เขย่าสัมปทานรถเมล์ 269 สาย ทุนใหญ่ “สมาร์ทบัส” ชุบชีวิต “รถร่วม”

เมื่อแบกต้นทุนไม่ไหว ใครสายป่านไม่ยาวต้องยอมรับสภาพ ปิดกิจการไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ จึงไม่แปลกที่เริ่มเห็น “รถเมล์ร่วม” หยุดวิ่งบริการ

ล่าสุดเป็นคิวของสาย 127 (ตลาดบางบัวทอง-บางลำพู) และสาย 110 (พระราม 6-เทเวศร์) และสาย 38 (ม.รามคำแหง-ม.ราชภัฏจันทรเกษม) คาดว่าจะมีหยุดวิ่งอีก 27 สาย

ว่ากันว่าการที่รถร่วมที่หยุดวิ่ง มาจาก 2 สาเหตุ ทนพิษภาวะเศรษฐกิจไม่ไหว และรวมตัวไปอยู่ใต้ปีกเอกชนรายใหม่ ที่ “ขบ.-กรมการขนส่งทางบก” ผู้กุมใบอนุญาตไฟเขียวให้มาวิ่งบริการแทน

สั่งให้รถวิ่งตั้งแต่ 5 พ.ค.

ในกรณีสาย 127 และสาย 110 แหล่งข่าวจากกรมการขนส่งทางบกเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้แจ้ง บจ.สมาร์ทบัส ผู้รับสัมปทานเดินรถรายใหม่ จัดรถโดยสารวิ่งให้บริการประชาชนตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยสาย 127 ให้บริการไปกลับวันละ 30 เที่ยว และสาย 110 วิ่งบริการไปกลับวันละ 40 เที่ยว ตั้งแต่เวลา 06.00-21.00 น.

“ปัญหารถร่วมเอกชนทยอยหยุดวิ่งเพราะช่วงโควิด-19 รัฐออกมาตรการหลายอย่างที่ช่วยจำกัดการแพร่ระบาดของเชื้อ เช่น ให้ทำงานที่บ้าน เคอร์ฟิวช่วง 22.00-04.00 น. ทำให้ผู้ประกอบการรถร่วมขาดรายได้ จากผู้โดยสารที่ลดลงจนแบกต้นทุนไม่ไหว”

ขณะเดียวกัน กรมทยอยออกใบอนุญาตตามเส้นทางปฏิรูป 269 เส้นทาง ให้ผู้ประกอบการรายใหม่ด้วย ซึ่งมีเงื่อนไขให้จัดหารถเมล์และเริ่มเดินรถใน 180 วัน นับจากวันที่ได้รับใบอนุญาต และผู้ประกอบการรายเดิมจะต้องให้บริการไปพลางก่อนเป็นระยะเวลา 90 วัน ในระหว่างเปลี่ยนผ่าน จึงอาจจะทำให้ผู้ประกอบการรายเดิมไม่สามารถจัดหารถมาวิ่งให้บริการประชาชนได้

“อย่างสาย 127 เดิมวิ่งจากโรงเรียนวรราชาทินัดดามาตุวิทยา-บางลำพู แต่ในสายปฏิรูปใหม่จะเปลี่ยนชื่อสายเป็น “สาย 2-19″ วิ่งตลาดบางบัวทอง-บางลำพู มีสมาร์ทบัสเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2563 ใบอนุญาตมีอายุ 7 ปี จะหมดวันที่ 4 มี.ค. 2570 ต้องจัดหารถวิ่ง 20-34 คัน มีค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 7,000 บาท จะเก็บตอนออกใบอนุญาต แต่ช่วงนี้จะใช้เลขเดิม 127 ไปก่อน เพื่อป้องกันประชาชนสับสน”

“สมาร์ทบัส” กินรวบ 31 เส้นทาง

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ปัจจุบันเส้นทางปฏิรูปทั้ง 269 เส้นทาง ได้ออกใบอนุญาตไปแล้ว 2 เส้นทาง คือ สาย Y70E ขึ้นทางด่วนจาก มทร.รัตนโกสินทร์-ศาลายา-BTS หมอชิต และสาย R26E ขึ้นทางด่วนจากสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์-โรงพยาบาลรามาธิบดี

ขณะนี้มีเอกชนที่ขออนุญาตมา 54 เส้นทาง อนุมัติไปแล้ว 49 เส้นทาง จำนวนนี้เป็นของสมาร์ทบัส 31 เส้นทาง อีก 18 เส้นทางเป็นเอกชนรายอื่น ส่วน ขสมก.เดิมขอยื่นเข้ามา 107 เส้นทาง แต่มีปรับปรุงแผนฟื้นฟูใหม่ ทำให้ตัวเลขเส้นทางที่เคยขอไว้เปลี่ยนไป ยังไม่สรุปจำนวนเส้นทาง

บังคับรถใหม่วิ่ง 70% ใน 3 ปี

สำหรับหลักเกณฑ์ใบอนุญาตรถเมล์เอกชน เน้นการใช้รถเมล์ใหม่ ไม่เคยจดทะเบียน หรือจดไม่เกิน 2 ปี ใช้รถเก่าในสัดส่วน 30% แต่อายุรถต้องไม่เกิน 25 ปี รองรับผู้โดยสารใช้วีลแชร์ 20% และติด GPS ทุกคันเพื่อควบคุมกำกับเส้นทาง ในปีแรกจะต้องนำรถใหม่มาวิ่งบริการในสัดส่วน 30% ปีที่ 2 สัดส่วน 50% และปีที่ 3 สัดส่วน 70%

รื้อระบบเงินเดือนกระเป๋า

ส่วนพนักงานขับรถ-เก็บค่าโดยสาร-บริการอื่น ๆ จะรวมอยู่ในแผนการขอใบอนุญาตที่เอกชนแต่ละรายต้องทำเสนอกรมจะบริหารอย่างไร ซึ่งกรมกำหนดให้พนักงานขับรถมีรายได้เป็นเงินเดือนที่แน่นอน แทนการกำหนดรายได้จากเปอร์เซ็นหน้าตั๋วแบบเดิม

“เพื่อแก้ปัญหาเร่งทำรอบจนละเลยการให้บริการที่ดี มีตัวอย่างให้เห็น คือ สาย 8 วิ่งแฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ จะปรากฏเป็นข่าวเชิงลบบ่อยครั้ง หลังออกใบอนุญาตแล้วจะจัดเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบ”

ขณะที่ระบบชำระเงินจะต้องเตรียมการรองรับระบบชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่ผู้ประกอบการเอกชนส่วนใหญ่เป็นรายย่อย ไม่มีเงินพัฒนาระบบ กรมก็ไม่ได้บังคับ สามารถใช้พนักงานเก็บค่าโดยสารก่อนได้

ทำให้ความหวังไปอยู่ที่การพัฒนาระบบตั๋วร่วม ที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำลังพัฒนาอยู่ และถ้าหากทั้ง 2 หน่วยงานสามารถพัฒนาได้สำเร็จ และต้นทุนต่ำกว่าการจ้างแรงงาน ก็เชื่อว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะเข้าร่วมด้วยแน่นอน แต่ถ้าผลออกมาค่าใช้จ่ายสูงกว่าก็คงไม่มีใครใช้ เพราะลำพังค่าโดยสารรถเมล์ก็ถูกมากแล้ว หากเสียค่าใช้จ่ายด้านบริการมากขึ้นอีก ผู้ประกอบการจะเอากำไรมาจากไหน ส่วนการขอรัฐบาลอุดหนุน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่มีความเห็น

“สมาร์ทบัส” เซ้งรถร่วม

นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ก่อนที่ ครม.จะมีมติปรับบทบาทให้ ขสมก.เป็นเพียงผู้ประกอบการเดินรถ และให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นผู้กำกับดูแลเส้นทางรถเมล์ต่าง ๆ แทนนั้น ขสมก.มีเส้นทางรถเมล์ร่วมของเอกชนที่ต้องดูแล 95 เส้นทาง โดยเส้นทางทั้งหมดจะทยอยหมดอายุ และโอนให้ ขบ.เป็นผู้ดูแลตามกฎหมายภายในสิ้นปีนี้

จากข้อมูลแล้ว ปัจจุบันมีเส้นทางที่หมดอายุและได้โอนให้ ขบ.ดูแลแล้ว 50 เส้นทาง เหลืออีก 45 เส้นทางจะทยอยหมดอายุสิ้นปีนี้ ซึ่งทั้ง 45 เส้นทางที่ยังไม่หมดอายุ มีความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการเดินรถสายต่าง ๆ ทยอยโอนไปให้ผู้ประกอบการรายใหม่ คือ บจ.สมาร์ทบัส เพราะส่วนใหญ่แบกภาระต้นทุนไม่ไหว ทยอยโอนให้สมาร์ทบัสแล้ว 30 เส้นทาง เหลืออีก 15 เส้นทางที่ผู้ประกอบการรายเดิมกำลังพิจารณาว่าจะโอนให้สมาร์ทบัส หรือจะรอให้หมดอายุแล้วไปขอใบอนุญาตกับ ขบ.เอง ไม่เกี่ยวกับ ขสมก.

ทนแบกต้นทุนไม่ไหว

ขณะที่ นางภัทราวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง หรือรถร่วมบริการ ขสมก. เปิดเผยว่า การที่ผู้ประกอบการเอกชนส่วนใหญ่โอนสายรถเมล์่ให้สมาร์ทบัส เพราะธุรกิจรถเมล์มีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากเอกชนหลายรายพบว่า รถเมล์ 1 คัน มีต้นทุน 6,000 บาท/วัน รายได้หลักมาจากค่าโดยสารซึ่งถูกมาก รถร้อน 10 บาท รถแอร์ 15-25 บาท

“ทำให้รถเมล์หลายสายนิยมทำรอบวิ่งให้ได้มาก ๆ อย่างน้อย 5 รอบ ไป-กลับรวม 10 รอบ ให้คุ้มค่าใช้จ่าย แม้จะทำรอบได้ แต่ยังไม่พอ ประกอบกับบางเส้นทางมีรถประเภทอื่น เช่น สองแถวและรถกระป๊อวิ่งร่วมด้วย ทำให้รายได้จากค่าโดยสารยิ่งน้อยลงไปอีก”

นางภัทราวดีกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ผู้ประกอบการเอกชนยังมีต้นทุนในการปรับปรุงบริการอื่น เช่น ซื้อรถใหม่ ส่วนใหญ่ล้วนต้องการรถแอร์มาให้บริการ แต่รถ 1 คันราคาประมาณ 3-5 ล้านบาท การตัดสินใจจึงยากมาก และเมื่อมีบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ซึ่งมีเงินทุนอย่างสมาร์ทบัสเข้ามาในวงจรธุรกิจ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงเลือกโอนให้ดีกว่า ซึ่งไม่ใช่เป็นการกินรวบตลาดรถเมล์ไทย แต่เพราะมีสายป่านยาวกว่าภายใต้สถานการณ์ที่อยู่ยากของรถร่วมเอกชน

เผยโฉมทุน "สมาร์ทบัส"

เป็นความเคลื่อนไหวที่แวดวงรถเมล์ไทยให้ความสนใจไม่น้อย เมื่อจู่ ๆ ปรากฏชื่อ “บริษัท สมาร์ทบัส จำกัด” เป็นเอกชนรายใหญ่เดินรถ 61 เส้นทาง แข่งกับ ขสมก.

จากการรับโอน 30 สายรถเมล์จากผู้ประกอบการรายเดิมที่ทุนน้อย-ใกล้ถอดใจ และทยอยยื่นขอใบอนุญาตเดินรถเมล์สายปฏิรูป 169 เส้นทาง กับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) อย่างต่อเนื่อง ถึงปัจจุบันคว้าไลเซนส์ถึง 30 เส้นทาง จาก 54 เส้นทาง

“สมาร์ทบัส” เป็นม้ามืดมาจากไหน จากข้อมูลพบว่า จดทะเบียนเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2561 เป็นประเภทธุรกิจการขนส่งผู้โดยสารประจำทางอื่น ๆ มีทุนจดทะเบียนปัจจุบันอยู่ที่ 370 ล้านบาท และมีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 42,110 บาท

สำหรับโฉมหน้ากรรมการบริษัท ปรากฏ 4 รายชื่อ ประกอบด้วย 1.นางศุภรานันท์ ตันวิรัช อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.มาสเตอร์แอด (MACO) มี บมจ.วี จี ไอ ในเครือบีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้ง ของเจ้าสัวคีรี กาญจนพาสน์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

2.นายอนพัทย์ ทวีวิไลศิริกุล เคยทำงานที่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) 3.นายธเนษฐ โลจนะโกสินทร์ เป็นกรรมการใน บมจ.แพลน บี มีเดีย (PLANB) ประกอบธุรกิจสื่อโฆษณาเช่นเดียวกับ MACO และมี บมจ.วี จี ไอ ของบีทีเอส กรุ๊ป เข้ามาถือหุ้นใหญ่เช่นเดียวกัน

และ 4.นางสาวอินทิรา ช่วยสนิท ผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.เน็กซ์ พอยท์ (NEX) ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับรถบัส

ส่วนผู้ถือหุ้นมี “บจ.เกคโค่โฮลดิ้ง” ถือหุ้น 64.32%

นางศุภรานันท์ ตันวิรัช 25.67% นางสาวอินทิรา ช่วยสนิท 9.99% และนายอนพัทย์ ทวีวิไลศิริกุล 0.0002%

ปัจจุบัน “สมาร์ทบัส” เดินรถ 8 เส้นทาง มาพร้อมบริการชำระค่าโดยสารด้วย “บัตรแรบบิท” ใช้ร่วมกับรถไฟฟ้าบีทีเอส-รถบีอาร์ที เช่น สาย 104 ปากเกร็ด-หมอชิต, สาย 150 ปากเกร็ด-บางกะปิ, สาย 51 ปากเกร็ด-ม.เกษตรศาสตร์ และสาย 52 ปากเกร็ด-บางซื่อ เป็นต้น

ทุกเส้นทางล้วนเป็น “ฟีดเดอร์” เชื่อมกับรถไฟฟ้าบีทีเอส และสายอนาคตสายสีชมพูและสายสีเหลือง