ถอดประสบการณ์แบรนด์ระดับโลก ESG ‘เฟรเซอร์สฯ ไทย’ ทำให้ดู-ชวนให้ทำ-ทำร่วมกัน

ธนพล​ ศิริธนชัย
ธนพล​ ศิริธนชัย

เวทีสัมมนาแห่งปีหัวข้อ “ESG Forum (Environment, Social, Governance) จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย” จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2565 ณ สามย่านมิตรทาวน์ และเป็นอีกครั้งที่ผู้บริหารธุรกิจระดับประเทศ “ธนพล ศิริธนชัย” Country CEO บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ตอบรับคำเชิญขึ้นเวทีร่วมเปิดมุมมองและถ่ายทอดประสบการณ์ต้นแบบการทำ ESG ให้ประสบความสำเร็จ เพื่อนำไปสู่จุดเปลี่ยนของผู้ประกอบการประเทศไทยทั้งปัจจุบันและอนาคต

ปี’66 เผชิญปัจจัยท้าทาย

“ธนพล” กล่าวว่า สถานการณ์โควิดที่ยากลำบากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2563-2564) ธุรกิจถูกกระทบทั้งหมด โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกกระทบแทบจะทุกเซ็กเตอร์ วันนี้ดูเหมือนว่าสถานการณ์โควิดจะคลี่คลายแต่ความท้าทายยังคงมีอยู่ ในปี 2566 ยังมีปัจจัยกดดันที่ต้องเตรียมตัวรับมือ

ทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ อัตราเงินเฟ้อซึ่งกดดันให้ธนาคารทุกประเทศในโลกต้องเร่งการขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนสินค้าและวัสดุต่าง ๆ รวมทั้งต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น กระทบถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ จีดีพีอาจจะลดลง

ทั้งนี้ วงจรธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แต่ละประเภท ได้แก่ “ธุรกิจที่อยู่อาศัย-Housing” เนื่องจากปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น คนกู้ซื้อบ้านโดยเฉพาะระดับกลางถึงล่างกู้ไม่ได้ การแข่งขันก็ค่อนข้างสูง แต่ตลาดบ้านเดี่ยวราคาแพงกลับไปได้ดี

“ธุรกิจค้าปลีก-Retail” มีศูนย์การค้าเปิดใหม่ค่อนข้างมาก ร้านค้าก็ประสบปัญหาการแข่งขันสูงขึ้น เป็นความท้าทายใหม่ที่เกิดขึ้น

“ธุรกิจออฟฟิศให้เช่า-Office Building” เทรนด์ WFH-ทำงานที่บ้าน ประกอบกับอีก 2 ปีหน้าจะมีซัพพลายเข้ามาเติมในตลาดค่อนข้างมาก ความท้าทายของการให้เช่าออฟฟิศก็มีความเสี่ยงอยู่ แต่ออฟฟิศเกรด A ที่ตั้งอยู่โลเกชั่นติดรถไฟฟ้า ติดแหล่งชุมชนก็ยังไปได้ดี และ “ธุรกิจฮอสพิทาลิตี้” แนวโน้มค่อย ๆ ดีขึ้นตามการเปิดประเทศ เปิดเมือง

ในทางกลับกัน ธุรกิจที่ค่อนข้างดีใน 2 ปีที่แล้วและแนวโน้มยังดีต่อไปอีก 2 ปีหน้าคือ “แวร์เฮาส์ โลจิสติกส์ โกดังสินค้า” จากการเติบโตอย่างมากของตลาดอีคอมเมิร์ซ บริษัทใหญ่ ๆ ของโลกต้องการย้ายคลังสินค้ามาไว้ที่ประเทศไทย โดยเฉพาะจากประเทศจีน

โลกผันผวน ESG คือทางออก

จุดเปลี่ยนศักยภาพใหม่ธุรกิจเรียลเอสเตตมีความท้าทายใหม่ จากสถิติเดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมามีฝนตกหนักผิดปกติ ในต่างประเทศมีปัญหาคลื่นความร้อน ภาพรวมพลเมืองโลกเจอปัญหาภาวะโลกร้อนที่มากระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โมเดล ESG ยิ่งทวีความสำคัญ

ตัวอย่างใกล้ตัวคือ การเช่าโกดังที่มีลูกค้าแบบ B to B (Business to Business) คำถามแรกลูกค้าจะถามว่า โกดังแห่งนี้ก่อสร้างตามมาตรฐานอาคารเขียวหรือไม่

“เดี๋ยวนี้เด็กรุ่นใหม่ เขามองบริษัทที่จะทำงานด้วย เขาไม่ได้มองบริษัทที่จะกำไรอย่างเดียวโดยไม่ได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมหรือสังคม การทำธุรกิจถ้าไม่ปรับตัวตั้งแต่วันนี้เราจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ไม่สามารถแข่งขันกับตลาดระดับโลกได้ นั่นคือความสำคัญของ ESG”

ยั่งยืน-มีกำไร-ไม่เบียดเบียน

ข้อมูลเซอร์ไพรส์ภาคอสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วน 40% ในการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกมาในโลกใบนี้ คำถามอยู่ที่เราจะทำอย่างไร รับผิดชอบและวางแผนยังไงเพื่อช่วยกันลดคาร์บอน ให้เป็น 0 ได้อย่างไร

จุดเริ่มต้นที่แข็งแรงมาจากคำว่า Sustainability

“คำว่ายั่งยืนใน ESG ความหมายคือ การที่เราใช้ทรัพยากรในปัจจุบันโดยที่ไม่ทำให้คนรุ่นหลังเดือดร้อน หรืออีกนัยหนึ่ง เราเป็นบริษัทต้องเป็นบริษัทที่เติบโตอย่างยั่งยืน สร้างผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้น ต้องมีกำไรถึงจะยั่งยืน และใช้โดยไม่ไปเบียดเบียนสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เป็นคำนิยามสั้น ๆ ง่าย ๆ ที่เราจะทำเรื่อง ESG”

ในภาพใหญ่ของประเทศไทย นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้ประกาศว่า ไทยจะเป็นประเทศเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และเป็นประเทศเน็ตซีโร่คาร์บอนในปี 2065

โมเดลต้นแบบของ “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป” ในต่างประเทศ มีการประกาศเป็นนโยบายเชิงรุกทั่วโลกว่า จะก้าวขึ้นเป็นบริษัทเน็ตซีโร่คาร์บอนภายในปี 2050 และประเทศไทยก็ร่วมเป็นหนึ่งในคอมมิตเมนต์ที่จะร่วมเดินทางไปด้วยกัน

แผนระยะสั้น 2-3 ปี ในปี 2564 มีหลักสูตรเทรนนิ่งพนักงานให้รับรู้ตรงกันว่า ESG องค์กรจะเดินไปยังไง แผนต่อเนื่องปี 2565-2566 ก้าวหน้ามากขึ้นในเรื่องการออกแบบ การใช้วัสดุโดยคำนึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เซตมาตรฐานการใช้พลังงานไฟฟ้า การประหยัดน้ำในโครงการบ้านและโรงงานในเครือ

“กรีนไฟแนนซิ่ง ธนาคารบอกแล้วว่า ต่อไปใครไม่มี ESG เขาจะไม่ให้กู้ หรือกู้ในราคา (ดอกเบี้ย) แพง ทุกโรงงานทุกอาคารของเราต้องมีมาตรฐานอาคารเขียว (Green Certificated) เป็นสเต็ปแรกที่เราสามารถทำได้ทันที”

จุดสตาร์ต Pre-construction

ถอดรหัส ESG ออกมาเป็นตัวย่อ G-Governance เนื่องจาก FPT เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีกฎระเบียบมากมายในการทำ Sustainability Report ล่าสุดมีเรื่อง Thailand Sustainability Index ซึ่งบริษัทก็เป็นส่วนหนึ่งอยู่ในนั้น

“Governance-ความโปร่งใส บริษัทจดทะเบียนในตลาดหรือไม่อยู่ก็ตาม เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องทำ”

ขณะที่ตัวย่อ E-Environment สิ่งแวดล้อม ทุกคนเข้าใจง่าย พูดถึงเรื่องกรีนแมเนจเมนต์ การแยกขยะ การรีไซเคิล อุปกรณ์ประหยัดน้ำ หลอดไฟแอลอีดี จุดไร้สัมผัส-Touchless ต่าง ๆ

สิ่งที่หลายคนไม่ค่อยรู้คือ กรีนดีไซน์-ประกาศนียบัตรอาคารเขียวที่ขยายผลเป็น LEED กว่าจะได้มาไม่ได้ทำตอนสร้างเสร็จ แต่เริ่มตั้งแต่ช่วงก่อนก่อสร้างหรือ Pre-construction การเลือกใช้วัสดุตามกฎเกณฑ์ ระหว่างการก่อสร้างต้องระมัดระวังเรื่องฝุ่น เสียง การขนขยะไปทิ้ง หลังจากตึกโอเปอเรตแล้วมีเรื่อง Building Information System การวัดค่าพลังงาน เป็นสิ่งที่คอยกำกับดูแลด้านมาตรฐานอาคารเขียว

บริษัทมี Learning Curved ที่เป็นตัวอย่างความสำเร็จมากมาย เช่น ในประเทศไทย แวร์เฮาส์สำเร็จรูปให้เช่าลูกค้ากลุ่ม Bollore จากฝรั่งเศส ป้อนสินค้าลักเซอรี่แบรนด์ ต้องการให้สร้างอาคารประหยัดพลังงาน ทีมงานเทคนิค 2 ฝั่งร่วมกัน การวางเลย์เอาต์ การวางสเตชั่น พนักงานทำงานสะดวก ไม่ร้อน การติดตั้งแอลอีดี การประหยัดน้ำ มีโซลาร์รูฟ

เป้าหมายมีไว้พุ่งชนจนสามารถคว้าประกาศนียบัตร LEED ระดับ Gold (มี 3 ระดับ Silver, Gold, Paltinum) จุดพีกอยู่ที่เป็นโรงงานแรกของกลุ่ม Bollore ด้วย ซึ่งมีความภูมิใจและสามารถนำไป “บอกต่อ-word of mouth” กับลูกค้าต่อเนื่อง กลายเป็น soft power ที่มีพลังหนุนหลังแบรนด์ได้เป็นอย่างดี

อีกตัวอย่าง เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ออสเตรเลีย สร้างหมู่บ้านที่มีเป้าหมายปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุด มีการวางแผนตั้งแต่วัสดุ-เลย์เอาต์ สร้างชุมชนให้น่าอยู่ในเรื่องของต้นไม้ การเอื้อประโยชน์ในการจะรู้จักกัน ปัจจุบันโครงการนี้เป็นตัวอย่าง เป็นแรงบันดาลใจให้อีกหลาย ๆ โครงการทำตามด้วย

และกรณีศึกษาคอมมิวนิตี้มอลล์ในออสเตรเลียอีกแห่ง ทำยากมากเพราะทุกอย่างต้องเป็นเรื่องกรีนทั้งหมด ได้รับรางวัลด้านความยั่งยืน เริ่มตั้งแต่การออกแบบให้มีต้นไม้ปนเข้าไปในบริเวณรอบอาคาร ด้านบนให้พื้นที่ 2,000 ตารางเมตร ทำเรื่องปลูกผัก ต้นไม้นำมาใช้กับภัตตาคารข้างในหรือขายให้กับลูกค้า ตัวชี้วัดซีโร่เวสต์ระหว่างการก่อสร้างทุกอย่างต้องนำมารีไซเคิล ระบบน้ำฝนตกลงมาจะเก็บกักน้ำยังไง การรีไซเคิลน้ำนำกลับมาใช้ใหม่

“เป็นตัวอย่างที่เป็น Inspiration ให้คนที่เข้ามาใช้ตระหนักและเข้าใจด้านสิ่งแวดล้อม”

มือรางวัล-ผลพลอยได้ ESG

“ธนพล” ระบุถึงหลักคิดด้านสังคม-Social ในเรื่อง ESG โฟกัสการทำสังคมให้น่าอยู่ การกลับมาดูแลผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (stakeholder) ทั้งหมด เริ่มจากพนักงานในองค์กร ถ้าเราดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ เราจะได้พนักงานที่มีประสิทธิภาพ มีแรงจูงใจที่จะทำงานต่อ

ถัดออกมากระเถิบไปอีกหนึ่งสเต็ปคือ “ผู้รับเหมา ซัพพลายเออร์” คนที่ช่วยเราสร้างโครงการ

ขยายผลมาสู่ “ชุมชน-Community” ทุกโครงการทุกทำเลที่เข้าไปลงทุนต้องสำรวจและให้ความสำคัญกับประชาชนที่อยู่โดยรอบ เรื่องเสียง-ฝุ่น-คำร้องเรียน-การซ่อมแซม ฯลฯ เพราะตระหนักว่าโซเชียลมีเดียเป็นสิ่งที่ไปถึงทุกคนได้ ถ้าตั้งใจสื่อสารให้ดีจะทำให้ชุมชนเราน่าอยู่ได้

ความใส่ใจลงรายละเอียดนำมาสู่ผลลัพธ์ทางด้าน “สังคม” โดยสามย่านมิตรทาวน์ได้รับรางวัลมาตรฐานด้านประหยัดพลังงาน, รับรางวัล Thailand Energy Award 2021, ASEAN Energy Award 2021 ซึ่งเป็นมาตรฐานของตึกรุ่นใหม่

“ผมอยากชวนดูสิ่งที่ซ่อนอยู่ที่เราตั้งใจทำให้เป็นประโยชน์กับชุมชน ผมเชื่อว่าเป็นโครงการแรก ๆ ด้วยซ้ำที่ให้ความสำคัญกับรั้วโครงการ (รั้วตอนเปิดไซต์ก่อสร้าง) แทนที่จะเป็นสังกะสี เราทำให้ออกมาแล้วเป็นเมืองน่าอยู่ มีความปลอดภัย แสงสว่าง”

ด้านสาธารณประโยชน์มีการลงทุน 300-400 ล้านบาท ทำอุโมงค์ใต้ดินเชื่อมสามย่านมิตรทาวน์กับรถไฟฟ้าใต้ดิน กระตุ้นให้คนหันกลับมาใช้รถสาธารณะแทนการขับรถเข้าเมือง, บนชั้น 6 ด้านนอกมีลานโอเพ่นแอร์ สวนลอยฟ้าให้นิสิตนักศึกษา ประชาชนทั่วไปเข้ามานั่งพักผ่อนหย่อนใจ เป็นส่วนที่ไม่ได้นำกลับมาหารายได้ แต่เป็นพื้นที่ให้ประชาชนและชุมชนใช้เป็นประโยชน์ร่วมกัน

ผนึกกำลัง-ปลูกฝังพนักงาน

ส่วนสุดท้าย “สามย่านโคอ็อป” เป็นโคเลิร์นนิ่งสเปซ ศูนย์แห่งการเรียนรู้ ให้กับนิสิตนักศึกษา นักเรียน ผู้ใหญ่ มาอ่านหนังสือประชุมสัมมนาโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ต้องขอบคุณสปอนเซอร์เคแบงก์ที่ช่วยกันสนับสนุน ซึ่งปกติสูตรลงทุนมีการคำนวณ IRR-ผลตอบแทนการลงทุนเป็นตัวเลข

ในแง่โซเชียลมีวิธีที่เรียกว่า SROI-ผลตอบแทนทางสังคม มีผู้เชี่ยวชาญมาวัดตัวเลขพบว่า ลงทุน 1 บาทจะได้ผลตอบแทนกลับมา 3-5 เท่า เพราะช่วยสังคมประหยัดการเดินทางแล้วคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายกลับคืนมา

“ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จริง ๆ แล้วเป็นธุรกิจเกี่ยวกับคน ไม่ใช่สิ่งปลูกสร้าง ถ้าสร้างแล้วไม่มีคนอยู่อาศัย ไม่มีคนมาใช้งาน ไม่มีชีวิต ฉะนั้น เราจะสร้างโครงการสักอย่าง สร้างบ้านสักหลัง ให้เกิดประสบการณ์ สร้างแรงบันดาลใจ ขณะเดียวกัน โครงการของเราต้องมีคุณภาพ และในที่สุดต้องยั่งยืน สามารถใช้ได้ยาวนาน ในเรื่อง ESG ต่าง ๆ ซ่อนอยู่ในกลยุทธ์บริษัทด้วย ไม่ใช่พูดหรือมีเป้าอย่างเดียว ต้องผนึกกำลังเป็นกลยุทธ์บริษัท แล้วเราจะปลูกฝังให้พนักงาน”

Stakeholder เริ่มจากตัวเรา

“ธนพล” ฝากหลักคิด 3 ประเด็นทำยังไงให้จุดเปลี่ยนวันนี้เป็นการกระตุ้นหรือจุดเปลี่ยนเศรษฐกิจ แล้วทำให้ ESG ประสบความสำเร็จได้

1.ต้อง “ทำให้ดู-Lead by Example” บริษัทเล็ก-กลาง-ใหญ่ สามารถทำได้ทุกคน ถือโอกาสเชิญชวนสัปดาห์หน้าเรามีงานอีเวนต์ ESG Expo นิทรรศการใหญ่ที่สุดในอาเซียน รวบรวมบริษัทมาให้ความรู้หลากหลาย จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กันยายน-2 ตุลาคม 2565 นี้

2.“ชวนให้ทำ-Influencer Change” เริ่มจากพนักงานของเรา ร่วมกันหาคำตอบจากทุกคำถาม อะไรคือ waste-ESG-sustainability และ ESG จะลด waste-ของเสียได้ยังไง

“หลายคนอาจบอกว่า ESG ต้องใช้เงินเยอะมากขึ้นหรือเปล่า ดูเหมือนเราจะต้องลงทุนในระยะต้น แต่ในระยะยาวเราจะประหยัดต้นทุนพลังงานมากขึ้นด้วย เช่น โรงงานที่มีอาคารเขียว ลูกค้ายอมจ่ายค่าเช่าที่มีพรีเมี่ยม ผมคิดว่ามีคนเห็นความสำคัญ มีคนพร้อมจะจ่าย”

3.“ทำร่วมกัน-All Stakeholders Collaboration” หนึ่งองค์กร หนึ่งคน ไม่สามารถทำได้ เช่น การแยกขยะ บริษัทแยกขยะอย่างดีเลย แต่พอส่งไปถึงเมืองก็เอาขยะมารวมกัน หรือเจ้าของอาคารมีการดีไซน์เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ทุกคนเข้ามาใช้ทั้งคนปกติ ผู้พิการทางสายตา แต่ปรากฏว่าคนออกจากบ้านไม่ได้เพราะจุดเชื่อมต่อยังไม่สามารถเชื่อมเข้ามาได้

ดังนั้นหลักคิดเรื่องทำร่วมกันต้องพึ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย วิธีการเริ่มที่คำว่า stakeholder เริ่มจากตัวเรา ขยายไปที่เพื่อนเรา บริษัทเรา แล้วเชื่อมไปที่เมือง

“ถ้าเมืองน่าอยู่ บริษัทน่าอยู่ ประเทศน่าอยู่ ผมคิดว่านั่นทำให้เป็นจุดเปลี่ยนประเทศ จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจของประเทศไทย”

อาณาจักรเฟรเซอร์สกรุ๊ป 1 ล้านล้านบาท

“FPT-เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย” เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเป็นส่วนหนึ่งของเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป ที่มีการลงทุนทั่วโลกกว่า 20 ประเทศ ครอบคลุม 70 เมืองหลัก มีมูลค่าการลงทุนภายใต้การบริหาร 1 ล้านล้านบาท

โดยมีธุรกิจในวงการอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภทครบวงจร ทั้งที่อยู่อาศัย คอมเมอร์เชียล ฮอสพิทาลิตี้ แวร์เฮาส์ โลจิสติกส์ และรีเทล

ในเมืองไทย FPT-Frasers Property Thailand มีการควบรวมกิจการ 2 บริษัท ประกอบด้วย “บริษัท ไทคอน อินดัสตรี จำกัด (มหาชน)” ประกอบธุรกิจโกดังสินค้าให้เช่า ร่วมกับ “โกลเด้นแลนด์-บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)” ทำบ้านแนวราบกับสำนักงานให้เช่า ผนวกกันกลายเป็นบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเเพอร์ตี้ ไทยแลนด์ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว

การรวมกันทำให้ FPT เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร มีธุรกิจถึง 3 ประเภทด้วยกัน แบ่งเป็น “ธุรกิจที่อยู่อาศัย-resedential property” มีความโดดเด่นจากสินค้าบ้านแนวราบ โดยมีโครงการแอ็กทีฟ (อยู่ระหว่างการขาย) ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดจำนวน 66 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 9.1 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น โครงการบ้านเดี่ยว 16 โครงการ และทาวน์โฮม 26 โครงการ ระดับราคาบ้านตั้งแต่ 2-5 ล้านบาทที่เป็นทาวน์เฮาส์ และบ้านลักเซอรี่ราคาเริ่มต้น 40 ล้านบาทขึ้นไป

ถัดมา “ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม-industrial property” สินค้าที่โดดเด่นคือแวร์เฮาส์ให้เช่า มีพื้นที่ทั้งหมด 3.4 ล้านตารางเมตร ซึ่งกระจายทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รูปแบบแวร์เฮาส์ให้เช่ามีทั้งแบบ ready build คือการสร้างเป็นโกดังมาตรฐานพร้อมใช้หรือโกดังสำเร็จรูป กับอีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า build to suit สร้างแวร์เฮาส์ตามความต้องการของลูกค้า (แวร์เฮาส์สั่งสร้าง) ล่าสุด ได้กระจายการลงทุนไปเวียดนามและอินโดนีเซีย

ธุรกิจสุดท้ายคือ “ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้า-commercial property” มีอาคารสำนักงานเป็นออฟฟิศเกรด A โดยออฟฟิศกระจายอยู่ในทำเลไพรมแอเรียตั้งแต่โครงการปาร์คเวนเชอร์ จุดตัดชิดลม, โครงการสาทรสแควร์, โครงการ FYI และสามย่านมิตรทาวน์ กับพื้นที่รีเทล ภายใต้การบริหารจัดการจำนวนพื้นที่รวม 240,000 ตารางเมตร และมีโรงแรมที่อยู่ในพอร์ตโฟลิโอจำนวน 1,100 ห้อง

ล่าสุด เปิดโครงการน้องใหม่แบรนด์ “สีลม เอจ” ทำเลหัวมุมถนนพระราม 4 ตัดกับสีลม รวมทั้งเป็นผู้บริหารการก่อสร้างศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์แห่งใหม่ ซึ่งถือเป็น 2 จิ๊กซอว์ล่าสุดบนกระดานลงทุนปีเสือของกลุ่ม FPT