สหรัฐฯ สอบ ไทย พร้อม 3 ชาติอาเซียน ช่วยจีนเลี่ยงภาษีนำเข้าโซลาร์เซลล์

แผงโซลาร์ พลังงานแสงอาทิตย์
Photo by AFP

กระทรวงพาณิชย์ สหรัฐฯ เตรียมสอบสวนผู้ผลิตแผงโซลาร์จาก ไทย กัมพูชา มาเลเซีย เวียดนาม หลีกเลี่ยงกฎการทุ่มตลาด และใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกให้จีนหรือไม่ 

วันที่ 29 มีนาคม 2565 วอชิงตันโพสต์รายงานระบุว่า กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ กำลังสอบสวนการนำเข้าแผงโซลาร์จากผู้ผลิตใน 4 ประเทศ จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ กัมพูชา มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม ในฐานหลีกเลี่ยงกฎการทุ่มตลาด และการจำกัดการนำเข้าแผงโซลาร์จากจีน

ส่วน เดอะ สตาร์ สื่อในมาเลเซียระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ สหรัฐฯ จะใช้เวลาสอบสวนเบื้องต้น 150 วัน และหากพบการทำผิดกฎหมายจริง ผู้ผลิตแผงโซลาร์เหล่านี้จะถูกเก็บภาษีย้อนหลังสูงถึง 240%

โดยการสอบสวนดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากบริษัท ออกซิน โซลาร์ (Auxin Solar) บริษัทผู้ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในซานโฮเซ่ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ร้องเรียนให้กระทรวงพาณิชน์สอบสวนผู้นำเข้าจาก 4 ประเทศ โดยอ้างว่า มีผู้ผลิตจีนย้ายการผลิตแผงโซลาร์เข้ามายังประเทศเหล่านี้นานร่วม 10 ปี เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของ 4 ประเทศนี้

มามัน ราชิด ซีอีโอ บริษัท ออกซิน โซลาร์ กล่าวว่าขอบคุณเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ที่เห็นถึงความจำเป็นในการตรวจสอบเรื่องนี้ เพราะผู้ผลิตแผงโซลาร์จาก 4 ประเทศดังกล่าว ได้ใช้ชิ้นส่วนที่บริษัทจีนทำและนำมาประกอบและผลิตเพื่อส่งออกมายังสหรัฐฯ เพื่อลดภาษีการทุ่มตลาดและภาษีนำเข้า

“เป็นเวลาหลายปีแล้วที่ผู้ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ของจีนปฏิเสธที่จะทำให้ราคาสินค้าเป็นธรรมในสหรัฐฯ และได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อตัดราคาผู้ผลิตและคนงานชาวอเมริกัน” ราชิดกล่าว

ขณะที่ เจเรมี่ เอ็ดเวิร์ดส โฆษกกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐฯ กล่าวว่า การสอบสวนจะดำเนินการไปอย่างเปิดเผยและโปร่งใสเพื่อพิจารณาว่า มีการหลีกเลี่ยงกฎหมายการค้าของสหรัฐฯ หรือไม่ และการสอบสวนนี้เป็นเพียงก้าวแรก

ไบเดน โซลาเซลล์
Photo by Brendan SMIALOWSKI / AFP

ผลต่อเนื่องหลังไบเดนเดินหน้าเก็บภาษีนำเข้าแผงโซลาร์จากจีน

การดำเนินการของกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐฯ ครั้งนี้ มีขึ้นในไม่กี่สัปดาห์ ภายหลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศขยายอัตราภาษีสำหรับแผงโซลาร์ที่นำเข้าจากจีนและประเทศอื่นๆ แม้ว่าภาษีดังกล่าวจะไม่รวมแผงโซลาร์ที่ใช้ในโครงการสาธารณูประโภคขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ก็ตาม

นอกจากนี้ ไบเดนยังเพิ่มโควต้านำเข้าแผงโซลาร์เป็น 2 เท่า ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของแผงโซลาร์ที่ติดตั้งบนหลังคาและแหล่งผลิตสาธารณูปโภคต่างๆ ให้เพิ่มเป็น 5 กิกะวัตต์ การใช้อำนาจบริหารของไบเดนในเรื่องนี้ เป็นการต่อยอดนโยบายการใช้พลังงานสะอาดต่อจากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

แม้ว่า สหภาพแรงงานในสหรัฐจะสนับสนุนการจำกัดการนำเข้าแผงโซลาร์ เพื่อปกป้องตำแหน่งงานภายในประเทศ เนื่องจากกว่าทศวรรษที่ผ่านมา อุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ในสหรัฐส่วนใหญ่ใช้แผงโซลาร์ราคาถูกที่นำเข้าจากเอเชีย

สอดคล้องกับความเห็นของ จีน่า ไรมอนโด รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐฯ ที่เคยระบุว่า ต้องส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ เช่น แผงโซลาร์เซลล์ เพราะยิ่งเราพึ่งพาประเทศอื่น ๆ เพื่อสร้างสิ่งต่าง ๆ ให้กับเรา ยิ่งเสี่ยงมากขึ้นต่อการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานอย่างที่เราเห็นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

“อย่างน้อย 95% ของตลาด สำหรับเซลล์ที่เข้าสู่แผงโซลาร์นั้นคาดว่าจะมีส่วนประกอบที่ผลิตในประเทศจีน” รมว.พาณิชย์ สหรัฐฯ กล่าว

ขณะที่ ประธานาธิบดีไบเดนตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อนลงอย่างน้อย 50% ต่ำกว่าระดับปี 2548 ภายในปี 2573 และพลังงานแสงอาทิตย์เป็นส่วนสำคัญของวาระดังกล่าว

รายงานของกระทรวงพลังงาน สหรัฐฯ เมื่อปี 2564 ระบุว่าพลังงานแสงอาทิตย์มีศักยภาพในการจัดหาไฟฟ้าได้มากถึง 40% ของประเทศภายใน 15 ปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในปัจจุบันถึงสิบเท่า

สมาคมอุตฯ พลังงานแสงอาทิตย์ค้านการสอบสวน

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการสอบสวนดังกล่าว ไม่ได้มีแต่คนเห็นด้วย

อบิเกล รอส ฮอปเปอร์ ประธานและซีอีโอของสมาคมอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ ระบุว่า การสอบสวนครั้งนี้ เป็นขั้นตอนที่ผิดพลาดและจะส่งผลร้ายแรงต่อตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ในสหรัฐ ส่งผลให้มีคนงานในสหรัฐถูกเลิกจ้างมากถึง 7 หมื่นตำแหน่ง

เพราะหากการสอบสวนชี้ว่าผิดกฎหมายสหรัฐฯ จะทำให้ผู้นำเข้าถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังสูงถึง 240% และส่งผลให้ราคาแผงโซลาร์แพงขึ้น การใช้งานลดลง และเกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น

“กระทรวงพาณิชย์ควรยุติการสอบสวนนี้โดยเร็ว เพื่อลดอันตรายที่จะเกิดกับคนงานชาวอเมริกันและความพยายามของประเทศของเราในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ฮอปเปอร์