สุรชาติ วิเคราะห์ 8 วิกฤต ยูเครน-รัสเซีย หมดเวลา 3 ป. สารตกค้าง ยุคสงครามเย็น

ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ
ผู้เขียน : ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ

 

วิกฤตโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย สงครามรัสเซีย-ยูเครน กลับกลายเป็นวิกฤตระลอกใหม่ ที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ต้องรับมือ

แม้ไทยอยู่ห่างไกลสมรภูมิ แต่แรงสั่นสะเทือนจากระเบิดและห่ากระสุนย่อมส่งแรงกระเพื่อมมาถึงไทย ทั้งราคาพลังงานพุ่งกระฉูด กระทบต้นทุนชีวิตประชาชน ซ้ำเติมกับภาวะเศรษฐกิจที่ถูกน็อกมา 2 ปี ตั้งแต่โควิด-19 จนถึงวิกฤตยูเครน-รัสเซีย

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข” นักวิชาการด้านความมั่นคง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เกาะติดการเมือง-การทหาร และเกมการเมืองระหว่างประเทศ วิเคราะห์สถานะของทหารยุคสงครามเย็น อย่างกลุ่มอำนาจ 3 ป. เหมาะสมหรือไม่กับภาวะแบบนี้

8 เอฟเฟ็กต์สงคราม

“ศ.ดร.สุรชาติ” เริ่มต้นวิเคราะห์สงครามรัสเซีย-ยูเครน จะส่งผลกระทบทั้ง 3 ด้าน ด้านแรก การเมือง เกิดสถานการณ์ชุดใหม่ในเวทีโลก โดยเฉพาะในบริบทของยุโรปไม่เคยผ่านสงครามมานาน ตั้งแต่จบยุคสงครามเย็น หรือสงครามคอมมิวนิสต์

ด้านสังคม มีผู้อพยพภายในยุโรปตัวเลขทะลุเกิน 2 ล้านคน ซึ่งองค์การสหประชาชาติประเมินว่ามีถึง 4-5 ล้านคน จากยูเครน ด้านเศรษฐกิจ ได้ประเมินตั้งแต่ในช่วงต้นของสงครามใน 8 ประเด็นใหญ่ คือ

1.ราคาน้ำมันพุ่งสูง อาจจะทะลุในวิกฤตพลังงานรอบ 3 ในปี 2008 เพราะถ้าย้อนไปในปี 2008 เป็นช่วงที่ราคาน้ำมันสูงที่สุด แต่สถานการณ์ปัจจุบันราคาน้ำมันอาจทะลุเกิน 2008 ซึ่งยังไม่มีคำตอบว่าราคาพลังงานไปหยุดที่เท่าไหร่

สิ่งที่เป็นความหวังคือ สหรัฐอเมริกา คงต้องผลักดันให้ซาอุดีอาระเบีย กับเวเนซุเอลา ส่งน้ำมันออกสู่ตลาดมากขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้นำทั้งสองชาติว่า ถ้ามองว่าราคาน้ำมันที่สูงเป็นโอกาสของการสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ โอกาสที่ปริมาณน้ำมันก็อาจไม่ออกสู่ตลาดเยอะอย่างที่คาดหวัง

2.ภาวะความผันผวนของค่าเงินมาก แม้ว่าดอลลาร์ กับเงินเยน มีเสถียรภาพอยู่บ้าง แต่ยังน้อย สิ่งที่ตอบได้ชัดคือสถานการณ์สงครามใหญ่ทำให้ค่าเงินระหว่างประเทศมีความผันผวนของตัวมันเอง

3.ราคาทองคำขึ้น เมื่อไหร่ที่สงครามเกิด ราคาทองคำจะสูง ซึ่งราคาทองคำในไทยทะลุ 3 หมื่นบาทแล้ว น่าสนใจว่าราคาจะทะลุขึ้นไปอีกเท่าไหร่

4.ความผันผวนของตลาดหุ้น ในสหรัฐ ยุโรป เอเชีย

5.วิกฤตอาหาร ซึ่งจะเกิดตามมา เนื่องจากพื้นที่การรบในยูเครนเป็นแหล่งผลิตอาหารใหญ่ของยุโรป และยูเครนไม่ได้ผลิตอาหารเลี้ยงเฉพาะยุโรป แต่ยังส่งอาหาร เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด สู่พื้นที่อื่นของโลกด้วย ดังนั้น วิกฤตอาหารของโลกที่มีผลพวงต่อสถานการณ์โควิด-19 อยู่แล้ว ก็จะเป็นโจทย์ใหญ่อีกชุดหนึ่ง

6.ราคาแก๊สในยุโรป วันนี้ยุโรปรู้ตั้งแต่ก่อนเกิดสงครามในยูเครนแล้วว่า พึ่งพิงพลังงานจากรัสเซียมากเกินไป ในแผนของสหภาพยุโรปพยายามลดทอนการพึ่งพิงพลังงานจากรัสเซีย ตั้งแต่ก่อนสงครามยูเครน เพียงแต่สงครามรอบนี้จะผลักดันให้สหภาพยุโรป ทำแผนในการลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย ในกรณีแก๊สธรรมชาติประมาณ 2 ใน 3 แต่นั่นเป็นตัวเลขของความหวัง

7.ปัญหาเงินเฟ้อ เราเริ่มเห็นในสหรัฐแล้ว วิกฤตพลังงานจะมีผลกระทบต่อตัวค่าเงิน และจะก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในหลายสังคม

8.การปิดล้อมทางเศรษฐกิจกับรัสเซีย จะนำไปสู่การล้มลงของตลาดหุ้นในรัสเซียหรือไม่ หรือส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของรัสเซียเพียงใด

ทั้ง 8 ข้อ เท่ากับตอบเราว่า สถานการณ์ในเวทียุโรปและในเวทีโลก กำลังก้าวเข้าสู่ความเป็นสถานการณ์ชุดใหม่ที่สุด ซึ่งในสถานการณ์นี้จะกระทบต่อไทยแน่ ๆ

แม้ว่าสังคมไทยอาจรู้สึกว่าเราอยู่ไกลจากยุโรป อยู่ไกลจากยูเครน แต่ผลกระทบในหลายส่วนน่าจะหนีไม่พ้น
คำถามคือ รัฐบาลและผู้นำไทยในปัจจุบัน เข้าใจสถานการณ์ชุดใหม่มากน้อยเพียงใด

และในความเข้าใจจะสามารถแบกรับเพื่อที่จะให้สังคมได้รับผลกระทบน้อยลงได้อย่างไร และยังทับซ้อนกับสภาวะโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม การเมือง มาก่อนหน้านี้

“ประยุทธ์” ในโลก 3 ขั้ว

“ศ.ดร.สุรชาติ” มอง geopolitics หรือภูมิรัฐศาสตร์โลก หลังจากศึกยูเครน-รัสเซีย ว่า หลังจาก 24 กุมภาพันธ์ วันที่รัสเซียบุกยูเครน ภาพใหญ่ของภูมิรัฐศาสตร์ภาพโลก จะมีลักษณะเป็น 3 ค่าย คือ ค่ายสหรัฐ ค่ายจีน ค่ายรัสเซีย แม้ว่าบางส่วนบอกว่าค่ายรัสเซียกับจีน เหมือนเป็นค่ายเดียวกัน อาจจะต้องดูในอนาคต แต่อย่างน้อยเราเห็น 3 ขั้วมหาอำนาจใหญ่ในเวทีโลก เป็นโจทย์ที่เราเผชิญ

แต่คำถามเฉพาะหน้าคือ จาก 3 ขั้วจะถอยกลับไปสู่สภาวะสงครามเย็นที่เป็นโลก 2 ขั้วหรือไม่ เพราะปัจจัยสำคัญในความสัมพันธ์จีนกับรัสเซีย คงต้องตระหนักว่า จีนหวาดระแวงสหรัฐ และจีนกังวลบทบาทสหรัฐในเอเชีย

แต่ขณะเดียวกัน หลายฝ่ายก็กังวลบทบาทของจีน นับแต่ขยายอำนาจทางการทหาร แสดงแสนยานุภาพหลายอย่าง ทั้งกรณีฮ่องกง และไต้หวัน เพราะเกิดภาพเปรียบเทียบระหว่างไต้หวัน กับยูเครน แม้รัฐบาลจีนพยายามปฏิเสธว่า ไต้หวันไม่อาจเปรียบเทียบได้กับยูเครนก็ตาม

เมื่อโลกแบ่งเป็น 3 ขั้ว ไทยจะต้องทบทวนบทบาทในเวทีโลก ทั้งด้านการเมือง และเรื่องห่วงโซ่เศรษฐกิจหรือไม่ “ศ.ดร.สุรชาติ” เชื่อว่านโยบายที่ดี ไม่ได้ตอบเราว่าต้องเลือกทางหนึ่งทางใด

แน่นอนเราเห็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่เข้าไปลงทุนในรัสเซีย ก็อาจจะมีความกังวลต่อท่าทีของรัฐบาลไทย แต่สิ่งที่ต้องคิดต่อ โจทย์ใหญ่คือเราคงอยากเห็นรัฐบาลในอนาคตที่มีประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ ที่จะรับมือกับวิกฤต 2 ชุดทับซ้อนกัน คือสงครามกับโควิด-19 ซึ่งจะตามมาด้วยทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตด้านอาหาร และวิกฤตด้านความมั่นคงในอนาคต

ดังนั้น เราอยากเห็นรัฐบาลกรุงเทพฯที่มีประสิทธิภาพ แล้วสามารถกำหนดนโยบายที่เป็นผลประโยชน์ต่อไทย ไม่ใช่เป็นนโยบายที่เป็นผลประโยชน์ตอบสนองต่อกลุ่มตนเอง

ฝ่ายการเมืองในฐานะผู้กำหนดนโยบายต้องตระหนักว่า โลกเปลี่ยนแล้ว แต่ถ้าไม่เข้าใจภาษานามธรรมอย่างนี้ ก็คงไม่มีประโยชน์ที่จะเป็นรัฐบาล เพราะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการตัดสินใจบุกยูเครน วันที่ 24 กุมภาพันธ์ เกิดระเบียบการเมืองชุดใหม่ของยุโรปแล้ว

สภาวะแบบนี้โลกเริ่มมีอาการ 3 ขั้ว รัฐบาลไทยก็ต้องตอบว่า ในสถานการณ์โลกชุดใหม่ รัฐบาลไทยจะกำหนดทิศทางของนโยบายด้านการต่างประเทศและความมั่นคงอย่างไร

“ในการกำหนดทิศทางใหม่ ไม่ได้บอกให้เราควรคบแต่ตะวันตก แต่การมองภาพเวทีโลกเพื่อกำหนดทิศทาง ถ้าสมมุติโลกในอนาคตมี 3 ขั้ว หรือพัฒนาไปเป็น 2 ขั้ว คำถามก็ยังยืนอยู่ที่จุดเดิมคือ ไทยจะจัดความสัมพันธ์กับขั้วอำนาจในเวทีโลกอย่างไร ดังนั้น ชุดความคิดเดิมที่เชื่อว่า เราสามารถยืนได้เสมอหลังจากที่รู้ว่าใครเป็นผู้ชนะ วันนี้อาจไม่ใช่คำตอบที่แท้จริงในโลกปัจจุบัน”

โลกเปลี่ยน ต้องเปลี่ยนรัฐบาล

ศ.ดร.สุรชาติมองสถานภาพรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เหมาะกับสถานการณ์ที่ต้องเจอศึก 2 ด้าน ทั้งโควิด และสงคราม

“สัญญาณของการเปลี่ยนแปลงของโลก มันคือสัญญาณว่าน่าจะถึงเวลาของการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยเหมือนกัน รัฐบาลชุดนี้ไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะรับมือกับโจทย์วิกฤตหลายอย่าง”

“โจทย์โควิด-19 ก็สะท้อนถึงความอ่อนแอ และความไร้วิสัยทัศน์ของผู้นำรัฐบาลไทย คิดว่าโจทย์ของสถานการณ์สงครามยูเครนที่กำลังเปลี่ยนแปลงโลก ก็สะท้อนภาพที่ไม่แตกต่างกันมากนัก”

“ดังนั้น ข้อเรียกร้องเหลือแต่ประการเดียวว่า ถ้าโลกเปลี่ยนคงถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนรัฐบาล เพราะอยากได้รัฐบาลที่สามารถสร้างเงื่อนไขการบริหารจัดการของประเทศที่ดีกว่านี้ พูดง่าย ๆ คือ หมดเวลาผู้นำทหารและพรรคพวกของเขาในการเมืองไทยแล้ว”

ในภาวะสงครามไม่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้นำทหาร “สุชาติ” ตอบว่า “ผมไม่เชื่อผู้นำทหารที่ยึดอำนาจมา พิสูจน์ได้ชัดอย่างหนึ่งว่าไม่มีประสิทธิภาพและไร้วิสัยทัศน์ ดังนั้น การรัฐประหารในปี 2557 ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนว่า เราไม่ต้องการผู้นำทหารมาเป็นผู้บริหารประเทศ”

“หมดเวลาของพวกเขา เพราะสถานการณ์ชุดใหม่ได้เกิดขึ้นแล้ว ผู้นำทหารเก่า อาจมองสถานการณ์ในยุคเก่า ซึ่งสถานการณ์ในยุคเก่าของสังคมโลกและสังคมไทยจบไปนานแล้ว ผู้นำทหารในแบบ 3 ป. เป็นเพียงส่วนของเก่าที่ตกค้างอยู่ในสังคมไทย และไม่เหมาะกับการเมือง และสถานการณ์ใหม่ในอนาคต”

“ไม่เหมาะกับบริบทที่โลกเปลี่ยน 3 ป. จะมีชีวิตได้ดีที่สุด คืออยู่ในโลกยุคสงครามเย็นในแบบเก่า แต่กระนั้นก็ไม่ใช่ผู้นำทหารที่มีวิสัยทัศน์ และมีความคิดที่ชัดเจน เอาเข้าจริง แม้เป็นยุคสงครามเย็นแบบเก่า ผมก็ไม่แน่ใจว่า ผู้นำ 3 ป. บวกพรรคพวกของเขาที่เป็นพลเรือน และทหาร อยู่ในยุคสงครามเย็น จะเป็นประโยชน์แก่รัฐไทย และสังคมไทย”

“เพราะโจทย์สงครามในปัจจุบัน เป็นโจทย์สงครามในยุคที่โลกเป็นโลกาภิวัตน์ ดังนั้น ผลกระทบมีความรุนแรงมากกว่าในอดีต”

นายกฯคิดแต่เอาตัวรอดในสภา

ข้าวยากหมากแพง ช่วงวิกฤตสงคราม ซ้ำเติมโควิดที่ยังอยู่ “ศ.ดร.สุรชาติ” มองว่า ไม่ต้องพูดถึงชนชั้นกลางระดับล่าง และชนชั้นล่าง แต่ชนชั้นกลางที่เป็น middle class ลงไป พอวิกฤตชุดนี้มาจะยิ่งลำบากมากขึ้น และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เอเชีย รวมถึงไทยอาจไม่เร็วอย่างที่คาด

โจทย์ใหญ่พวกนี้ไม่ได้แก้ด้วยโครงการประชานิยมแบบแจก หรือจับสลาก แต่ไทยต้องคิดมิติของการช่วยเหลือคนในสังคมที่ประสบปัญหาในรูปแบบรัฐสวัสดิการจริง ๆ มากกว่าประชานิยมแจกเงิน เหมือนประชานิยมชิงโชค ซึ่งไม่ตอบโจทย์ของชีวิตคนในระยะยาว

แต่ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลมองสถานการณ์อย่างไร หรือมองว่าโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล นายกฯจะอยู่รอดหรือไม่รอดในสภา ผมกำลังสงสัยว่าโจทย์ใหญ่ของผู้นำรัฐบาลไม่ใช่โจทย์ที่เรากังวล แต่เป็นโจทย์อนาคตของตัวเขาเองที่จะอยู่รอดหรือไม่

ภาพของการจัดปาร์ตี้กินเลี้ยงระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ได้เป็นสัญญาณของการแก้ไขปัญหาประเทศ แต่เป็นสัญญาณแก้ไขปัญหาความอยู่รอดของผู้นำรัฐบาลมากกว่า

กับคำถามว่า พล.อ.ประยุทธ์อยู่ยาวปี 2566 ได้หรือไม่ “ศ.ดร.สุรชาติ” ตอบว่า ไม่แน่ใจว่าเราควรจะตอบอย่างไรกับคำถามว่า รัฐบาลนี้จะอยู่ได้อีกนานเท่าไหร่

แต่ที่ควรตั้งคำถามคือ รัฐบาลที่กำลังเผชิญวิกฤต 2 ชุดขนาดใหญ่พร้อมกัน จะแสดงให้เห็นศักยภาพในการบริหารประเทศอย่างไร หรือเราไม่มีทางเลือก ต้องอยู่กับรัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพไปเรื่อย ๆ