ปลุกพลังคนรถไฟ “เปิด-ปรับ-เปลี่ยน” สู่อนาคตใหม่ศูนย์กลางระบบรางดีที่สุดในอาเซียน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ก.พ.2562 การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จัดงาน ”Change to the Future” เปิด-ปรับ-เปลี่ยน=สู่อนาคตใหม่รถไฟไทย โดยร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กับพนักงานตั้งแต่ระดับ 8 ขึ้นไปของ ร.ฟ.ท.ทั่วประเทศ ที่เข้าร่วมฟังกว่า 800 คน

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนองค์กรครั้งใหญ่ไปสู่การเป็นผู้ให้บริการระบบรางของรัฐที่ดีที่สุดในอาเซียนในปี 2570 ตามวิสัยทัศน์แผนฟื้นฟูกิจการระยะ 10 ปี (2561-2570) จะมีการพัฒนาในทุกมิติ ทั้งเพิ่มขีดความสามารถ มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบราง ทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟสายใหม่ รถไฟชานเมืองสายสีแดง รถไฟความเร็วสูง และการจัดหารถจักรและล้อเลื่อนเพิ่มเติม ซึ่ง ร.ฟ.ท.จะต้องเตรียมองค์กรให้พร้อมเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น จะมีรับคนเพิ่มอีกกว่า 10,000 อัตรา ในปีนี้ประมาณ 1,904 อัตรา

“การรับฟังความคิดเห็นวันนี้ ไม่ใช่มานั่งฟังสัมมนาจบแล้ว กลับไปทำเหมือนเดิม เราต้องปรับเปลี่ยนตัวเราให้เป็นไม้สักทอง เป็นศูนย์กลางทั้งหมดที่ทุกคนต้องใช้ เพราะระบบรางเป็นศูนย์กลางการขนส่งและลดต้นทุนโลจิสติกส์จะไม่เป็นไม้ที่ตายแล้วเหมือนเมื่อก่อน ผมเคยทำแผนโครงการไฮสปีดเทรนและรถไฟทางคู่ ตั้งแต่ปี 2550 ถึงตอนนี้ก็ 12 ปี ยังไม่มีความก้าวหน้ามาก แต่ก็มีความชัดเจนขึ้นเรื่อยไป“

“เชื่อว่าถ้าทำตามแผนฟื้นฟูที่เสนอให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ คนร.พิจารณาจะทำให้อีก 10-20 ปี อนาคตรถไฟสดใสแน่นอน เพราะไม่ได้มีเทคโนโลยีที่ต้องปรับเปลี่ยนให้ทันโลก ยังมีที่ดินในมือเป็น 100,000 ไร่ ที่จะสามารถนำมาพัฒนาได้ ถ้าไม่ลงมือทำวันนี้ ทุกอย่างจะยังคงเป็นแผนอยู่เหมือนเดิม ซึ่งวันที่ 1 มี.ค.นี้ รถไฟจะครบรอบ 129 ปีแล้ว”

นายกุลิศกล่าวอีกว่า นโยบายให้ ร.ฟ.ท.เร่งสร้างรถไฟทางคู่ 7 เส้นทาง ระยะทาง 993 กม. ให้เสร็จ 2562-2566 รถไฟทางคู่ระยะที่ 2 และทางคู่สายใหม่ 9 เส้นทาง ให้เสร็จปี 2567-2571 จะพาดผ่านพื้นที่ 61 จังหวัด ทำให้ ร.ฟ.ท.มีเส้นทางเพิ่มขึ้นอีก 2,419 กม. จากปัจจุบัน 4,044 กม.

“สิ่งสำคัญเมื่อมีทางคู่แล้ว ก็ต้องมีศูนย์ขนย้ายสินค้าหรือ CY ในแนวเส้นทาง ผมเป็นปลัดกระทรวงพลังงาน ได้มีนโยบายให้เขาขนส่งทางรถไฟ ในเส้นทางมาบตาพุด-แหลมฉบัง-ขอนแก่น ถ้าทำให้เสร็จในปี 2565 ปตท.เขาขอมาขนส่งแก๊สกับรถไฟแน่นอน จาก LNG เทอร์มินอล จากท่าเรือแหลมฉบังไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีลูกค้ารอเราอยู่แล้ว ทำเสร็จเร็ว เงินยิ่งเข้ากระเป๋าเร็วขึ้น”

นายกุลิศกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ขอให้เร่งสร้างรถไฟสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) ให้เสร็จเปิดใช้ในเดือน มี.ค.2564 อย่างที่ตั้งเป้าไว้ โดยเฉพาะสถานีกลางบางซื่อให้เร่งแผนการพัฒนาเพื่อเตรียมพร้อมกับการเปิดใช้รถไฟฟ้า โดยจะให้ ปตท.เป็นพี่เลี้ยงให้ในการพัฒนาเป็นสมาร์ทซิตี้

ขณะรถไฟความเร็วสูงยังเป็นแผนงานในอนาคต บอร์ดยังไม่อยากจะเข้าไปเน้นมากนัก รวมถึงเร่งจัดหารถจักรและล้อเลื่อนเพิ่มรับกับการเดินรถไฟทางคู่

“ส่วนที่ดินแปลงใหญ่ เช่น มักกะสัน สถานีแม่น้ำ ย่าน กม.11 จะตั้งบริษัทลูกมาดำเนินการ รวมถึงจะให้องค์การเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือไจก้ามาช่วยออกแบบการพัฒนาให้ด้วย เพราะก่อนที่จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP จะต้องมีการดีไซน์การพัฒนาก่อน ไม่ใช่ปล่อยให้เอกชนทำทั้งหมด”

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า ทำงานที่รถไฟมา 33 ปี จะเกษียณวันที่ 30 ก.ย.2563 อยากจะเห็นองค์กรปรับเปลี่ยนให้ทันกับสถานการณ์โลก เนื่องจากมีความเปลี่ยนแปลงที่ ร.ฟ.ท.ต้องเผชิญ 1.โครงสร้างพื้นฐานเปลี่ยน มีรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า 2.คู่แข่งเปลี่ยน จากรถทัวร์ เป็นโลคอสต์ และรถตู้ที่เป็นคู่แข่งสำคัญ 3.เศรษฐกิจเปลี่ยน 4.เทคโนโลยีเปลี่ยน จากเดินรถด้วยระบบดีเซลเป็นระบบรถไฟฟ้า และไฮบริด ซึ่งกำลังเร่งผลักดันโครงการเดินรถไฟให้เห็นเป็นรูปธรรมในปี 2563-2564 5.ผู้โดยสารเปลี่ยน เพราะมีทางเลือกในการเดินทางมากขึ้น จะต้องคิดกลยุทธ์การตลาดให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ทั้งนี้ทุกความเปลี่ยนแปลงมีทั้งภัยคุกคามและโอกาส

“ฐานะการเงินรถไฟในปี 2562 มีรายได้ 9,760 ล้านบาท รายจ่าย 17,199 ล้านบาท ขาดทุนสะสม 141,986 ล้านบาท ถ้าไม่ทำอะไรเลยในปี 2566 จะมีรายได้ 10,601 ล้านบาท รายจ่าย 19,481 ล้านบาท ขาดทุนสะสมจะพุ่งขึ้นเป็น 199,279 ล้านบาท“ นายวรวุฒิกล่าวและว่า

“ถ้ารถไฟไม่เปลี่ยนอะไรเลย จะอ่อนแอ ล้าสมัยโดยอัตโนมัติ ถูกโอนให้คนอื่นเข้ามาบริหารแทน ตกงานไม่มีเงินเดือนจ่าย เราต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง เพื่อให้ทั้งตนเองและองค์กรอยู่รอดและยั่งยืน การลงทุนยังไงรถไฟก็ยังอยู่ แต่คนไม่อยู่ เมื่อโอกาสมาถึงแล้ว ก็ต้องเปิดใจรับ ถ้าไม่เปลี่ยนตอนนี้ ไม่รู้จะเปลี่ยนตอนไหน ซึ่ง 68 ปีที่ผ่านมา สร้างทางรถไฟไม่ถึง 1,000 กม. ถ้าร่วมมือกัน คงไม่ไกลเกินฝันถ้าจะก้าวสู่อนาคตใหม่ไปด้วยกัน”