ทุ่ม 8 พันล้านเปิดหน้าดินอีสานพันไร่ ผุด 2 สะพานข้ามโขงเชื่อมไทย-ลาว-เวียดนาม-จีน

สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 - รูปแบบก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 บึงกาฬ-บอลิคำไซ ออกแบบเป็นสะพานขึงคอนกรีตอัดแรง มีความยาว 1,350 เมตรที่ไทยและ สปป.ลาวจะออกค่าก่อสร้างคนละครึ่ง โดยไทยจะใช้เงินกู้ ADB มาดำเนินการ คาดว่าในปี 2562 จะเปิดประมูลและเริ่มก่อสร้าง

กรมทางหลวงทุ่มกว่า 8.2 พันล้าน เวนคืนที่ดิน 1,420 ไร่ เปิดหน้าดิน 2 จังหวัดภาคอีสาน “บึงกาฬ-อุบลราชธานี” ก่อสร้างถนน สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 และ 6 เชื่อมแขวงบอลิคำไซ-สาละวัน ผุดโครงข่ายใหม่เชื่อมเศรษฐกิจ การค้า ลงทุน และท่องเที่ยว 4 ประเทศ ไทย ลาว เวียดนาม ทะลุจีนตอนใต้

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมกำลังเร่งรัดโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 และแห่งที่ 6 วงเงินรวม 8,230 ล้านบาท เพื่อเชื่อมเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และท่องเที่ยว 4 ประเทศ คือ ไทย สปป.ลาว เวียดนาม รวมถึงทำให้การขนส่งสินค้าจากไทยไปสู่ตลาดจีนตอนใต้คล่องตัวขึ้น แต่ละแห่งจะใช้เวลาก่อสร้าง 30 เดือนหรือ 2 ปี 6 เดือน

ปัจจุบันกรมออกแบบโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 จากบึงกาฬ-บอลิคำไซเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีระยะทางรวม 16 กม. เป็นถนนฝั่งไทย 12.13 กม. ถนนฝั่ง สปป.ลาว 2.86 กม. ส่วนของตัวสะพานเป็นสะพานขึงคอนกรีตอัดแรงมีความยาว 1,350 เมตร ก่อสร้างอาคารด่านพรมแดนทั้งในฝั่งไทยและฝั่ง สปป.ลาว 2 อาคาร คือ อาคารสินค้าและอาคารผู้โดยสาร

ใช้เงินกู้สร้างสะพานบึงกาฬ

จะใช้เงินก่อสร้าง 3,930 ล้านบาท ประกอบด้วยค่างานถนนและด่านพรมแดนฝั่งไทย 1,893 ล้านบาท และฝั่ง สปป.ลาว 780 ล้านบาท งานสะพานฝั่งไทย 660 ล้านบาท และฝั่ง สปป.ลาว 476 ล้านบาท และค่างานควบคุมการก่อสร้างรวม 121 ล้านบาท โดยคาดการณ์ปริมาณจราจรผ่านเข้า-ออกสะพาน ณ ปี 2560 จำนวน 855 คันต่อวัน และจะเพิ่มสูงขึ้นทุกปี คาดว่าจะเริ่มประมูลก่อสร้างในปี 2562

สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 6 – รูปแบบของสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 6 อุบลราชธานี-สาละวัน ที่กรมทางหลวงออกแบบแล้วเสร็จ จะสร้างเป็นสะพานโค้ง ARCH ซึ่งเป็นระบบ Tied Arch คานสะพานเป็นคอนกรีตหรือผสมเหล็กกับคอนกรีต

“ไทย และ สปป.ลาวออกค่าก่อสร้างสะพานคนละครึ่ง ซึ่ง สปป.ลาวมีหนังสือแจ้งความประสงค์ขอกู้เงินมายังสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (สพพ.) เพื่อเดินหน้าโครงการแล้ว ขณะที่งานก่อสร้างในส่วนของไทยอาจจะใช้เงินกู้จากธนาคารพัฒนาเอเชียหรือเอดีบี มาดำเนินการ” นายธานินทร์กล่าวและว่า

เริ่มจ่ายเวนคืนแล้ว

ส่วนการเวนคืนที่ดินกรมได้รับงบประมาณปี 2559-2561 วงเงิน 250 ล้านบาท เพื่อเวนคืนที่ดินแล้ว จากการสำรวจมีที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และต้นไม้ในแนวเส้นทางโครงการประกอบด้วย ที่ดินจำนวน 174 แปลง สิ่งปลูกสร้างจำนวน 69 ราย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสำรวจประมาณราคา และกำหนดราคาทดแทนจำนวน 67 ราย เบิกจ่ายแล้วจำนวน 32 ราย ส่วนต้นไม้จำนวน 133 ราย อยู่ระหว่างการสำรวจประมาณราคา และกำหนดราคาทดแทนจำนวน 98 ราย เบิกจ่ายแล้วจำนวน 44 ราย

แนวเส้นทางจะสร้างอยู่บนพื้นที่ ต.วิศิษฐ์ ต.ไคสี และ ต.บึงกาฬ อ.เมืองบึงกาฬ อยู่ตรงข้ามกับเมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว รูปแบบการก่อสร้างจะมีสะพานข้ามแม่น้ำโขง 1 แห่ง ความยาว 1.35 กม. ขนาด 2 ช่องจราจร เชื่อมโยงฝั่งไทยกับลาว พร้อมถนนตัดใหม่เป็นลักษณะถนนเลี่ยงเมืองขนาด 4 ช่องจราจรในฝั่งไทย เชื่อมต่อกับทางหลวงสาย 222 (บึงกาฬ-พังโคน) จาก จ.หนองคายไปยัง จ.นครพนม และ จ.สกลนคร ส่วนฝั่งลาวจะเป็นถนนขนาด 2 ช่องจราจร ระยะทาง 2.86 กม.

แนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นที่ฝั่งไทย อยู่ที่จุดตัดทางหลวงสาย 222 กม.ที่ 123+430 จากนั้นแนวจะมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตกผ่านพื้นที่เกษตรกรรม เลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตัดกับทางหลวงชนบทสาย 3217 ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้านหนองนาแซง

แล้วมุ่งหน้าไปตัดทางหลวงชนบทสาย 3013 ที่บ้านห้วยดอกไม้ ใกล้โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านห้วยดอกไม้ ผ่านพื้นที่เกษตรกรรม ผ่านด่านพรมแดนฝั่งไทย บริเวณทิศตะวันออกของหนองกุดจับ ก่อนยกระดับข้ามทางหลวงสาย 212 กม.ที่ 125+925 ที่บ้านดอนยม ห่างจากริมฝั่งแม่น้ำโขง 200 เมตร จุดที่ข้ามแม่น้ำโขงจะผ่าน ต.บึงกาฬ ต.วิศิษฐ์ และ ต.ไคสี อ.เมืองบึงกาฬ จะมีเวนคืนที่ดิน 620 ไร่บริเวณฝั่งไทย เพื่อตัดถนนใหม่ จะผ่านจุดสลับทิศทางจราจร ข้ามด่านพรมแดนฝั่งลาวทางฝั่งตะวันตกของหนองง้าว และสิ้นสุดที่ทางหลวงสาย 13 กม.ที่ 136+677

ปักหมุดแห่งที่ 6 อุบลฯ-สาละวัน

นายธานินทร์กล่าวอีกว่า กรมอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม การสำรวจ ออกแบบโครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 6 จากอุบลราชธานี-สาละวัน ต.พะลาน อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี คาดว่าภายในเดือน ธ.ค. 2561 จะเสนอรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณา ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นผลจากการประชุมการพัฒนาร่วมกันเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ระหว่างฝ่ายไทยกับฝ่าย สปป.ลาว ได้กำหนดให้ดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงบริเวณอุบลราชธานี-สาละวัน เพื่อยกระดับเป็นจุดผ่านแดนถาวร

โดยพิจารณาถึงการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งการพัฒนาทางหลวงให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาเซียน ซึ่งโครงการนี้จะช่วยให้ประชาชนเดินทางระหว่าง จ.อุบลราชธานีกับแขวงสาละวัน สปป.ลาว ผ่านปากเซ และเชื่อมโยงไปเมืองเว้ของประเทศเวียดนามได้สะดวกรวดเร็ว ลดระยะเวลาการเดินทาง

25.8 กม. ลงทุน 4.3 พันล้าน

รวมทั้งส่งเสริมภาคธุรกิจขนส่งและการท่องเที่ยวของ 2 ประเทศ จากข้อสรุปร่วมระหว่าง 2 ประเทศ มีจุดเริ่มต้นที่ กม.23+350 บริเวณบ้านโนนตาล ต.นาตาล อ.นาตาล ไปสิ้นสุดที่ กม.546+800 เมืองละคอนเพ็ง แขวงสาละวัน รวมระยะทาง 25.8 กม. ใช้เงินก่อสร้างประมาณ 4,300 ล้านบาท

แยกเป็นงานก่อสร้างฝั่งไทย 1,500 ล้านบาท ฝั่ง สปป.ลาวประมาณ 1,000 ล้านบาท สะพานข้ามแม่น้ำ 1,800 ล้านบาท และมีเวนคืนที่ดิน 800 ไร่ วงเงิน 200 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นที่ดิน ส.ป.ก. จึงทำให้ค่าเวนคืนไม่สูงมากนัก ส่วนการก่อสร้างโครงการ จะเริ่มดำเนินการอีก 18 เดือนนับจากนี้ คาดว่าจะเปิดประมูลและก่อสร้างในปี 2564