ปิดมหากาพย์สัมปทานทางด่วน “BEM” ยอมทุกเงื่อนไข ชงครม.เคาะปลายม.ค.นี้

สิ้นสุดมหากาพย์ข้อพิพาททางด่วนกว่า 5.8 หมื่นล้าน หลังใช้เวลาเจราจากว่า 1ปี บอร์ดกทพ.เผย BEM ยอมรับทุกเงื่อนไข แลกยืดสัมปทาน 15 ปี 8 เดือน ตัดDouble Deck แพ็กรวมแผนแก้จราจรทางด่วนสนองไอเดีย”เสี่ยโอ๋” จ่อเสนอกรรมการม.43-อัยการฯคู่ขนาน จบพร้อมเสนอครม.สิ้นม.ค.นี้

นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งระเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า การเจรจาแนวทางยุติข้อพิพาททางด่วนจำนวน 17 คดี รวมวงเงินข้อพิพาทรวม 58,873 ล้านบาท แลกกับการต่อสัญญาสัมปทานทางด่วนออกไปเป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน กับบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)
ในวันนี้(6 ม.ค.) ได้ข้อยุติแล้ว โดยการประชุมบอร์ดวาระพิเศษ ได้เชิญ BEM เข้ามาร่วมประชุมด้วย หลังหารือกันกว่า 4 ชม.สุดท้าย BEM ก็พร้อมรับข้อเสนอทั้งหมดตามที่คณะทำงานของกระทรวงคมนาคม มีนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานได้พิจารณาอนุมัติ

รับทุกข้อ-ตัด Double Deck

โดยในการเจรจาครั้งนี้ มีเงื่อนไขเฉพาะการระงับข้อพิพาทที่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีเป็นจำนวน 17 คดี ทั้งหมดเป็นข้อพิพาทในกรณีทางแข่งขันและการปรับขึ้นค่าผ่านทางเท่านั้น ไม่ได้นำเงื่อนไขการก่อสร้างโครงการทางด่วนชั้นที่ 2 ช่วงประประชาชื่น-พระราม 9 (Double Deck) ระยะทาง 17 กม. วงเงินลงทุนประมาณ 30,000 ล้านบาทเข้ามาร่วมหารือแต่อย่างใด

จะขยายสัญญาสัมปทานให้ BEM จำนวน 3 โครงการ จะหมดพร้อมกันในวันที่ 31 ต.ค.2578 ได้แก่ 1.สัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน A B และ C จะต่อระยะเวลา 15 ปี 8 เดือนเป็นหลักจากเดิมจะสิ้นสุดวันที่ 29 ก.พ.2563

2.ขยายสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D เป็นระยะเวลา 8 ปี 6 เดือน จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 22 เม.ย.2570 และ 3.ขยายสัญญาทางด่วนบางปะอิน – ปากเกร็ดเป็นระยะเวลา 9 ปี 1 เดือน จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 27 ก.ย.2569

ส่วนเงื่อนไขอื่นๆ เช่น การยกเว้นค่าผ่านทางช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์ตามประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรีตลอดอายุสัญญาสัมปทาน BEM ยืนยันว่ารับข้อเสนอดังกล่าวทั้งหมด และทาง BEM ไม่ได้มีเงื่อนไขเพิ่มเติมใดๆ

ได้สิทธิ์ต่อสัญญาเป็นรายแรก

กรณีหากสัมปทานหมดอายุ BEM จะได้รับสิทธิ์ต่อสัญญาสัมปทานได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปีนั้น ในสัญญาที่ปรับแก้ ข้อที่ 21 ก็ให้สิทธิ์ BEM อยู่แล้ว แต่ว่าต้องมาเจรจาเงื่อนไขในข้อตกลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยจะเริ่มเจรจาในช่วง 1 ปี 4 เดือนสุดท้ายก่อนสัมปทานจะหมดอายุ ไม่ใช่การต่ออายุแบบอัตโนมัติแต่อย่างใด

“บอร์ดไม่ได้ยกเลิกการก่อสร้าง Double Deck ไปเลย เพียงแต่ว่าจะนำไปรวมกับการแก้ไขปัญหาจราจรบนทางด่วนทั้งระบบตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ซึ่งไม่ได้มีแค่ช่วงประชาชื่น – อโศกที่ต้องทำ Double Deck แต่ช่วงจากสะพานพระราม 9 – ท่าเรือคลองเตย ก็มีความเหมาะสมที่ต้องทำเช่นกัน ซึ่ง กทพ. จะต้องนำไปศึกษารวมกับการแก้ปัญหาจราจรต่อไป “

ชงครม.สิ้นม.ค.นี้

หลังจากนี้ จะนำสรุปข้อมูลทั้งหมดส่งให้คณะกรรมการกำกับดูแลตามมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการ 2556 (พ.ร.บ.ร่วมทุน 2556) ที่มีนายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)เป็นประธาน คาดว่าจะเสนอได้ภายในสัปดาห์นี้ เพื่อพิจารณาก่อนส่งกลับที่กระทรวงคมนาคม ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป

และอีกทางหนึ่งจะนำเสนอร่างสัญญาที่มีการปรับแก้สัญญาโดยตัดโครงการ Double Deck ออก เสนอให้สำนักงานอัยกรสูงสุดตรวจร่าง เมื่ออัยการฯตรวจร่างแล้วเสร็จก็คาดว่าจะมาบรรจบกับข้อมูลที่คณะกรรมการมาตรา 43 พิจารณาเสร็จพอดี พร้อมเสนอครม.ได้ประมาณสิ้นเดือนม.ค.นี้

คุยสตง.ยกค่าโง่ 4.3 พันล้าน

ส่วนคดีข้อพิพาททางแข่งขัน ดอนเมืองโทลล์เวย์ส่วนต่อขยาย ช่วงอนุสรณ์สถาน-รังสิต กับทางด่วนอุดรรัถยา (บางปะอิน – ปากเกร็ด) ที่ กทพ.ต้องจ่ายค่าชดเชยรวมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเป็นจำนวนเงิน 4,318 ล้านบาทนั้น ก็ได้รับการยกเว้นตามเงื่อนไขเช่นกัน แต่ขณะนี้อยู่ในกระบวนการทางบัญชี ซึ่งจะต้องนำเรื่องนี้หารือกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่าจะทำอย่างไรต่อไป

ขณะที่สัมปทานที่กำลังจะหมดอายุในวันที่ 29 ก.พ.นี้คือโครงการทางด่วนเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) ช่วงดินแดง – ท่าเรือ , บางนา – ท่าเรือ และท่าเรือ – ดาวคะนอง ระยะทางรวม 27.1 กม.และ โครงการทางพิเศษศรีรัช (ระบบทางด่วนขั้นที่ 2) 3 ส่วน ได้แก่ ส่วน A ช่วงถ.พระราม 9 – ถ.รัชดาภิเษก ระยะทาง 12.4 กม. ส่วน B ช่วงรัชดาภิเษก – บางโคล่ ระยะทาง 9.4 กม. และส่วน C ช่วงถ.รัชดาภิเษก – ถ.แจ้งวัฒนะ ระยะทาง 8 กม. หากการดำเนินการต่ออายุสัญญาทำไม่ทัน ก็อาจจะใช้วิธีจ้างบริหารผู้รับสัมปทานรายเดิมไปก่อน

นายสุรงค์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ภายในสัปดาห์นี้ จะนัดสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่ง ประเทศไทย (สร.กทพ.) มาทำความเข้าใจถึงประเด็นนี้ โดยยืนยันว่า ในฐานะกรรมการได้ทำหน้าที่ครบถ้วนทั้ง 2 หน้าที่คือสนองนโยบายจากกระทรวง และดูแลผลประโยชน์ขององค์กรให้ดีที่สุด ซึ่งตนและกรรมการท่านอื่นได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว