The Big Prop Trend 2019 บิ๊กมูฟ “สมาร์ต ลิฟวิ่ง” ขับเคลื่อนบ้าน-คอนโดอัจฉริยะ

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทโครงการที่อยู่อาศัยในตลาดเมืองไทยมีมูลค่าโครงการเปิดตัวใหม่ไม่น้อยกว่าปีละ 4-5 แสนล้านบาท และมีมูลค่าสินเชื่อปล่อยใหม่ไม่ต่ำกว่าปีละ 6-6.5 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 6.5% ต่อจีดีพี จึงเป็นธุรกิจที่มีผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้ามาลงทุนพัฒนาโครงการทั้งบริษัทรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ กลุ่มทุนท้องถิ่นในแต่ละจังหวัด รวมทั้งกลุ่มทุนต่างชาติจากทั่วทุกมุมโลก

ปัจจัยดังกล่าวทั้งหมดนี้หนุนส่งให้ประเทศไทยกลายเป็นทำเลที่มีบ้านจัดสรรระดับลักเซอรี่ ราคาหลังละ 100 ล้านบาทขึ้นไปเปิดขายจำนวนมาก และมีห้องชุดตารางเมตรละ 7 แสนบาทซึ่งคุณภาพดีไซน์และการก่อสร้างเทียบเท่าห้องชุดตารางเมตรละ 1 ล้านบาทในต่างประเทศ ความเชี่ยวชาญและความชำนาญในทุกด้านถูกส่งต่อมายังตลาด “บน-กลาง-ล่าง” ราคาเริ่มต้น 1 ล้าน-10 ล้านบาท เพราะที่สุดของที่สุดในการซื้อบ้านและคอนโดมิเนียมก็คือ “การซื้อคุณภาพชีวิต” ในการพักอาศัย

ประเด็นที่น่าสนใจคือ เทรนด์หลักทั้งในระดับโลก สังคม และองค์กร สินค้าที่อยู่อาศัยไม่ใช่แค่เพียงอิฐ-หิน-ปูน-เหล็กอีกต่อไป แต่มีพัฒนาการต่อยอดขึ้นมาเป็น “สินค้าไลฟ์สไตล์” วันนี้มีเทรนด์การพัฒนาที่อยู่อาศัย (The Big Property in Trend) มาร่วมกันเปิดมุมมอง 3 ด้านด้วยกันคือ 1.โลเกชั่น 2.ไลฟ์สไตล์ และ 3.ดีไซน์ เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ผู้บริโภคยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่ใช้ชีวิตในรูปแบบสังคมไร้เงินสด (cashless society), การใช้ IoT เพื่อความสะดวกสบายภายในบ้าน, สนใจเรื่องการใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติและสุขภาพมากขึ้น และเรียกร้องด้านการบริการหลังการขายที่มีประสิทธิภาพสูง

  • 10 รถไฟฟ้า 100 โลเกชั่น

จุดโฟกัสอยู่ที่ทำเลกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม) โดยมี “แผนแม่บทขนส่งมวลชนระบบราง ระยะที่ 1” รหัสย่อคือ M-MAP 1 ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10-11 เส้นทาง ระยะทางรวม 464 กิโลเมตร มีความคืบหน้าแล้ว 80% ล่าสุดทางกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างพิจารณาแผนลงทุน M-MAP 2 เพื่อต่อยอดการเดินทางในรัศมี 40 กิโลเมตร ระยะทางเพิ่มอีก 131 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมโครงข่ายให้กับเมืองรอง (sub center) 13 แห่ง ได้แก่ รังสิต มีนบุรี ลาดกระบัง สมุทรสาคร ศาลายา บางขุนเทียน สมุทรปราการ บางใหญ่ แคราย บางซื่อ มักกะสัน และวงเวียนใหญ่

อัพเดตล่าสุดของโครงการลงทุนโครงข่ายรถไฟฟ้าออกสู่ชานเมือง มีกำหนดเปิดบริการ 2 สายในปี 2562 ได้แก่ สายสีเขียว แบริ่ง-สมุทรปราการ, สายสีน้ำเงิน หัวลำโพง-บางแค

ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 11 เส้นทาง มีสายสีเขียว หมอชิต-คูคต, สีน้ำเงิน บางซื่อ-ท่าพระ, สีแดง ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต, สีชมพู แคราย-มีนบุรี, สีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง, สีแดงอ่อน ตลิ่งชัน-ศิริราช-ศาลายา, สีแดงเข้ม รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์, สีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี, สีน้ำเงิน บางแค-พุทธมณฑลสาย 4, สีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-ตลิ่งชัน และสีม่วงใต้ เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ

แน่นอนว่าระบบรถไฟฟ้ายิ่งก่อสร้างใกล้เสร็จเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นปัจจัยบวกเพราะระบบรางเป็นตัวช่วยเปิดหน้าดินการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้า รวมทั้งเปิดหน้าดินให้กับโครงการแนวราบกลับมาคึกคักเพราะเพิ่มทำเลรถไฟฟ้าเข้าถึงอีกนับหลายร้อยทำเลในย่านขอบเมืองของมหานครกรุงเทพ

  • “คอนโดล้านกว่า” ทำเล 0 ก้าวจากรถไฟฟ้า

มหัศจรรย์ของระบบรถไฟฟ้า ไม่เพียงแต่เป็นโหมดการเดินทางที่ทำให้ผู้พักอาศัยย่านชานเมืองสามารถเดินทางเข้าสู่เขตเมืองชั้นในได้รวดเร็วขึ้น ระบบโครงข่ายขนาดใหญ่เชื่อมถึงกันทำให้การเดินทางข้ามมุมเมืองเพื่อไปเยี่ยมญาติหรือพบปะสังสรรค์ทำได้สะดวกง่ายดายมากขึ้น หากแต่ยังทำให้ความฝันของผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ที่อยากมีห้องชุดพักอาศัยใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า ไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป

ทั้งนี้ เทรนด์ใหม่ในการพัฒนาโครงการของดีเวลอปเปอร์เริ่มมีให้เห็นมากขึ้นในปี 2561 ด้วยการเพิ่มโอกาสการเลือกซื้อ “คอนโดมิเนียม” ตามแนวรถไฟฟ้า จากเดิมที่มีข้อจำกัดมีรถไฟฟ้าวิ่งไม่กี่สายทำให้ห้องชุดตามแนวรถไฟฟ้ามีราคาแพงมาก ในอนาคตอันใกล้ภายในปี 2565 จะทยอยเปิดวิ่งให้บริการครบ 8 สาย ทั้งสร้างใหม่และส่วนต่อขยายสายเดิม กลายเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการหันไปสร้างโครงการดักล่วงหน้าตามสถานีรถไฟฟ้าเกิดใหม่ ผลลัพธ์คือทำให้มีห้องชุดราคาตลาดแมส ยูนิตละ 1-3 ล้านบาทนำเสนอเพิ่มมากขึ้นจากผู้ประกอบการหลายค่าย โดยชูจุดขายในด้านทำเลว่าเป็นคอนโดติดรถไฟฟ้า หรือตั้งอยู่ “0 ก้าวจากรถไฟฟ้า”

โดย “บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด” ระบุผลสำรวจการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ในเขตกรุงเทพมหานครพบว่า ระดับราคาขายในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน เริ่มต้นกันที่ตารางเมตรละ 2-3 แสนบาท เปรียบเทียบกับห้องชุดในเส้นทางรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างในปีนี้ กลุ่มราคาหลักอยู่ที่ 65,000-150,000 บาท/ตารางเมตร โดยความนิยมสร้างห้องชุดตามแนวรถไฟฟ้าเริ่มมีให้เห็นตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบันมีห้องชุดรวมกัน 89,000 กว่ายูนิต แนวโน้มจะมีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมองว่าสถิติทะลุเกิน 1 แสนยูนิตแน่นอนในปี 2562

ยกตัวอย่าง โครงการเดอะนิช โมโน ของค่ายเสนา ดีเวลลอปเม้นท์ แนวรถไฟฟ้าสายสีส้ม สถานีหัวหมาก ราคาเริ่มต้น 1.99 ล้านบาท, โครงการศุภาลัย เวอเรนด้า รามคำแหง ของค่ายศุภาลัย ทำเล 0 ก้าวจากสถานีราชมังคลาฯ ราคาเริ่มต้น 1.89 ล้านบาท เฉลี่ย 76,000 บาท/ตารางเมตร, โครงการเอสเซนท์ ของค่าย CPN Residence ในเครือเซ็นทรัลพัฒนา ทำเล 0 ก้าวจากสถานีเสนานิคม รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ราคาเริ่ม 2.99 ล้านบาท เฉลี่ย 1.4 แสนบาท/ตารางเมตร เป็นต้น

  • ดีมานด์ใหม่ “ทาวน์เฮาส์ 2 ล้าน” ใกล้สถานีรถไฟฟ้า

จากเหตุผลที่รัฐบาลกำลังเร่งก่อสร้างรถไฟฟ้าสายใหม่ เมื่อพิจารณาจากต้นทาง-ปลายทางพบว่าทุกสายเกิดใหม่มีต้นทางที่ “ชุมทางบางซื่อ” และทอดเส้นทางออกไปชานเมืองทั้งสิ้น ส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งทำให้เกิดมีดีมานด์ใหม่ขึ้นมา โดยเป็นการแข่งขันกันระหว่างสินค้า 2 ประเภทคือ ตัวเลือกในการซื้อคอนโดฯ ใกล้สถานีรถไฟฟ้า กับตัวเลือกใหม่หันมาซื้อทาวน์เฮาส์ในราคาที่ใกล้เคียงกัน

“แสนผิน สุขี” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือโกลเด้นแลนด์ ระบุว่า ทำเลรถไฟฟ้าสายใหม่ เช่น สายสีม่วง เตาปูน-บางใหญ่ ทำให้มีข้อเปรียบเทียบระหว่างการเลือกซื้อห้องชุดใกล้สถานีรถไฟฟ้า เปรียบเทียบห้องชุดไซซ์ 40 ตารางเมตร ราคา 50,000 บาท/ตารางเมตร หรือห้องละ 2 ล้านบาท ถ้าเพิ่มเงินอีกเล็กน้อยหันมาซื้อทาวน์เฮาส์แทนในราคา 2-2.5 ล้านบาท แลกกับขยับทำเลที่ตั้งออกไปอยู่ในรัศมี 2 กิโลเมตรจากสถานีรถไฟฟ้า แต่ได้อยู่ทาวน์เฮาส์ขนาดที่ดินเริ่มต้น 16-18 ตารางวา ตัวบ้านไซซ์ 90-120 ตารางเมตร

ยังมีซีอีโอที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี “ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ฟันธงว่ารถไฟฟ้าสายใหม่ทำให้มีโครงการทาวน์เฮาส์เป็นคู่แข่งกับคอนโดฯ โดยกางรัศมีเริ่มต้นตั้งแต่ 800 เมตรจากสถานีรถไฟฟ้า ผู้บริโภคก็สามารถมีตัวเลือกซื้อทาวน์เฮาส์ได้แล้วในราคาใกล้เคียงกัน

ซึ่งถ้ายังจำกันได้ในฐานะซีอีโอยอดนักคิด “ดร.ชัชชาติ” ได้นำเสนอทฤษฎีว่าด้วยการพัฒนาโครงการ จากเดิมคัมภีร์คือ “Location Location และ Location” ปรับใหม่เป็น “Transportation Transportation  และ Transportation” เพราะโครงข่ายคมนาคมขนส่งถนนตัดใหม่ ทางด่วน รถไฟฟ้า เมื่อขยายไปที่ไหนความเจริญก็จะตามติดเป็นเงาตามตัว ทั้งแหล่งสถานศึกษา แหล่งจ้างงาน แหล่งช็อปปิ้ง รวมทั้งเป็นย่านพักอาศัยชั้นดีเพราะเป็นชุมชนเกิดใหม่

โดยนวัตกรรมล่าสุดของบริษัทนำเสนอผ่านแคมเปญ Q Health” เป็นระบบจัดการอากาศภายในบ้านด้วย ACV (Active Controlled Ventilation)   ช่วยเติมอากาศให้ที่อยู่อาศัยด้วยการหมุนเวียนอากาศจากภายนอกสู่ภายใน จากการทำงาน 2 ระบบปฏิบัติการ คือ “ระบบการทำงานกลางวัน” (Ventilation) ช่วยระบายอากาศภายในบ้านให้ถ่ายเท ทำให้รู้สึกสบาย ไม่ร้อนอบอ้าว กับ “ระบบการทำงานกลางคืน” (Fresh Air Master Bed Room) ทำให้นอนหลับสบายตอนกลางคืน ลดการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ปัจจุบันบริษัทได้ติดตั้งนวัตกรรม Q Health ในโครงการที่อยู่อาศัยของควอลิตี้เฮ้าส์และในเครือ แล้ว 19 โครงการ ภายใต้แบรนด์ คิวเฮ้าส์ คาซ่า และกัสโต้ ทั้งรูปแบบบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์เฮ้าส์

  • IoT เทคโนโลยีสามัญประจำบ้าน

ปี 2561 เราอยู่ในยุคที่โลกทั้งใบถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีเต็มรูปแบบ กล่าวสำหรับวงการอสังหาริมทรัพย์มีคำเรียกขานว่าถูกขับเคลื่อนด้วยนิยามของคำว่า “พร็อพ เทค-PropTech” ด้วยการนำสารพัด Property Technology มาปรับใช้ในการพัฒนาโครงการ จุดประสงค์หลักมีเพียงเป้าหมายเดียวเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับเจ้าของบ้าน-เจ้าของคอนโดฯ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

และอาจกล่าวได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็นยุค IoT-Internet of Things ครองเมืองก็ว่าได้ ซึ่ง IoT เป็นการนำอินเตอร์เน็ตเข้าไปเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์กับซอฟต์แวร์ภายในอาคาร โดยมีคำอธิบายที่ถูกหยิบยกมาใช้ทั่วไปสำหรับที่อยู่อาศัยทันสมัยจะต้องเปิด-ปิดแอร์ในบ้านได้ตั้งแต่เราอยู่นอกบ้าน มีกล้องวงจรปิดหรือกล้อง CCTV คอยตรวจสอบว่าคุณตาคุณยายที่อยู่บ้านตอนกลางวันยังสบายดีอยู่หรือเปล่า เป็นต้น เทคโนโลยีเหล่านี้อาจไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ประเด็นที่ต้องการชี้ให้เห็นอยู่ที่ในอดีตเป็นเทคโนโลยีที่มีราคาแพง ทำให้มีข้อจำกัดในการซื้อหามาใช้ คนที่จะมีคุณภาพชีวิตแบบนี้ได้ต้องมีกำลังซื้อสูงหรือเป็นผู้มีรายได้ระดับเศรษฐีเท่านั้น

ปัจจุบัน IoT กำลังถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนพัฒนาโครงการ หมายความว่าดีเวลอปเปอร์มีการนำมาติดตั้งในบ้านหรือคอนโดฯ และติดตั้งในพื้นที่ส่วนกลางไว้เรียบร้อยแล้ว ต้นทุนที่มีจะบวกเข้าไปในราคาขาย โดยราคาสินค้าอสังหาฯ ที่เราซื้อวันนี้บางโครงการแทบไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม แต่สามารถเช็กอินไว้อวดเพื่อนได้อย่างภาคภูมิใจ ที่สำคัญเป็นเทคโนโลยี+อสังหาฯ บนราคาที่ไม่แพงจนเกินเอื้อมอีกต่อไป

ในเรื่องนี้ “วงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต” กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) ประกาศพันธสัญญาในแผนกลยุทธ์ธุรกิจบริษัทประจำปี 2561 ไว้ว่าเป็นปีที่ดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด Perfect Smart City ไม่ใช่แค่บ้าน 1 หลังแต่เป็นโครงการทั้งโครงการที่จะต้องเป็นสมาร์ตซิตี้ โดยเริ่มต้นด้วยโปรแกรมความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจค่าย AIS ลงทุน AIAP เพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเสิร์ฟให้กับลูกบ้าน และนำ IoT มาใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้อยู่อาศัยในโครงการ

เช่น พื้นที่ส่วนกลางมี Bike Sharing โดยร่วมมือกับ “โม ไบก์” ระบบจักรยานอัจฉริยะให้บริการในโครงการ, Smart Street Light โคมไฟถนนอัจฉริยะทำงานอัตโนมัติ, Smart Shuttle Service บริการรถรับ-ส่งระหว่างโครงการกับสถานีรถไฟฟ้า, พื้นที่ Co Working Space สำหรับนั่งทำการบ้านหรือสันทนาการ ส่วนพื้นที่ภายในบ้านหรือคอนโดมิเนียมมีระบบ Home Energy Monitoring ระบบตรวจสอบการใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาในบ้าน, Smart Tracking บัตรผ่านเข้า-ออกที่สามารถตรวจสอบผู้มาติดต่อได้ตลอดเวลา, Face Recognition เทคโนโลยีจดจำใบหน้าในการเข้า-ออกคอนโดฯ

นอกเหนือจากที่กล่าวมา ทางผู้บริหารอีกค่าย “วิวัฒน์ เลาหพูนรังษี” ประธานกรรมการ บริษัท อารียา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) เปิดวิสัยทัศน์ที่เน้นเป็นพิเศษในเรื่องการดูแลหลังการขายเพราะมองว่าเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจซื้อบ้านของลูกค้า โดยตั้งเป้าอารียาฯ จะเป็น Best In Class After Sale Service อาทิ สำหรับลูกบ้านที่รับโอนกรรมสิทธิ์แล้วเข้าอยู่อาศัยแล้ว มีระบบแจ้งซ่อมผ่าน Application ออนไลน์ สามารถเลือกวันนัดหมายได้ตามสะดวก, มีระบบแจ้งเตือนล่วงหน้า 1 วัน, ลูกค้าปิดงาน-ประเมินความพึงพอใจผ่านแอปฯ ได้เลย เป็นต้น

  • นวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เปิดตัวเร็วกว่าใครเห็นจะเป็นค่ายเอพี (ไทยแลนด์) โดย “ภมร ประเสริฐสรรค์” รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานพัฒนาธุรกิจกลุ่มสินค้าบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮม บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)  ประกาศความร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทยเมื่อเดือนเมษายน 2561 นำแนวคิดสังคมไร้เงินสด (cashless payment) ให้ลูกค้าชำระค่าจองซื้อบ้านผ่านคิวอาร์ โค้ด เพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนเมืองอย่างแท้จริง เริ่มใช้จองบ้านครั้งแรกในโครงการต้นแบบ “พลีโน่ ปิ่นเกล้า-จรัญฯ” และ “บ้านกลางเมือง ราชพฤกษ์- รัตนาธิเบศร์” ก่อนขยายให้ครอบคลุมทุกโครงการของเอพี

Smart POD-ล็อกเกอร์อัจฉริยะ (Intelligent Locker)

“แคชเลสเปย์เมนต์เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการอำนวยความสะดวก และไม่ต้องใช้เงินสด หรือเตรียมเช็คเมื่อต้องจองซื้อบ้านในโครงการต่างๆ ของเอพี เราตระหนักว่าปัจจุบันมีผู้ซื้อสินค้าและบริการบนระบบออนไลน์เป็นสัดส่วนมากถึง 61% จากประชากรโลกทั้งหมดกว่า 1,660 ล้านคน และการใช้บริการธุรกรรมทางการเงินในระบบออนไลน์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในหลากหลายรูปแบบ เอพีจึงมุ่งมั่นพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้ครอบคลุมไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคอย่างครบวงจร”

อีกฟากในโครงการคอนโดมิเนียม “วิทการ จันทวิมล” รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ เอพี (ไทยแลนด์) กล่าวว่า คนรุ่นใหม่ที่อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น  แต่การจัดส่งสินค้ายังไม่ได้รับการออกแบบใหม่ให้เอื้อต่อพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เอพีจึงริเริ่มนำ Smart POD-ล็อกเกอร์อัจฉริยะ” (Intelligent Locker) มาใช้ ภายใต้แนวคิด นวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน – AP Innovation for Quality Living” ทำให้ผู้ส่งและผู้รับเข้าถึงการใช้งานด้วยตนเองได้ตลอดเวลา

 

โดยผู้อยู่อาศัยสามารถรับของได้ในเวลาที่ตนเองสะดวกตลอด 24 ชั่วโมง มั่นใจได้ในความปลอดภัย 100% เนื่องจากผู้ที่นำพัสดุมาส่งจะต้องใช้บัตรประชาชนเพื่อยืนยันตัวตนในการดำเนินการเข้าระบบฝากของ พร้อมระบุเลขห้อง เบอร์โทรศัพท์ของผู้อยู่อาศัย หลังจากนั้นระบบจะส่งข้อความไปยังสมาร์ทโฟนของผู้รับ พร้อมพาสเวิร์ด และ QR Code เพื่อนำมาสแกนรับพัสดุด้วยตนเอง ซึ่งบริษัทพร้อมเดินหน้าติดตั้ง Smart Pod ในทุกคอนโดใหม่ของเอพี

Proudly present ที่เอพีนำเสนอบ่อยครั้งเป็นเรื่อง “นวัตกรรมห้องน้ำสำเร็จรูป” (Bathroom Pods Innovation) แม้เป็นกระบวนการที่ไม่ใช่จุดสัมผัสกับลูกค้าโดยตรง แต่บริษัทเชื่อมั่นว่าการปรับแนวทางในการก่อสร้างที่คำนึงถึงคุณภาพและความยั่งยืนของสินค้า เป็นประโยชน์สูงสุดที่ลูกค้าจะได้รับ ห้องน้ำสำเร็จรูปถือเป็นหนึ่งในระบบโมดูล่าร์ที่มาพร้อมกับคุณภาพ ปัจจุบันโครงการที่ติดตั้งไปแล้วมีผลตอบรับที่ดี Defect (ข้อบกพร่องจากการก่อสร้าง) มีค่าเท่ากับศูนย์ โรดแมปในอนาคตเอพีคาดว่าจะพัฒนาในเรื่องดีไซน์ ฟังก์ชั่นการใช้งาน และวัสดุให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อตอบไลฟ์สไตล์ของคนเมืองที่แตกต่างกัน

  • Smart Solution ตอบโจทย์ชีวิตเสพติดความทันสมัย

เมื่อเร็วๆ นี้ ค่ายแสนสิริเพิ่งอวดโฉมสมาร์ตคอนโดมิเนียมเต็มรูปแบบโครงการแรกภายใต้แบรนด์ “เดอะไลน์ อโศก-รัชดา” ซึ่งเป็นโครงการจอยต์เวนเจอร์ระหว่างแสนสิริและบีทีเอสกรุ๊ปโครงการที่ 4 พัฒนาภายใต้คอนเซ็ปต์ Balance is Everything ตอบสนองการใช้ชีวิตที่สมดุลให้กับคนเมือง และประสบความสำเร็จจากการปิดการขายได้ทันทีในวันเปิดพรีเซลโครงการวันแรก

ความสำคัญของการเปิดให้เยี่ยมชมสมาร์ตคอนโดมิเนียมเต็มรูปแบบเพื่อต้องการบอกต่อผู้บริโภคว่าบริษัทจะใช้เป็นกลยุทธ์ในการพัฒนาคอนโดมิเนียมทุกโครงการในปี 2562 เป็นต้นไป

ดร.ทวิชา ตระกูลยิ่งยง” ประธานผู้บริหารสายงานเทคโนโลยีและวิเคราะห์ข้อมูล บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แสนสิริเล็งเห็นถึงความสำคัญในเทรนด์ผู้อยู่อาศัยยุคใหม่ จึงนำแนวคิดการบริหารจัดการอาคารอัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยี IoT เข้าไปเชื่อมต่ออุปกรณ์กับซอฟต์แวร์และบริการที่มีภายในอาคาร ตั้งแต่พื้นที่ส่วนกลางไปจนถึงภายในห้องพักอาศัย ควบคุมการทำงานเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนกลาง เช่น อุปกรณ์ดับเพลิง  เครื่องปั่นไฟ ตู้ควบคุมไฟฟ้าหลัก ลิฟต์ ปั๊มน้ำ ท่อระบายน้ำ และสระว่ายน้ำ

ไปจนถึงการปรับสภาพอากาศภายในอาคาร (Heating, Ventilation and Air Conditioning : HVAC) ควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสมเพื่อลดการใช้พลังงานเกินความจำเป็น ช่วยในการคาดการณ์ความเสียหายของอุปกรณ์ต่าง ๆ (Preventive Maintenance) ให้สามารถวางแผนการซ่อมแซมได้อย่างทันท่วงที  ทำให้ประหยัดต้นทุนในระยะยาว

โดยย้ำว่าองค์ประกอบที่โดดเด่นของเดอะไลน์ อโศก-รัชดา อยู่ที่นำเทคโนโลยีสุดล้ำครอบคลุมการบริหารจัดการระบบพลังงานและทรัพยากรต่าง ๆ ภายในอาคารแบบอัตโนมัติ ประเมินการซ่อมบำรุง และ Home Automation ภายในห้องพักอาศัยใน 3 ด้าน ได้แก่ iConvenience (ความสะดวกสบาย) iSafe (ความปลอดภัย) และ iGreen (ด้านประหยัดพลังงาน)

นอกจากนี้ยังมีศูนย์ควบคุมระบบ IoT of Building, ควบคุมการใช้ไฟฟ้าส่วนกลาง (Smart Lighting Control), ควบคุมการปิด-เปิดประตูหนีไฟ (Smart Door Safety Monitoring), สมาร์ทล็อกเกอร์และตู้จ่ายพัสดุอัติโนมัติเชื่อมต่อกับ iBox (Smart Delivery), แท่นชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า พร้อมบริการรถยนต์พลังงานไฟฟ้า Smartmove และสถานีชาร์จประจุไฟฟ้า โดยสามารถจองใช้บริการได้ง่าย ๆ บนแอพพลิเคชั่น Home Service, เครื่องซักผ้าอัจฉริยะ (Smart Wash), เครื่องรับคืนขวดพลาสติค (Refun Machine) และระบบเทเลคอมในอาคารจอดรถ

  • “โซลาร์รูฟ” ชุมชนพลังงานสีเขียวอัจฉริยะ

เทรนด์เด่นแห่งยุคต้องนับรวมกันผลิตไฟฟ้าสะอาดเข้าไว้ด้วย โดยล่าสุดในช่วงไตรมาส 3/61 “แสนสิริ” จับมือกับ “บีซีพีจี” หรือกลุ่มบางจากปิโตรเลียม ประกาศความสำเร็จในการเริ่มใช้ระบบแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่แบบเพียร์ทูเพียร์ (Peer-to-Peer) ด้วยการทำธุรกรรมโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ในโครงการที่พักอาศัยที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โครงการนำร่องเกิดขึ้นจริงแล้วที่โครงการทาวน์สุขุมวิท 77 หรือ T77 ภายใต้ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการพลังงานเพื่ออนาคต (Energy management for the future) ด้วยการสร้างปรากฏการณ์เปลี่ยน Consumerเป็น “Prosumers” ยุคแห่งการผลิตโดยผู้บริโภค ซึ่งคนไทยสามารถเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคพลังงานสะอาดจากพลังงานไฟฟ้าทดแทน รวมทั้งสามารถขายพลังงานส่วนเกินที่ผลิตได้ให้กับสมาชิกในชุมชน

เป้าหมายลดต้นทุนค่าไฟฟ้า ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการลดคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าการปลูกป่าถึง  400 ไร่ ตามแนวคิด Low Cost-Low Carbon ด้วยกำลังการผลิตพลังงานสะอาดถึง 20% ของปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ทั้งหมดในโครงการ T77 ซึ่งคาดว่าไฟฟ้าสะอาดทุกหน่วยที่ผลิตได้จะช่วยประหยัดค่าไฟต่อหน่วยให้ลูกบ้านแสนสิริได้ถึง 15%

แผนการระยะยาวเตรียมนำไปใช้ในโครงการบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียมของแสนสิริกว่า 20 โครงการภายในปี 2561 ภายใต้แผนพัฒนาชุมชนพลังงานสีเขียวอัจฉริยะ (Smart Green Energy Community)