งัดสารพัดมาตรการสู้ฝุ่นจิ๋ว ผุดตึกกรองอากาศ-ฉีดพ่นไอน้ำ

กำลังจะกลายเป็น “ปรากฏการณ์ประจำปี” ของประเทศไทยไปโดยปริยายปัญหา “ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน” หรือ PM 2.5

หลังปัญหาเพิ่งคลี่คลายเมื่อต้นปียังไม่ทันจะครบปี หมอกควันก็รีเทิร์นมาหาเมืองกรุงอีกครั้งช่วง ก.ย.ที่ผ่านมา

จากปัญหา “บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด่วนจี๋แก้ปัญหาและนำเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดเป็นมาตรการออกมา

โดยถอดบทเรียนการแก้ปัญหาปี 2560-2561 แบ่งเป็น 3 มาตรการ 1.เพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ควบคุมมลพิษในพื้นที่วิกฤตใน 9 จังหวัดภาคเหนือ กรุงเทพฯและปริมณฑล ภาคใต้ตอนล่าง หน้าพระลาน จ.สระบุรี และพื้นที่สุ่มเสี่ยงมีการเผาในที่โล่ง

2.ป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทางในระยะสั้นปี 2562-2564 เช่น คุมมลพิษจากยานพาหนะ ส่งเสริมให้นำน้ำมันเชื้อเพลิงมีกำมะถันไม่เกิน 10 PPM และยูโร 5 ในปี 2564 คุมรถที่ใช้แล้วในต่างประเทศเข้ามาใช้ในประเทศ ห้ามนำเข้าเครื่องยนต์เก่า ในระยะยาว ปี 2565-2567 เช่น บังคับใช้รถใหม่ยูโร 6 ในปี 2565 ส่งเสริมใช้รถยนต์ไฟฟ้า และการบริการขนส่งสาธารณะ ปรับปรุงการเก็บภาษีรถยนต์ประจำปี เป็นต้น

และ 3.การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ ระยะสั้น ปี 2562-2564 และระยะยาว ปี 2565-2567 ส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาระบบ เครื่องมือ กลไกการบริหารจัดการ

กทม.ผุดหอกรองอากาศ

ล่าสุดมีหลายหน่วยงานออกมาตรการรับมือฝุ่นละออง ในส่วนของกรุงเทพมหานคร (กทม.) กำชับทุกเขตติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ใกล้ชิด อำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้เกิดความคล่องตัว ให้ฉีดพ่นละอองน้ำดักจับฝุ่น และขอความร่วมมือลดใช้รถยนต์ส่วนตัวใช้ระบบขนส่งมวลชน

นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้ทดลองติดตั้ง “หอกรองอากาศ” จุดแรกที่ลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ หากมีประสิทธิภาพจะของบฯกลาง
จัดซื้อและทยอยติดตั้งเพิ่ม 14 จุดตามสถานีรถไฟฟ้า BTS เช่น หมอชิต ช่องนนทรี อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ให้ครบปีนี้

“การทดลองที่เซ็นทรัลเวิลด์ได้รับความร่วมมือจากบริษัท มาสเตอร์คูลและ ม.เกษตรฯ ซึ่งเครื่องนี้ทำงานอัตโนมัติและกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 0.1 ไมครอนได้ สามารถระบายอากาศได้ 17,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร โดยเครื่องจะทำงานทันทีเมื่อวัดค่า PM 2.5 ได้ 40 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร มีจอแสดง
ผลแบบ LED”

รฟม.เข้ม ไซต์รถไฟฟ้า

ขณะที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สั่งผู้รับเหมาก่อสร้างงานโยธารถไฟฟ้า 3 โครงการ ได้แก่ สายสีส้มศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี, สายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง และสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ดำเนินการตาม 7 มาตรการ อาทิ ปล่อยละอองน้ำระบบ high pressure กำจัดฝุ่นละอองในพื้นที่ก่อสร้าง , เพิ่มความถี่ทำความสะอาดพื้นที่ก่อสร้างและถนนสาธารณะ ด้วยรถกวาดดูดฝุ่นและฉีดล้างถนน, คืนพื้นผิวจราจร ให้ปิดช่องจราจรก่อสร้างที่จำเป็น เป็นต้น

ทางหลวงเปิดไอน้ำสู้ฝุ่น

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ได้กำหนดมาตรการแก้ปัญหาไว้แล้ว ระยะเร่งด่วนที่ค่า PM 2.5 เกินมาตรฐาน ให้เปิดระบบปล่อยฝอยละอองน้ำแรงดันสูงด่านเข้าออกมอเตอร์เวย์และทางหลวง 8 จุด ช่วง 18.00-23.00 น. หรือช่วงที่จราจรหนาแน่น อาทิ ด่านทับช้าง 1-2 ด่านลาดกระบัง สะพานลอยหน้า ม.เกษตรศาสตร์ สะพานลอยหน้า ปตท.เป็นต้น จะขยายเพิ่ม 7 จุด บริเวณที่มีรถบรรทุกผ่านเป็นจำนวนมาก อาทิ ด่านบางปะกง จะติดตั้งเสร็จ ต.ค.นี้ จะประสานการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จัดโปรโมชั่นให้ผู้ใช้ทางหันมาใช้ M-PASS และ Easy Pass มากขึ้น

ทช.ติดระบบละอองน้ำ

ด้านกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ติดตั้งระบบปล่อยฝอยละอองน้ำบนสะพานข้ามทาง 5 แห่งใน กทม.-ปริมณฑลแล้ว ได้แก่ สะพานพระพุทธยอดฟ้า สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า สะพานพระราม 7 สะพานภูมิพล และถนนราชพฤกษ์ กม.15+050 และขอความร่วมมือผู้รับเหมาดำเนินการตาม 11 มาตรการ อาทิ ไม่ให้เกิดฝุ่นละอองขณะขนย้ายวัสดุ, คุมความเร็วของรถขนย้ายวัสดุ เป็นต้น

กวดขันควันดำรถ

กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้ออกมาตรการ 7 ข้อ อาทิ กวดขันตรวจวัดควันดำรถทุกชนิด กวดขันจับกุมรถบรรทุกและรถโดยสารเขต กทม.และถนนสายหลักและสายรองที่เข้าสู่ กทม. หากพบควันดำจะเปรียบเทียบ
ปรับทันที 5,000 บาท และพ่นห้ามใช้ ทั้งนี้ผลการดำเนินงานตรวจวัดควันดำทั่วประเทศ ตั้งแต่ ต.ค. 2561-ก.ย. 2562 จากเรียกตรวจ 122,370 คัน พบเกินมาตรฐาน 3,520 คัน

มาตรการทั้งหมดไม่ได้มีอะไรใหม่ หากทำเป็นประจำ ไม่ทำแค่เฉพาะหน้า เวลาที่ถูกจี้จากฝ่ายนโยบาย ปัญหาต่าง ๆ น่าจะคลี่คลายได้ไม่มากก็น้อย