โควิดฉุดเศรษฐกิจภาคเหนือ Q2 ทรุดหนัก ว่างงาน 5 หมื่นคน

“โควิด” ฉุดเศรษฐกิจภาคเหนือ Q2 ทรุดหนัก ท่องเที่ยวสูญ 4 หมื่นล้าน-ว่างงาน 5 หมื่นคน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือ ไตรมาส 2 ปี 2563 โดยระบุถึงประเด็นสำคัญของเศรษฐกิจภาคเหนือทั้งระบบที่หดตัวสูงและรุนแรงทุกภาคการผลิต โดยเฉพาะปัจจัยที่ส่งผลกระทบมากที่สุดคือ การระบาดของ COVID-19 และภัยแล้ง ซึ่งคาดว่าทั้ง 2 ปัจจัยจะยังคงเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจให้ชะลอตัวลง และหดตัวอย่างต่อเนื่องในระยะต่อไป

นายโอรส เพชรเจริญ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ เปิดเผยว่า โควิด-19 (COVID-19) นับปัจจัยที่กดดันภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือไตรมาส 2 ปี 2563 อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งกล่าวได้ว่าส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทุกภาคการผลิต โดยภาคเศรษฐกิจสำคัญอยู่ในสภาวะหดตัวมาก ทั้งการบริโภคภาคเอกชน ภาคการท่องเที่ยว รายได้เกษตรกร การลงทุนภาคเอกชน ผลผลิตอุตสาหกรรม เป็นต้น ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนหดตัวในทุกหมวดสำคัญ ลดลง 24.3% ดัชนีสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงมาก มีกำลังซื้อที่อ่อนแรง ขณะที่สินค้าหมวดยานยนต์ลดลง 27.8%

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการท่องเที่ยวหดตัวมากและถือเป็นภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติหดตัวมากจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้หลายประเทศจำกัดการเดินทางทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งผู้โดยสารผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง ณ ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ลดลง 100% ในไตรมาส 2 โดยจากการประเมินรายได้การท่องเที่ยวของภาคเหนือหายไปกว่า 40,000 ล้านบาท ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจการท่องเที่ยว มีสัดส่วนรายได้ถึง 20% ของ GPP

นายโอรส เพชรเจริญ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ
นายโอรส เพชรเจริญ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

นอกจากนี้ ภาวะแรงงานก็มีผลกระทบมากเช่นกัน ตลาดแรงงานเปราะบางยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เพชรบูรณ์ แพร่ น่าน พะเยา อุตรดิตถ์ และแม่ฮ่องสอน ที่มีจำนวนผู้ขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมเพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 2 มีจำนวนถึง 51,000 คน ซึ่งถือเป็นเครื่องชี้ภาวะตลาดแรงงานได้ค่อนข้างชัดเจน

ขณะเดียวกัน ทางธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ยังได้ลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับตลาดแรงงานโดยตรงในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน พบว่าโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งใช้มาตรการลดโอที และให้แรงงานหยุดการทำงานชั่วคราวจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งมีแรงงานจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว

ขณะที่รายได้เกษตรกรก็ถือเป็นอีกภาคเศรษฐกิจหนึ่งที่สำคัญของภาคเหนือ ซึ่งพบว่ารายได้เกษตรกรหดตัว จากผลผลิตสำคัญที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ผลผลิตสินค้าเกษตรลดลง 25.7% โดยเฉพาะข้าวนาปรังเสียหายค่อนข้างมาก ลดลง 42.7%

นายโอรสกล่าวต่อว่า ปัจจัยที่มีผลต่อเศรษฐกิจภาคเหนือในระยะต่อไป โดยเฉพาะการระบาดของ COVID-19 ที่อาจรุนแรงขึ้นในบางประเทศหรือกลับมาระบาดระลอกใหม่ ซึ่งอาจทำให้หลายประเทศกลับมาดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดอีกครั้ง รวมถึงหนี้ครัวเรือนก็ยังเป็นปัจจัยเสี่ยง เนื่องจากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ยังอยู่ในระดับสูง โดยเป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคถึง 41.5% และปัจจัยการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่อาจกลับมารุนแรงขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวยังเป็นแรงส่งสำคัญ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจในระยะต่อไป