จากไฮเวย์คุมน่านฟ้าภูธร “ทวี เกศิสำอาง” เร่งล้างท่องบ-ลุยลงทุนใหม่

สัมภาษณ์พิเศษ

กลายเป็นอธิบดีป้ายแดงแบบเหนือความคาดหมาย สำหรับ “ทวี เกศิสำอาง” จากรองอธิบดีกรมทางหลวง ดูงานด้านบริหาร ข้ามห้วยไปรั้งเก้าอี้ใหญ่แห่งกรมท่าอากาศยาน ปาดหน้า 3 ลูกหม้อที่จ่อมานาน ได้แต่มองตาปริบ ๆ

ปัจจุบัน “ทวี” อายุ 58 ปี มีคิวเกษียณในปี 2564 ดีกรีวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปริญญาโทวิศวกรรมโยธา สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) มีเพื่อนร่วมรุ่นที่เป็นผู้บริหารระดับสูงหลายคน ทั้งส่วนราชการและบริษัทเอกชนเลื่องชื่อ

เริ่มรับราชการในปี 2526 ที่กรมทางหลวง กองวางแผน ตำแหน่งวิศวกรโยธา จากนั้นเติบโตตามสายงานทั้งนายช่างแขวงขอนแก่น ผู้อำนวยการแขวงชัยภูมิ รองผู้อำนวยการแขวงนครราชสีมา เพชรบูรณ์ และใน 2559 ขึ้นรองอธิบดีฝ่ายบริหาร และได้รับคัดเลือกเป็นอธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา

“ทวี” เปิดใจกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การที่ตัดสินใจลงสมัครคัดเลือก เพราะโดยส่วนตัวก็มีความรู้งานทางอากาศอยู่บ้าง และงานกรมท่าอากาศยานในสเต็ปต่อไป จะเป็นเรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินภูมิภาคที่ดูแล 29 แห่ง ก็ใช้ประสบการณ์จากกรมทางหลวงที่ผ่านมาไปบริหารจัดการได้

Advertisment

“ตอนนี้เร่งสางงานเก่าที่กรมทางหลวงให้เสร็จก่อน คือ การปิดดีลเจรจางานระบบเก็บค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี ให้จบในเดือน ธ.ค.นี้ เพราะเป็นคนเริ่มเจรจามาแต่แรก ตอนนี้มีเคลียร์เรื่องค่าเวนคืนจบแล้วของบางใหญ่ จะเริ่มงานก่อสร้างไปพร้อม ๆ กับงานติดตั้งระบบ ต้นปีหน้าจะเซ็นสัญญาและเริ่มงานได้ใน 6 เดือน คาดว่าช่วงบางใหญ่-กาญจนบุรีจะออกหนังสือให้เริ่มงานเป็นช่วง ๆ ตามความพร้อมของพื้นที่”

ขณะเดียวกันได้เริ่มเข้าไปศึกษางานของกรมท่าอากาศยานบ้างแล้ว หลังจาก ครม.มีมติอนุมัติ อย่างแรกที่จะต้องเร่งดำเนินการ คือ การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2562 ที่ยังล่าช้าอยู่ รวมถึงเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มาใช้บริการสนามบินทั้ง 28 แห่ง ให้สะดวกและรวดเร็วในช่วงปีใหม่นี้

“ให้จัดทำแผนโครงการเก่าและโครงการใหม่ มาเพื่อลำดับความสำคัญ เช่น งานเก่าที่ทำสัญญาก่อสร้างอยู่ติดปัญหาอะไร จะเร่งให้เร็วขึ้น ส่วนงานใหม่ก็ต้องเตรียมพร้อม หลังที่กรรมาธิการผ่านวาระ 2 แล้ว จะต้องเตรียมออกประกาศทีโออาร์เปิดประมูล เช่น ออกแบบเสร็จหรือยัง”

งานโครงการใหม่ คาดว่ากรมจะได้งบประมาณ 6,000 ล้านบาท เช่น ขยายสนามบินกระบี่ บุรีรัมย์ ลำปาง สุราษฎร์ธานี นราธิวาส หัวหิน เป็นต้น

Advertisment

ในส่วนของสนามบินนครปฐม ยังอยู่ในขั้นตอนศึกษารูปแบบการลงทุน ว่าแบบไหนถึงจะคุ้ม เช่น รูปแบบ PPP จะให้เอกชนรับสัมปทานหรือจ้างบริหาร จะใช้เวลาอีกพักใหญ่

อีกเรื่องที่ต้องผลักดัน คือ การนำเงินจากกองทุนหมุนเวียนของกรมในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 1,500 ล้านบาท ปรับปรุงพัฒนาสนามบินเพื่อให้เกิดความคล่องตัว เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ได้ประชุมพิจารณาการดำเนินงานของเงินทุนหมุนเวียนกรม ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การเดินอากาศ 2562 ให้ไว้ ณ วันที่ 24 พ.ค. 2562 มาตรา 35 ระบุว่า เงินทุนหมุนเวียนสามารถใช้จ่ายปรับปรุงและพัฒนาด้านความปลอดภัย และจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสาร รวมถึงสนับสนุนกิจการอื่นในการบริหารจัดการท่าอากาศยาน เช่นซ่อมลิฟต์ บันไดเลื่อน สายพานลำเลียง ที่มีข้อขัดข้องไม่สามารถตั้งงบฯไว้ล่วงหน้าได้ รายได้ที่เข้าสู่กองทุนจึงเป็นกลไกจัดการแก้ไขปัญหาได้