ขุนพล “19 กันยา 49” ข้างกาย “ทักษิณ” ใครใหญ่ใครอยู่

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เดินทางมาถึงปีที่ 13

13 ปี ที่ทำให้เส้นทางชีวิตคนการเมืองบางคน – บางกลุ่ม ต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล เช่นเดียวกับเส้นทางการเมืองไทย

จนถึงวันนี้ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกรัฐประหารยังคงเป็น “อดีตนายกฯ พเนจร”

จนถึงวันนี้ “พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน” ผู้นำการรัฐประหารเมื่อ 13 ปีก่อน มีเส้นทางการเมืองที่กลับหัวกลับหาง  จากคนที่เคยถืออำนาจรัฏฐาธิปัตย์ กลายมาเป็นผู้ที่ขอยุติบทบาท “พรรคมาตุภูมิ” ที่ตนเองสร้างกับมือแล้วไปซุกชายคาพรรคชาติไทยพัฒนา ทว่าแทบไร้บทบาทการเมือง

ไม่ต่างจาก ลูกน้อง – เครือข่าย ขุนพลข้างกายทักษิณ ที่เคยร่วมเผชิญชะตากรรมในคืน ปฏิวัติ “ลับ ลวง พราง” เมื่อ 13 ปีที่แล้ว บางรายยังภักดีนายเก่า ช่วยงานพรรคเพื่อไทย อันเป็นร่างที่ 3 ของพรรคไทยรักไทย

ต่อไปนี้คือ “ถ้อยคำ” ของ “ลูกน้องเก่า” เล่าถึง “ความผูกพันทางใจ” ต่อ “นายใหญ่” หลังปฏิวัติผ่านมา 1 ปีเศษ ผ่านหนังสือ “ในคืนยะเยือก”

บางคนยุติบทบาททางการเมือง – พักอาชีพนักเลือกตั้งถาวร บางรายพลิกขั้วข้าง ไปอยู่ฝ่ายตรงข้าม เอ่ยอมตะวาจาทางการเมือง “จบแล้วครับนาย” บางรายลงเรือแป๊ะร่วมขบวนรัฐบาลเรือเหล็ก มีอำนาจการเมืองถึงปัจจุบัน…

“ภูมิธรรม เวชยชัย” ปัจจุบันที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้าน อดีตเลขาพรรคเพื่อไทย สถานะเมื่อ 13 ปีที่แล้ว เขาคือ รมช.คมนาคม

“นายเป็นคนนิยมความสำเร็จ และกระหายชัยชนะอยู่ตลอดเวลา ถ้าหากมีเรื่องสำคัญ ผมกับคุณทักษิณสามารถติดต่อกันได้ 24 ชั่วโมง”

“คุณหญิงพจมาน (ชินวัตร) เป็นคนที่ดูแลลูกน้องและครอบครัวของลูกน้องทุกชีวิต มีพ่อของลูกน้องผมคนหนึ่งจำเป็นต้องผ่าตัดด่วน ถ้าไม่ได้คุณหญิงช่วย เขาคงไม่มีชีวิตมาจนถึงทุกวันนี้”

“นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช” ปัจจุบันยุติบทบาททางการเมือง แต่ยังเป็นอุปนายกสภามหาวิทยาลัยชินวัตร ในค่ำคืนรัฐประหาร เขามีตำแหน่งเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

“ถ้าเปรียบนายกฯ เป็นพ่อครัวหัวป่า ผมในฐานะเลขาธิการนายกฯ คือคนจ่ายตลาด ก็ไปหยิบมาให้หมด คิดเลาๆ ว่าท่านจะทำกับข้าวอะไรบ้าง แล้วก็ไปหาผักมาหาหมูมา บางอันหมูเน่าอย่าเอาเลย หรือ หั่นผักเสร็จ ส่วนหนึ่งเอา อีกส่วนหนึ่งปาดท้อง ไม่ใช่ว่าผมโดมิเนต (ครอบงำ) นะ แต่ผมเดาใจคร่าวๆ ว่าควรมีอะไรบ้าง ผมเตรียมมากกว่าที่ท่านเลือก และต้องเตรียมให้แม่นเพราะท่านทำงานเร็ว ก็ต้องจ่ายตลาดให้ทัน สรุปคือต้องรู้ว่าท่านจะทำอาหารอะไรและต้องปรุงอาหารเป็นด้วย แต่สุดท้ายขึ้นกับท่านว่าจะปรุงอย่างไร”

“ท่านเป็นผู้มีประสบการณ์ความสามารถและมีสติปัญญา คือคนฉลาดมักจะคิดอยู่เสมอว่าตัวเองยังรู้ไม่พอ เมื่อรู้ไม่พอก็จะเปิดรับได้เรื่อยๆ และท่านเป็นอย่างนั้น ท่านก็จะเลือกระหว่างของดี – ไม่ดี เอา-ไม่เอา อาจจะถูกผิดบ้าง มันธรรมดา”

“พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์” อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) อยู่เบื้องหลังการเมืองใน จ.อุบลราชธานี ซีกพรรคพลังประชารัฐ แต่ ย์13 ปีที่แล้ว เขาเป็นรองนายกฯ และ รมว.ยุติธรรม ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ “ทักษิณ”

“ผมกับท่านทักษิณเติบโตมาด้วยกัน และเขาก็ใช้เราสุดๆ ทำให้ผมได้พิสูจน์ฝีมือ ผมได้ทำงานสุดๆ ถือว่าได้ตอบแทนประเทศชาติในฐานะนักเรียนทุนของรัฐบาล คือเราเข้าใจกันมาก ร่วมทุกข์ ร่วมสุข ไม่มีอะไรสบายๆ”

“ผมยอมรับความกล้าของท่าน กล้าคิด กล้าเปลี่ยน กล้าทำ ชาวบ้านได้รับการดูแลมากขึ้น ท่านเป็นคนเปลี่ยนเป็นระบบซีเนียร์ (อาวุโส) ระบบบอส (เจ้านาย) ที่เห็นประชาชนเป็นผู้มาขอความกรุณา ไปเป็นเห็นประชาชนเป็นผู้มาใช้บริการ ประชาชนไม่ใช่ลูกไล่ ผมเห็นความตั้งใจว่าท่านทักษิณอยากเปลี่ยนแปลง อยากเห็นประเทศไทยเป็นระบบ ลงตัว ซึ่งธรรมดาการเปลี่ยนแปลงย่อมมีทั้งคนได้ประโยชน์และเสียประโยชน์”

“นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” สถานะปัจจุบันเป็นพิธีกรรายการ “สุมหัวคิด” ทาง Voice TV และเป็นที่ปรึกษาด้านการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ให้ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ในค่ำคืนการยึดอำนาจ “หมอเลี๊ยบ” เป็นคนหนึ่งที่อยู่ใกล้ “ทักษิณ” ที่สุด เพราะเดินทางไปมหานครนิวยอร์กกับ “ทักษิณ” ในฐานะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

“ผมไม่มีความผูกพันเชิงผลประโยชน์กับนายกฯ ทักษิณ ผมมาทำงานพรรคไทยรักไทยตั้งแต่ช่วงร่างนโยบาย เพราะคิดว่าได้ทำประโยชน์ให้ประชาชน โดยไมได้หวังว่าจะต้องได้เป็นรัฐมนตรี แต่การได้เป็นรัฐมนตรีก็ถือว่า ท่านเป็นผู้ให้โอกาสในการทำความฝันของผมให้เป็นความจริง ผมไม่เคยคิดอยากได้ประโยชน์จากหน้าที่การงาน หรือจากตัวนายกฯ ทักษิณเลย”

“ต้องยอมรับว่าในโลกนี้ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ คิดแบบท่านพุทธทาสภิกขุคือเลือกแต่ส่วนดีที่ท่านทำไว้ ต้องยอมรับว่าท่านทำสิ่งดีๆ มีประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนหลายเรื่อง อันนี้คือสิ่งที่ทำให้ผมผูกพันและยอมรับ และประสงค์ให้ท่านในฐานะที่ทำประโยชน์ให้ประเทศได้รับความเป็นธรรม”

“ยงยุทธ ติยะไพรัช” ยังมีบทบาททางการเมือง อยู่เบื้องหลังพรรคเพื่อชาติ 1 ใน 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน เมื่อ 13 ปีที่แล้ว เขาคือฝ่ายบู๊ของ “ทักษิณ” ในฐานะ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“ท่านเป็นผู้บังคับบัญชาที่เอาหัวใจให้กัน ผมทำงานกับหลายคนหลายพรรค ถูกหลอกใช้บ้างอะไรบ้าง แต่กับนายกฯ ทักษิณ เราเอาหัวใจให้กัน เวลาทำงานผิดไม่มีคำว่า เฮ้ย! คุณทำอย่างนั้นอย่างนี้ จะหาแนวทางแก้ให้ตลอด ก็เลยเป็นเหมือนครูผม ผมไม่ต้องไปลองผิดลองถูก”

“ผมกับท่านเกิดปีวัวเหมือนกัน แต่คนละรอบนะ ท่านเคยบอกว่า ไอ้เราเนี่เกิดมาไม่ว่าจะเป็นคนมีเงินหรืออะไรมันหยุดไม่ได้หรอก มันต้องทำงานๆ วันนี้เราเป็นวัวก็ต้องทำงานไป ไม่เคยเที่ยววางแผนทำลายใคร เอาเวลาคิดขอกลับคืนสู่อำนาจ อันนี้เป็นเครื่องยินยันว่าเราคิดในเชิงบวก”

“เนวิน ชิดชอบ” ครูใหญ่แห่งพรรคภูมิใจไทย และเจ้าของทีมฟุตบอลบุรีรัมย์ยูไนเต็ด แต่ในปลายปี 2551 เขาพากลุ่มเพื่อนเนวิน หักดิบนายใหญ่ พลิกขั้วรัฐบาลหนุนอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แห่งพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกฯ “เนวิน – ทักษิณ” จึงเหมือนเป็น “เส้นขนาน” ทางการเมืองนับแต่นั้น

ขณะที่เกิดการรัฐประหาร 19 ก.ย. เขาเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับ ช่อง 9 อสมท. ที่ทำให้ “ทักษิณ” ออกอากาศข้ามโลกสู้กับฝ่ายผู้ยึดอำนาจได้ ทว่า…ปฏิบัติการนั้นสายเกินไป

“นายกฯ ทักษิณทำให้ชาวบ้านได้เห็นนายกฯ ตัวเป็นๆ ชาวบ้านบางคนตั้งแต่เกิดมาจนอายุจะเจ็ดสิบแล้วยังไม่เคยเห็นตัวนายกฯ คนไหนตัวจริงเลย แต่นายกฯ ทักษิณเดินทางมาให้เห็น แม้กระทั่งในพื้นที่ที่กันดารที่สุด ลำบากที่สุด นายกฯ ทักษิณทำให้ชาวบ้าน ผมและครอบครัวของผมที่ทำการเมืองมา 3 เจเนอเรชั่น แล้วเห็นว่านโยบายคือเครื่องมือที่สำคัญทางการเมือง แต่การเมืองแบบ “ทักษิณ” ไม่มีทางที่คนในเมือง ชนชั้นนำที่อยู่ในห้องแอร์ มีน้ำไหล ไฟสว่างจะเข้าใจ”

“1ปี6 หลังรัฐประหาร อาจสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนใจผมให้เลิกรักและคิดถึงนายกฯ ทักษิณได้”

“วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมกฎหมายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะเกิดการรัฐประหารที่เมืองหลวงของประเทศไทย ตัวเขาอยู่ที่กรุงปารีส เมืองหลวงประเทศฝรั่งเศส ตอนนั้นเขาไม่มีสถานะเป็นนักการเมืองใน “รัฐบาลทักษิณ” เพราะได้ลาออกจากรองนายกฯ ตั้งแต่ 20 มิ.ย.2549

“ผมกับคุณทักษิณไม่สนิทคุ้นเคยกันมาก่อน ตรงกันข้ามในสมัยหนึ่งผมเป็นประธานคณะอนุญาโตตุลาการที่ตัดสินให้บริษัทของท่าน (บริษัทชิน คอร์ปเปอเรชั่น) แพ้คดีองค์การโทรศัพท์ ต้องจ่ายเงินชดเชยหลายร้อยล้านบาท พอท่านขึ้นเป็นนายกฯ ปุ๊บ ผม เป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น ยังคิดในใจว่าแย่แล้วเว้ย แต่ปรากฏว่าท่านไม่ได้สนใจ ไม่เคยพูดถึง ผมเสียอีกที่เคยพยายามจะแก้ตัวในครั้งหนึ่ง โดยบอกว่าโดยหลักการแล้วมันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้”

“…กับคุณหญิงพจนมาน ผมก็ไม่คุ้น แต่ท่านเป็นคนมีน้ำใจ เวลาเจอผมท่านจะถามถึงลูก ถึงภริยา เช่น ลูกเรียนไปถึงไหน จะกลับมาทำอะไร หรือช่วงที่ภริยาผมไปผ่าตัด ท่านก็ถามว่าผ่าที่ไหน หาหมออะไร มีหมออยู่คนหนึ่งอ้อรู้จัก วันหลังแนะนำได้ไหม คนอื่นไม่เคยมาคุยกับผมเรื่องอย่างนี้ แต่สิ่งที่ผมประทับใจท่านเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นนานแล้ว คือท่านเป็นคนไม่แสดงความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวให้เห็นในยามที่ไม่จำเป็นต้องแสดง ปกติท่านจะพูดว่า “เหรอคะ จะเอาอย่างไรก็เอา”

“แต่ยามใดที่ต้องแสดงความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว ซึ่งเราเป็นคนไม่เข้มแข็งเด็ดเดี่ยวเพราะเกรงใจ แต่ท่านไม่เกรงใจ ท่านแสดงเปรี้ยงไปเลยว่าเป็นอย่างนี้ วันนั้นท่านพูดกลางวงประชุมว่า “ไม่ต้องอ้อมค้อม พูดกันตรงๆ ดีกว่า คุณจะเอาอย่างไรกันแน่” ไอ้คำพูดอย่างนี้ตั้งแต่เกิดมาผมไม่เคยพูด ผมเองตกใจอกสั่นขวัญแขวนไปเลย… แต่นี่คือลีดเดอร์ชิป”