บิ๊กธุรกิจ จี้รัฐสปีดฉีดวัคซีน เปิดประเทศ-อัดเงินปั๊มจีดีพี

วัคซีน โควิด
REUTERS/Athit Perawongmetha

ธุรกิจผวาโควิดระลอก 3 วอนรัฐแก้ด่วน ควบคู่ฉีดวัคซีนสกัดเชื้อ หวั่นปะทุรอบ 4-5 ขอเดินหน้าเปิดประเทศตามแผน อุตฯอาหาร 5 แสนล้านโอดติดลบ 30% ขอพักหนี้ อสังหาฯขอยกเลิก LTV-แก้ซอฟต์โลน-ขยายเพดานลดค่าโอน สภาตลาดทุนหนุนอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ปั๊มจีดีพี ฟันธงวัคซีนแฟกเตอร์สำคัญ ลุ้นตลาดหุ้นกลับมาคึกคักครึ่งปีหลัง

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ที่ขยายวงกว้างและมีแนวโน้มรุนแรงสร้างความวิตกกังวลให้ภาคธุรกิจทั้งระบบ หลังตัวแทนภาคเอกชนอย่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดทางให้เอกชนร่วมจัดหาวัคซีนและเร่งแก้วิกฤตเพื่อลดผลกระทบเศรษฐกิจในภาพรวม สอดคล้องกับมุมมองของนักธุรกิจอีกหลากหลายสาขา

ต้องกล้าตัดสินใจทำก่อน-หลัง

นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บมจ.สหพัฒนพิบูล บริษัทผู้จัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เพื่อควบคุมและลดผลกระทบจากโควิด-19 ระลอก 3 สิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องทำวันนี้คือ แก้ปัญหาในส่วนของโรงพยาบาลสนามและ hospitel เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ให้เพียงพอกับยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ส่วนประชาชนต้องช่วยกันดูแลตนเอง ยับยั้งการแพร่ระบาด และถ้าตัวเลขผู้ติดเชื้อยังเพิ่มอีก รัฐบาลต้องกล้าตัดสินใจลดความเสี่ยงการแพร่ระบาด

หากจำเป็นต้องล็อกดาวน์ก็ต้องวางแผนให้รอบคอบ จากนั้นสเต็ปถัดไปค่อยเพิ่มมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อและการจับจ่าย เช่น โครงการเราชนะ หรือคนละครึ่ง แต่ตอนนี้ควรหยุดไว้ก่อน เพราะประเทศกำลังอยู่ในภาวะยากลำบาก อะไรที่ควรทำก่อน ทำทีหลัง ควรแยกให้ชัด

แน่นอนว่าอุตสาหกรรมต่าง ๆ ผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก รายใหญ่และประชาชน ขณะนี้ได้รับผลกระทบทั้งหมด และต้องปรับตัวรับมือให้ผ่านพ้นวิกฤต โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากภาครัฐ เช่นเดียวกับสหพัฒน์ซึ่งที่ผ่านมาปรับตัวเป็นระยะ ๆ แต่เมื่อเกิดภาวะเช่นนี้จะต้องหันมาทำเพื่อสังคมส่วนรวมมากกว่าไปโฟกัสเรื่องยอดขาย

AIS กระตุ้นรัฐเร่งกระจายวัคซีน

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส กล่าวว่า โควิด-19 รอบนี้หนักกว่ารอบ 1 และ 2 ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อ พื้นที่การแพร่ระบาด ครั้งนี้กระทบหลาย ๆ อุตสาหกรรม รวมถึงการเติบโตของธุรกิจโทรคมนาคม แม้ความต้องการใช้งานของผู้บริโภคจะสูงขึ้นจากนโยบายเวิร์กฟรอมโฮมของรัฐ แต่รายได้และกำลังซื้อผู้บริโภคลดลง ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมน่ากังวลด้วย อย่างไรก็ตามทุกภาคส่วนต้องเร่งทำแบบ 3 ประสาน คือ รัฐบาล เอกชน และประชาชน

ขณะนี้วัคซีนถือเป็นคำตอบและทางออกที่ดีของประเทศ ดังนั้นรัฐต้อง
เตรียมความพร้อมด้านการกระจายวัคซีนให้ครอบคลุมทั่วประเทศเร็วที่สุด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้คนไทย ไม่ให้เกิดการระบาดระลอก 4 หรือ 5 และเดินหน้าเปิดประเทศให้ได้ตามแผนที่วางไว้ กับต้องออกมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ชัดเจนและยั่งยืน มากกว่าแจกเงินเยียวยา ในส่วนภาคเอกชนและประชาชนต้องร่วมมือกันช่วยเหลือสนับสนุนโครงการของรัฐ ที่ภาคเอกชนต้องทำเพิ่มคือทำตัวเป็นปลาใหญ่ช่วยปลาเล็ก ทั้งผ่อนคลายกฎ กติกา ช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็กให้สามารถแข่งขันและเดินหน้าธุรกิจต่อเพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศอุตฯอาหาร 5 แสนล้าน ติดลบ

ในส่วนอุตสาหกรรมอาหาร นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า การระบาดรอบนี้อาจทำให้อุตสาหกรรมอาหารมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท ติดลบ 20-30% จนผู้ประกอบการแบกรับภาระต่าง ๆ ไม่ไหว โดยเฉพาะเงินกู้ที่กู้มาพยุงธุรกิจตั้งแต่ปีที่แล้ว และยังใช้หนี้ไม่หมด เนื่องจากยังไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ อยากให้รัฐช่วยเหลือเบื้องต้นด้วยการพักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย รวมถึงช่วยเหลือเรื่องค่าน้ำ ค่าไฟ 1 ปี ให้ผู้ประกอบการลดภาระและฟื้นธุรกิจได้ หากสถานการณ์เลวร้ายลงกว่านี้ จากแนวโน้มผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น รัฐต้องออกมาตการแบบเฉพาะเจาะจงลงไปทั้งชนิดธุรกิจและรูปแบบมาตรการ

ที่ผ่านมาการระบาดแต่ละระลอกไม่ได้มีคลัสเตอร์มาจากร้านอาหารหรือภัตตาคาร ดังนั้นการให้ร้านอาหารยังเปิดบริการได้ภายใต้มาตรการเข้มงวดก็เหมือนการต่อลมหายใจผู้ประกอบการขนาดกลาง-เล็ก มั่นใจว่าผู้ประกอบการสามารถควบคุมตามขั้นตอนป้องกันการระบาดได้

“ล็อกดาวน์ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจยังพังจนไม่สามารถฟื้นคืนได้ จึงอยากให้ภาครัฐจัดมาตรการต่าง ๆ ตามแต่ละธุรกิจ หรือจะใช้โมเดลเดียวกับยุโรป-อเมริกา ที่เลิกนับจำนวนผู้ติดเชื้อและหันโฟกัสการกระจายวัคซีนให้ทั่วถึง ให้ภาคเอกชนเข้าช่วยเหลือหรือจัดหาวัคซีน”

ฉีดวัคซีนรีสตาร์ตธุรกิจ

นายอำนาจ สิงห์จันทร์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด บจ.แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) ให้ความเห็นว่า มาตรการที่ตรงจุดที่สุดขณะนี้คือการรีสตาร์ตธุรกิจ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องเร่งฉีดวัคซีน ให้อุตฯท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งรายได้หลักกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง พร้อมกระตุ้นให้ธุรกิจทุกระดับกลับมาเดินหน้าได้ตาม เพราะปัจจุบันคู่ค้าร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต สมุย และอื่น ๆ ได้รับผลกระทบหนักมาก และไม่ได้รับผลบวกจากมาตรการกระตุ้นที่ผ่าน ๆ มามากนัก

อารียาหนุนเอกชนนำเข้าวัคซีน

ด้านนายวิวัฒน์ เลาหพูนรังษี ประธานกรรมการอาวุโส บมจ.อารียา พร็อพเพอร์ตี้ ชี้ว่า วันนี้เซนติเมนต์คือเศรษฐกิจประเทศไม่สามารถขับเคลื่อนได้ ตัวแปรคือต้องเร่งฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด มีตัวอย่างจากหลายประเทศแล้วว่าการมีวัคซีนเป็นตัวช่วยฟื้นความเชื่อมั่นได้ ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะรัฐบาล 3 เรื่อง 1.สร้างความเข้าใจสถานการณ์โควิดให้ถูกต้อง วันนี้ประชาชนกลัวเกินกว่าเหตุ ต้องปรับความเข้าใจว่าโควิด-19 เป็นอีกหนึ่งโรคที่ต้องอยู่กับมัน และใช้ชีวิตได้ตามปกติวิถีใหม่

2.ประชาชนต้องทำธุรกิจทำการค้าได้ 3.จะเร่งฉีดวัคซีนเร็วที่สุดได้ต้องเร่งนำเข้าเร็วที่สุดและมากที่สุด โดยเปิดให้เอกชนนำเข้าวัคซีนได้ ถ้ามีการฉีดวัคซีนจนถึงระดับมีภูมิคุ้มกันหมู่ นโยบายจะเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าภูเก็ตหรือภูเก็ตแซนด์บอกซ์จะได้เกิดขึ้นจริง ตามกรอบเวลาที่วางไว้ 1 ก.ค. 2564

สำหรับสิ่งที่อยากให้รัฐสนับสนุนภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นาทีนี้ยังไม่ได้คิดเรื่องนี้ เพราะภาพใหญ่คือเศรษฐกิจต้องเดินหน้าได้ ถ้าเศรษฐกิจดีแบงก์จะแย่งกันปล่อยกู้ลูกค้าซื้อที่อยู่อาศัยเอง แต่ข้อเท็จจริงวันนี้ทั้งผู้บริโภคและสถาบันการเงินมีภาวะ panic ทำให้กลไกการปล่อยสินเชื่อสะดุดหนักกว่าเดิม

“รัฐบาลทำหลายอย่างแล้ว เช่น อัตราดอกเบี้ยถูก มีมาตรการลดค่าโอน-จำนองราคาไม่เกิน 3 ล้าน สิ่งจำเป็นมากที่สุดยุคโควิดรอบที่ 3 คือต้องทำเศรษฐกิจภาพรวมให้กลับมาดี ทำได้เท่านี้ก็พอ เท่าที่ทราบเอกชนจะนำเข้าวัคซีนยังมีข้อจำกัดไม่สามารถนำเข้าได้เอง ถือเป็น priority ของรัฐบาล และถ้าสามารถนำเข้ามาได้ผมมีนโยบายฉีดให้พนักงานอารียา 400 กว่าคนฟรีทันที แบ่งเบาภาระรัฐอีกทางหนึ่ง” นายวิวัฒน์กล่าว

ยกเลิก LTV-แก้ซอฟต์โลน

สอดคล้องกับความเห็นของนายวรยุทธ กิตติอุดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บจ.รุ่งกิจ เรียลเอสเตท (RK) และอุปนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ที่ระบุว่า โควิดรอบ 3 กระทบรุนแรงต่อกำลังซื้อ จึงอยากให้รัฐช่วยอสังหาฯรายกลาง-เล็ก 3 เรื่อง 1.ยกเลิก LTV (มาตรการบังคับเงินดาวน์ 20% ในการขอสินเชื่อซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2) 2.ปรับปรุงกฎเกณฑ์การใช้กองทุนซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท ที่มีข้อกำหนดบริษัทที่มีสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาทสามารถขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 30% สภาพปัญหาคือในการพัฒนาโครงการจะแยกทำ 1 โครงการ 1 บริษัท แต่แบงก์มองเป็น “กลุ่มบริษัท” เมื่อนำหลายโครงการมารวมกันทำให้วงเงินสินเชื่อเดิมเกิน 500 ล้านบาท จึงไม่สามารถเข้าถึงซอฟต์โลนได้ 3.ขอขยายเพดานมาตรการลดค่าโอน-จำนองจาก 3% เหลือ 0.01% หรือลดค่าใช้จ่ายจากล้านละ 3 หมื่นบาท เหลือล้านละ 300 บาท ซึ่งมีเพดานที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ให้ขยายเป็น 10 ล้านบาท ซึ่งเป็นเซ็กเมนต์ที่ลูกค้ามีกำลังซื้อสูง ช่วยระบายสต๊อกบ้าน-คอนโดฯ

ขณะที่นายพัทธนันท์ พิสุทธิ์วิมล นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดภูเก็ต กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลควรยกเลิกการบังคับใช้ LTV ทันที รวมทั้งขยายเพดานลดค่าโอน-จำนอง จากราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เป็นไม่จำกัดราคา กระตุ้นกำลังซื้อลูกค้าทุกกลุ่ม โดยได้ลดค่าโอน-จำนอง 3 ล้านบาทแรก เช่น ซื้อราคา 10 ล้านได้รับสิทธิประโยชน์ 3 ล้านบาท ราคา 7 ล้านบาทที่เหลือให้จ่ายค่าโอน-จำนองตามปกติ และให้ช่วยเหลือสินเชื่อซื้อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้กู้รายย่อย

รร. B2 เชียงใหม่ชงอุ้มตกงาน

นายพิชัย จาวลา กรรมการบริหาร กลุ่มจาวลาเชียงใหม่ กรุ๊ป ซีอีโอโรงแรม B2 เปิดเผยว่า ธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบจากโควิดระลอก 3 มากเช่นเดียวกัน การเข้าพักของโรงแรม B2 จำนวน 40 สาขาทั่วประเทศขณะนี้เหลือเพียง 10% เท่านั้น แต่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายพนักงานกว่า 800 คน จึงเสนอให้รัฐมีมาตรการ support ในส่วนของประกันสังคมช่วยเหลือลูกจ้าง-พนักงาน หากจำเป็นต้องเลิกจ้างหรือปิดกิจการ ให้ภาคธุรกิจมีทางเลือกว่าจะดำเนินต่อไปอย่างไรภายใต้วิกฤตนี้

รร.ภูเก็ตจี้เปิดประเทศ 1 ก.ค.

ส่วนนายก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ เสนอแนะดังนี้ 1.ทำทุกวิธีการให้โควิด-19 หมดไปโดยเร็ว ให้การท่องเที่ยวเดินหน้าได้ 2.มีมาตรการเยียวยา โดยสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้เรียกร้องมาตรการพยุงการจ้างงานในส่วนของโรงแรมหรือธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะพนักงานที่เป็นผู้ประกันในระบบประกันสังคม มาตรา 33 อยากให้รัฐเข้ามาร่วมจ่ายค่าจ้าง (co-pay) คนละ 50% กับผู้ประกอบการ 3.มาตรการ “พักทรัพย์พักหนี้” ไม่ตรงกับที่ภาคเอกชนต้องการ อยากให้ทำเหมือนช่วงเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ คือรัฐช่วยรับภาระอัตราดอกเบี้ย แต่ทรัพย์สินยังเป็นของผู้ประกอบการเหมือนเดิม เพียงแค่พักชำระเงินต้น ดอกเบี้ย ใส่เงินเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจที่ยังเปิดอยู่แต่ขาดทุน เดินหน้าต่อไปได้

นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ผู้บริหารตั้งงี่สุน ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งรายใหญ่ในจังหวัดอุดรธานี ต้องการให้รัฐบาลเร่งจัดการเรื่องวัคซีนให้เร็วที่สุด เปิดให้ฉีดวัคซีนได้มากขึ้น และให้รัฐมีโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อยก่อนเป็นอันดับแรก

เร่ง “กระตุ้น ศก.-ฉีดวัคซีน”

ด้านนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด ในฐานะประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) อยากให้รัฐบาลดำเนินการ 2 เรื่อง 1.เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ จากวงเงินกู้เหลืออยู่อีกกว่า 2 แสนล้านบาท ผ่านมาตรการต่าง ๆ เพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบให้เร็วที่สุด เพราะมีความเสี่ยงเศรษฐกิจอาจเติบโตน้อยไปจนถึงขั้นไม่เติบโตเลย ถ้าไม่เร่งกระตุ้น

ก่อนหน้านี้หลายสำนักคาดการณ์จีดีพีไทยจะเติบโต 2-3% แต่การระบาดรอบที่ 3 รุนแรงกว่ารอบ 1 และ 2 การจับจ่ายของประชาชนลดลง คนกลัวมากขึ้น เพราะกระจายไปกว่า 70 จังหวัดทั่วประเทศ เทรนด์การอยู่บ้านไม่เดินทางในประเทศมีสูงกว่ารอบก่อน ๆ ผู้ได้รับผลกระทบคือประชาชนทั่วไป คนชั้นกลาง ต่างจากรอบที่ 2 ที่เป็นกลุ่มแรงงานต่างด้าว ถ้ากลุ่มคนเหล่านี้จับจ่ายใช้สอยน้อยลง จีดีพีไทยมีโอกาสเติบโตต่ำแค่ 1% กว่า ๆ 2.เร่งสปีดฉีดวัคซีนเร็วกว่านี้ รวมทั้งอยากเห็นมาตรการอื่น ๆ นอกจากแจกเงิน โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ

ส่วนภาพตลาดหุ้นไทยไม่ได้กังวลมากนัก เพราะเป็นผลพวงตามแนวโน้มเศรษฐกิจ ปัจจุบันเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) อาจเข้ามาน้อย เพราะวัคซีนเป็นเฟ็กเตอร์สำคัญที่สุดต่อตลาดหุ้น เชื่อว่าจะเห็นฟันด์โฟลว์เข้าช่วงครึ่งปีหลัง บนสมมุติฐานวัคซีนเข้ามาได้เดือนละ 10 ล้านโดส และถ้ารัฐตื่นตัวเพิ่มจำนวนวัคซีนได้ จะเป็นจุดเปลี่ยนทำให้ตลาดหุ้นน่าจะกลับมาคึกคักกว่านี้

ขณะที่นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต ในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า สิ่งสำคัญตอนนี้คืออยากจะให้รัฐบาลเร่งระดมฉีดวัคซีนโดยด่วน เพราะเรื่องชีวิตคนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ขณะที่ในมุมของการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ยังจำเป็นต้องทำต่อเนื่องด้วย

บี.กริมหนุนลุยหา-ฉีดวัคซีน

นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม พาวเวอร์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมระดับซีอีโอทุกคนเสนอว่า พร้อมจะซื้อวัคซีนไปฉีดให้พนักงาน และมีการเสนอทั้งจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ไฟรเซอร์ สปุตนิก เป็นต้น ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลและเอกชนจะต้องร่วมมือกันในการเร่งจัดหาและกระจายฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุด เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน โดยจะต้องดูว่ากฎระเบียบใดมีความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม หากไม่เหมาะสมก็ปรับเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ยกตัวอย่าง เช่น ที่โรงงานขอให้นำวัคซีนมาฉีดให้พนักงานในโรงงาน แต่กฎระเบียบไม่อนุญาตเพราะไม่มีรถพยาบาล เราก็ต้องปรับว่าในรถพยาบาลมีอุปกรณ์อะไร มีเตียง มีเครื่องช่วยหายใจ ซึ่งเราจะสามารถนำรถหรือประยุกต์อะไรแทนได้หรือไม่ เพื่อให้การฉีดวัคซีนสามารถทำได้ เป็นต้น

“การที่เราจะฉีดให้ครบ 70% หรือ 60 ล้านคน โดยจะทำให้คนรู้สึกดีขึ้น เศรษฐกิจเป็นเรื่องของความรู้สึก ถ้าคนมองว่าดี ก็ดี เช่นเดียวกับที่สหรัฐได้สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่า เค้ามีแผนชัดเจนเรื่องวัคซีนอย่างไร ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสจะขยายตัวถึง 6% ผมว่าเราไม่จำเป็นต้องฉีดถึง 70% หรือ 60-70 ล้านคนก็ได้ สิ่งสำคัญเพียงแต่ทำให้ทุกคนเห็นความชัดเจนถึงแผนการทำงาน ก็จะทำให้เกิดความมั่นใจและส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ”