ติดหนึบ! ขยายถ.กัลปพฤกษ์คืบ58% “ศักดิ์สยาม”สั่งแก้คอขวดสาทร-เพิ่มรถเมล์ฟีดเดอร์ป้อนรถไฟฟ้า

วันที่ 10 ส.ค.62 เวลา 14.00 น. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างขยายถนนกัลปพฤกษ์ ช่วงกาญจนาภิเษก-ถนนราชพฤกษ์ ระยะทาง 7.602 กม.ของกรมทางหลวงชนบท (ทช.)

นายกฤชเทพ สิมลี อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่าถนนกัลปพฤกษ์มี 4 ช่องจราจร (ไป-กลับ) มีจุดเริ่มต้นที่ถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนตะวันตก) ไปสิ้นสุดที่ถนนราชพฤกษ์บริเวณสวนเลียบ แม้ว่าที่ผ่านมากรมได้ดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามทางแยกถนนสุขาภิบาล 1 และถนนกำนันแม้นแล้วเสร็จ สามารถแก้ไขปัญหาจราจรได้ในระดับหนึ่ง

แต่เนื่องจากมีการขยายตัวของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้ในช่วงเวลาเร่งด่วนมีการจราจรหนาแน่น โดยเฉพาะบริเวณทางแยกต่างระดับสวนเลียบ (ถนนกัลปพฤกษ์ตัดกับถนนราชพฤกษ์) จึงมีความจำเป็นต้องขยายถนนกัลปพฤกษ์จาก 4 ช่องจราจร เป็น 6 ช่องจราจร (ไป-กลับ) ในพื้นที่เขตทางเดิม เป็นผิวจราจรแบบแอสฟัลต์คอนกรีต พร้อมก่อสร้างระบบระบายน้ำ ทางเดินเท้า ปรับปรุงคอสะพานตลอดเส้นทาง ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง และเครื่องหมายจราจรที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

ปัจจุบันโครงการมีผลงานความก้าวหน้ากว่า 58% ยังล่าช้าจากแผน 4.2% คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ช่วงเดือน ธ.ค. 2562 ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 476 ล้านบาท เมื่อก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์จะสอดรับกับนโยบายนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพโครงข่ายถนนกัลปพฤกษ์

โดยเฉพาะการกระจายปริมาณจราจรออกเมืองในชั่วโมงเร่งด่วน เพิ่มอายุการใช้งานของถนน ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังรองรับการเติบโตของเมืองในอนาคต ส่งเสริมเศรษฐกิจและสนับสนุนการเดินทางที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงตากสิน – บางหว้า เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบาย ปลอดภัย ประหยัด ยกระดับคุณภาพชีวิต แก้ปัญหาภาระค่าครองชีพ ลดภาระค่าใช้จ่าย

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมทางหลวงชนบทเร่งรัดการดำเนินงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผน ยิ่งเสร็จเร็วยิ่งดีและสรุปรายงานความก้าวหน้าให้รับทราบทุกสัปดาห์ ตลอดจนให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร

พร้อมทั้งให้ดูแลเรื่องการจัดการจราจรระหว่างการก่อสร้าง แม้ว่าการก่อสร้างจะสามารถดำเนินการได้ในช่วงเวลากลางคืนเท่านั้น เช่นเปิดเลนพิเศษช่วง เนื่องจากในช่วงเช้าและช่วงเย็นจะเป็นช่วงเวลาเร่งด่วน รวมถึงได้กำชับในเรื่องความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้างอย่างเคร่งครัด ทั้งการวางแนวแบริเออร์ ป้ายจราจร ติดตั้งไฟกระพริบ และไฟฟ้าแสงสว่างในพื้นที่เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของประชาชนให้ได้มากที่สุด

“ปัญหามีคอขวดบริเวณสาทร ก็ให้ดูว่าจะขยายช่องจราจรเพิ่มหรือมีเส้นทางเลี่ยงให้ประชาชนได้เส้นทางไหนได้บ้างเหมือนถนนพระราม 2 และให้เพิ่มรถเมล์ ขสมก.เพื่อเป็นฟีดเดอร์ให้รถไฟฟ้า” นายศักดิ์สยามกล่าว