10 ปียังไม่สาย “อุโมงค์แยกไฟฉาย” กทม.ปัดฝุ่นไซต์เร่งสร้างให้เสร็จปี’64

คอลัมน์ เวนคืนอัพเดต

หลังโครงการก่อสร้าง “อุโมงค์ทางลอดถนนจรัญสนิทวงศ์กับถนนพรานนก” หรือแยกไฟฉาย หลีกทางให้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายบางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค เพื่อให้ “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” เดินหน้าลุยการก่อสร้างสถานีแยกไฟฉาย

ล่าสุด “กทม.-กรุงเทพมหานคร” ได้รับพื้นที่คืนจาก รฟม.แล้ว และในเดือน มี.ค. 2563 จะได้ฤกษ์ปัดฝุ่นโครงการก่อสร้างอุโมงค์แยกไฟฉายขึ้นมาใหม่ หลังหยุดสร้างไปเมื่อปี 2557 แต่ถ้ารวมนับจากวันเริ่มต้นสัญญาในปี 2552 เท่ากับโครงการนี้ใช้เวลาก่อสร้างร่วม 10 ปีแล้ว

มีบริษัท กำแพงเพชรวิวัฒน์ก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ก่อสร้าง ด้วยวงเงิน 788 ล้านบาท สัญญารันเมื่อเดือน ต.ค. 2552 จากนั้นก็มีการต่อสัญญามาหลายครั้ง จากปัญหาของโครงการที่ทำให้งานก่อสร้างล่าช้า มีทั้งเรื่องแบบก่อสร้าง จนมาลงตัวที่ก่อสร้างเป็นทางลอดขนาด 3 ช่องจราจร ความยาว 827 เมตร และความยาวทั้งโครงการ 1.25 กม. ขณะเดียวกันมีจุดทับซ้อนกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จึงทำให้โครงการนี้ลุ่ม ๆ ดอน ๆ มาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

มี.ค.ลุยต่อให้เสร็จ

นายไทวุฒิ ขันแก้ว รักษาการผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายในเดือน มี.ค.นี้ กทม.จะเปิดหน้างานก่อสร้างโครงการอุโมงค์ทางลอดแยกไฟฉายอีกครั้ง หลังจากหยุดไปนานหลายปี เพราะทาง รฟม.ขอใช้พื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ขณะนี้ กทม.ได้พื้นที่คืนแล้ว จากนี้จะเดินหน้าโครงการต่อ ซึ่งปัจจุบันสร้างคืบหน้าแล้ว 67% คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างอีกประมาณ 1 ปี จะแล้วเสร็จภายในต้นปี 2564 เมื่อเปิดใช้จะช่วยลดการติดขัดการจราจรบริเวณทางแยกไฟฉาย

“ค่าก่อสร้างก็ยังยืนราคาเดิม แต่ว่าได้ขยายเวลาให้ผู้รับเหมาจนกว่างานจะเสร็จ เพราะ รฟม.ขอ กทม.ชะลอโครงการไว้ก่อน เพราะเป็นจุดทับซ้อนกัน”

หลัง กทม.มีไทม์ไลน์ชัดเจนแล้ว ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ลงพื้นที่สำรวจบริเวณแยกไฟฉาย พบว่า บริเวณตึกแถวที่อยู่สองข้างทางที่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินพาดผ่าน ปิดร้างอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนบรรยากาศค้าขายที่ตลาดนครหลวงก็ค่อนข้างเงียบเหงา

พ่อค้า-แม่ค้าครวญหนัก

สอบถามกับ “คุณมิตร” (นามสมมุติ) ผู้ประกอบการร้านขายยาย่านนั้น ให้ความเห็นว่า การค้าย่านแยกไฟฉายซบเซามานานหลายปีแล้ว นับจากเริ่มปิดการจรจรการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดแยกไฟฉาย ทำให้พื้นที่จอดรถริมถนนเพื่อซื้อของไม่สามารถทำได้อีกต่อไป เพราะถนนเหลือเพียง 2 เลนแคบ ๆ ร้านค้าแถวนี้จึงไม่สามารถอยู่ต่อได้ ทยอยเลิกเช่าไปเรื่อย ๆ

“รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายที่เพิ่งเปิดใหม่ ก็ไม่ได้ช่วยให้การค้าแถวนี้ดีขึ้น เพราะตัวสถานีอยู่ไกลจากตึกแถวสองข้างทางพอสมควร การจับจ่ายใช้สอยจึงเกิดขึ้นเฉพาะบริเวณสถานี ไม่ได้แผ่ขยายมาถึงย่านการค้าเหล่านี้แต่อย่างใด”

สอดคล้อง “คุณหนุ่ย” (นามสมุมติ) เจ้าของร้านขายมอเตอร์ไซค์ที่ให้ความเห็นว่า ตั้งแต่มีการก่อสร้างอุโมงค์ลอดแยกไฟฉาย การค้าแถวนี้ก็เงียบเหงาลงไป อาจจะเป็นเพราะทำเลแถวนี้ไม่ค่อยดี เป็นแค่ทางผ่านของการเดินทางเท่านั้น ส่วนรถไฟฟ้าที่เปิดใหม่ก็ไม่ได้ทำให้การค้าขายย่านนี้ดีขึ้น และมองว่าปัจจัยจากการบริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพของรัฐบาลก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้การทำมาค้าขายแถวนี้ เงียบเหงาลงด้วย

“ทราบข่าวมาเหมือนกันว่า กทม.จะเดินหน้าก่อสร้างอุโมงค์แยกไฟฉายขึ้นมาอีกครั้ง มองว่าควรจะเร่งทำให้เสร็จตั้งนานแล้ว ที่ผ่านมาทิ้งร้างไปก็ทำให้การจราจรแถวนี้ติดขัดทั้งช่วงเช้าช่วงเย็น ขนาดวันเสาร์-อาทิตย์รถก็ติดทั้ง ๆ ที่มีปริมาณรถวิ่งน้อยกว่าวันธรรมดามาก และควรจะต้องเสร็จก่อนรถไฟฟ้าด้วย เพราะเมื่อรถไฟฟ้าเสร็จก่อนแต่อุโมงค์ยังไม่เสร็จ เวลาก่อสร้างที่ต้องใช้เครื่องขุดเจาะต่าง ๆ อาจส่งผลต่อรถไฟฟ้าก็ได้”

ด้าน “ป้าจิ๊ด” (นามสมุมติ) แม่ค้าขายผักบริเวณตลาดนครหลวง กล่าวว่า การค้าขายเงียบเหงามากและเป็นมานานแล้ว รถไฟฟ้าที่สร้างเสร็จก็ไม่ทำให้คนลงมาซื้อของที่ตลาด เพราะเขาก็มุ่งไปที่จุดหมายเป็นหลัก ไม่เหมือนรถเมล์ที่มีการต่อรถยังมีโอกาสแวะมาซื้อของได้ ส่วนหนึ่งก็อยากขอร้องรัฐบาลให้เร่งช่วยเหลือ เพราะตอนนี้หนักหนาสาหัสจริง ๆ