวสำคัญ ถ้าสร้างระบบนิเวศตรงนี้ได้จะดึงคนเก่ง ๆ มา

“ดูอย่างซิลิคอนวัลเลย์เขาไม่ได้เก่งเพราะคนท้องถิ่น แต่เขาเก่งเพราะดึงคนเก่ง ๆ ทั่วโลกมาอยู่ซิลิคอนวัลเลย์ได้ สร้างครีเอทีฟ สร้างงานสร้างสรรค์ได้”

“อนาคตผมว่า กทม.มีแต้มต่ออยู่แล้ว เราเป็นเมืองที่คนอยากมาเที่ยวเยอะแยะเลย เราต่ออีกนิดได้ไหม ทำคุณภาพชีวิตให้ดี คนเก่งก็อยากอยู่ที่นี่ไม่อยากไปไหน เด็กไทยก็อยู่ตรงนี้แหละ สร้างครีเอทีฟ เศรษฐกิจสร้างสรรค์จะเป็นตัวที่กำหนดอนาคต กฎระเบียบต่าง ๆ ต้องทำธุรกิจให้ง่ายขึ้น ต้องปรับให้ทันสมัย ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ด้วย”

ปัญหาท้าทายที่จะรื้อ กทม.

สิ่งที่ “ชัชชาติ” มองว่าท้าทายที่สุดในการมา “รื้อ” กทม. คือ “คงเป็นเรื่องคน”

เพราะคนเป็นต้นเหตุปัญหาทุกอย่าง ทั้งทุจริตคอร์รัปชั่น ความไม่โปร่งใส ความเฉื่อยชา ต้องเปลี่ยน mindset วิธีทำคือ เราต้องสร้างความไว้ใจให้เขาว่าเราเป็นผู้นำที่มาสร้างแรงบันดาลใจทำอย่างไรที่จะเป็นผู้นำแห่งความหวัง พาข้าราชการ ลูกจ้าง กทม.ทั้งหมดเดินไปด้วยกัน เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง

“ผมว่าขึ้นกับผู้นำเหมือนกัน ถ้าเราไม่เล่นการเมือง เอาคนที่เก่งมาทำงานจริง ๆ ไม่เล่นพรรคเล่นพวก เลือกคนเพราะผลงาน มันจะลดเรื่องการเมืองลง แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตาม แต่งตั้งคน แต่งตั้งลูกน้องตามเด็กใคร ก็จะเกิดการเมือง เกิดการวิ่งเต้น ถ้าเราเอาผลงานเป็นตัวตัดสิน คนก็จะตั้งใจทำงานมากขึ้น”

“แต่ผมเชื่อว่าสุดท้ายผมไม่มีทางดีกว่าลูกน้องได้ สุดท้ายคนที่ทำงานก็คือทีมงานเรา เราไม่มีทางดีกว่าทีมงานได้ สุดท้ายต้องปรับเรื่องคนให้มี mindset เดินไปด้วยกัน”

ความสัมพันธ์ชัชชาติ-เพื่อไทย

เขายืนยันเป็นครั้งที่ 400 ว่า ตัวเขากับพรรคเพื่อไทยเป็นอิสระจากกัน

“ผมลาออกจากพรรคเพื่อไทยมา 2 ปีครึ่งแล้วนะ ตอนลาออกก็โดนด่าว่าทรยศ ลืมบุญคุณ อดีตผมพูดอยู่แล้วว่าผมมาจากเพื่อไทย ถ้าไม่มีเพื่อไทย ไม่มีผมในทางการเมืองวันนี้หรอก”

“2 ปีครึ่งที่เดินมา เราเดินอิสระ ไม่เคยไปยุ่งเกี่ยวนโยบาย ไม่เคยใช้ทรัพยากรของเขา ในแง่ความอิสระยืนยัน 100% แต่ในแง่ความเป็นมิตรยังเป็นเพื่อนกันอยู่ ไม่ได้เป็นศัตรู มีคนโจมตีเรื่องนี้เยอะ อธิบายเรื่องนี้เป็นครั้งที่ 400 หนแล้วมั้ง”

กับความสัมพันธ์ของ “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ชัชชาติตอบว่าเป็นผู้ใหญ่ที่นับถือเพราะเคยทำงานกับท่านทักษิณก็ไม่ได้คุยกันหลายปีแล้ว ไม่ได้คุยเลย ท่านยิ่งลักษณ์ก็เป็นหัวหน้า เป็นเพื่อนร่วมงานกัน ซึ่งเราก็ให้ความเคารพ ไม่ได้คุยเรื่องการเมืองกัน อาจจะส่งไลน์ทักทายกันตอนปีใหม่ เป็นพันเป็นหมื่นคน ก็โผล่มาที่เรา แต่เราอิสระจากพรรคแล้วก็ต้องเป็นอิสระจริง ๆ